“ซูเปอร์โพล” ชี้ “การเมืองเป็นเหยื่อรัฐราชการ” การเมืองจะถูกทัวร์ลงก่อน แต่ขรก.-จนท.รัฐจะหลบในพื้นที่ “เซฟโซน” เพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ตลด แม้ในประเทศอยู่ในช่วงวิกฤต จึงไม่เคยปฏิรูปราชการสำเร็จเลย ต้องใช้อำนาจภาคประชาสังคมขับเคลื่อนเท่านั้น
เมื่อวันที่ 13 ก.พ.64 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล (SUPER POLL) สถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง การเมืองเป็นเหยื่อรัฐราชการ กรณีศึกษาประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ โดยดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) จำนวน 1,526 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 9-12 ก.พ.64 ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 95.8 ระบุสาเหตุที่ต้องปฏิรูปราชการ คือการทุจริตคอรัปชั่น รองลงมาหรือร้อยละ 93.8 ระบุการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ ร้อยละ 93.4 ระบุความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม ร้อยละ 93.2 ระบุไม่ช่วยเหลือ ไม่ดูแลประชาชน ร้อยละ 92.8 ระบุปล่อยปละละเลย ไม่ทำหน้าที่ ร้อยละ 92.3 ระบุขาดความรับผิดชอบ ไม่มีวินัย และร้อยละ 91.7 ระบุขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน
ที่น่าพิจารณาคือ อะไรมีผลต่อการปฏิรูปราชการมากที่สุด ผลสำรวจพบว่า ร้อยละ 22.3 ระบุกลไกของสภา-ฝ่ายนิติบัญญัติ รองลงมาคือ ร้อยละ 21.5 ระบุนโยบายของรัฐบาล ร้อยละ 18.2 ระบุหน่วยงานราชการ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ ร้อยละ 16.3 ระบุการมีส่วนร่วมของประชาชน และร้อยละ 15.6 ระบุสื่อมวลชน
ที่น่าสนใจคือ กลุ่มตัวอย่างที่ระบุความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมกับปัจจัยต่อการปฏิรูปราชการ ร้อยละ 38.0 ระบุนโยบายรัฐบาลขาดความจริงจังต่อเนื่อง รองลงมาคือร้อยละ 36.4 ระบุกลไกสภา-ฝ่ายนิติบัญญัติ ขาดประสิทธิภาพ ร้อยละ 34.3 ระบุหน่วยงานราชการ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลง ร้อยละ 27.8 ระบุประชาชนไม่มีส่วนร่วมที่แท้จริง และร้อยละ 23.6 ระบุสื่อมวลชนไม่เกาะติด
ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า “การเมืองเป็นเหยื่อรัฐราชการ” ในหัวข้อผลสำรวจครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า การเรียกร้องให้ปฏิรูปราชการไม่เคยประสบความสำเร็จแท้จริง ไม่ว่าใครมีอำนาจพิเศษมากเพียงไร ก็ไม่เคยปฏิรูปราชการสำเร็จ ตรงกันข้ามเมื่อเข้าสู่อำนาจ ก็ต้องไปใช้ระบบรัฐราชการทำงานขับเคลื่อนประเทศโดยไปเน้นที่อำนาจรัฐ (State Power) ทั้ง ๆ ที่ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศให้สำเร็จได้ตามเป้าหมาย ต้องเป็น “อำนาจแห่งชาติ” (National Power) ที่ต้องใช้พลังขับเคลื่อนจากอำนาจภาคประชาสังคม (Non-State Power)
ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวต่อว่า ทุกภาคส่วนเห็นความเด่นชัดมาตลอดว่า ผู้นำประเทศและกลุ่มนักการเมืองเมื่อเข้าสู่อำนาจ ล้วนตกเป็นเหยื่อรัฐราชการ โดยเฉพาะประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศต่างผิดหวัง เพราะแม้แต่ผู้นำประเทศยังตกเป็นเหยื่อของระบบรัฐราชการในทุกครั้งที่เกิดวิกฤตชาติ ฝ่ายการเมืองจะถูก “ทัวร์ลง” เป็นอันดับแรก ในขณะที่บรรดาข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐจำนวนหนึ่งสามารถหลบอยู่ในมุมที่ปลอดภัย (Safety Zone) เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ต่อไปได้แม้ห้วงเวลาที่ชาติและประชาชนประสบวิกฤตโควิด วิกฤตเศรษฐกิจ ดังนั้นจะรอช้าไปเพื่ออะไร ถึงปฏิรูปราชการไม่สำเร็จ ล้มเหลวในการปฏิรูปมาตลอด ต้องถาม “เดอะพาวเวอร์” “The Power” ของประเทศดู