“วิษณุ” แจงปม “ทักษิณ” ต้องรับโทษ ชี้คดีไหนถึงที่สุดแล้วต้องเข้าคุกเลย ยันควบคุมตัวนอกเรือนจำเป็นแค่นโยบาย
วันที่ 9 พ.ค.2566 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมครม.ถึงกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทวิตข้อความขออนุญาตกลับประเทศไทยในเดือน ก.ค. และพร้อมจะเข้าสู่กระบวนการตามกฎหมายนั้น จะต้องกลับมารับโทษตามกฎหมายหรือไม่ ว่า เท่าที่ตนจำได้ คดีของนายทักษิณมีอยู่ 3 ประเภท คือ 1.คดีที่ศาลตัดสินแล้ว และนายทักษิณไม่ได้มารับโทษ 2.คดีที่ศาลยังไม่ได้ตัดสิน 3.คดีที่ศาลตัดสินแล้วว่านายทักษิณไม่มีความผิด ดังนั้นต้องดูว่า คดีของนายทักษิณเข้าข่ายประเภทใด แล้วต้องดำเนินการไปตามคดีประเภทนั้นๆ
เมื่อถามว่าคดีที่ศาลตัดสินให้จำคุกแล้ว นายทักษิณสามารถยื่นขอประกันตัวได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ก็ต้องติดคุก จะไปยื่นขอประกันตัวไม่ได้ จึงต้องรับโทษอย่างเดียว เหมือนกับที่ไปฟังคำพิพากษาและศาลตัดสิน พอศาลตัดสินก็ไม่ต้องประกันแล้ว เพราะถือว่าคดีถึงที่สุด จากนั้นต้องเข้าสู่การควบคุมตัวของทางราชการ อย่างที่รมว.ยุติธรรมคนที่แล้ว เคยให้ข่าวว่ามีแนวคิดที่ให้ควบคุมตัวนักโทษที่ไหนก็ได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นที่เรือนจำ โดยประกาศให้เสมือนเป็นเรือนจำ ซึ่งเรื่องนี้เป็นแค่นโยบาย ยังไม่มีการดำเนินการอะไร ผู้ต้องโทษจึงต้องเข้าสู่สถานควบคุมของทางราชการ ควบคุมตัวที่บ้านไม่ได้
เมื่อถามว่าเมื่อนายทักษิณกลับเข้าประเทศแล้ว จะมีกระบวนการทางกฎหมายใดที่เอื้อต่อนายทักษิณหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่รู้ มาถามอะไรที่ตน ขอให้ไปถามทนายความของนายทักษิณ
เมื่อถามว่าหลักเกณฑ์ของกระทรวงยุติธรรมระบุไว้ว่าหากจะมีการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ ต้องรับโทษ 1 ใน 3 ก่อน นายวิษณุ กล่าวว่า มีอยู่ 2 อย่าง คือ 1.การขอพระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องราชทัณฑ์หรือผู้ต้องโทษเป็นรายบุคคล ซึ่งสามารถยื่นขอได้ตั้งแต่วันแรก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพระราชอำนาจ และความประสงค์ของผู้ยื่นขอ ส่วนจะได้หรือไม่นั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง 2.การขอพระราชทานอภัยโทษโดยการออกเป็นพระราชกฤษฎีกา ซึ่งจะต้องมีการรับโทษก่อน แล้วจะต้องรับโทษมาไม่น้อยกว่า 8 ปีหรือเป็นจำนวน 1 ใน 3 ถ้าในกรณีการขอพระราชทานอภัยโทษเป็นส่วนตัว