“กกต.” จับมือพันธมิตรเฝ้าระวังการโจมตีทางไซเบอร์ระบบการเลือกตั้ง ขอปชช.มั่นใจ เดินหน้าสร้างพื้นที่ประชาธิปไตยที่เป็นธรรม ร่อนหนังสือ “ผอ.เขตเลือกตั้งทั่วไทย” เข้มงวดการติดป้ายประกาศ พร้อมจับตาอย่าให้คนทำลายหวังสร้างดิสเครดิสการเลือกตั้ง
เมื่อวันที่ 9 พ.ค.66 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. กล่าวในการแถลงข่าวความร่วมมือการเฝ้าระวังระบบการเลือกตั้งว่า กกต.ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและตอบสนองภัยคุกคามทางไซเบอร์สำหรับระบบเลือกตั้ง โดยได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการเฝ้าระวังและแก้ปัญหาการคุกคามทางไซเบอร์ เพื่อเฝ้าระวังป้องกันความเสี่ยง และรักษาความมั่นคงปลอดภัยทั้งไซเบอร์ ป้องกันการโจมตีกับระบบที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง กกต. เช่น แอพพลิเคชั่น “smart vote” แอพฯ “ตาสับปะรด” เว็บไซต์สำนักงานกกต. และเว็บฯกกต.จังหวัด ฐานข้อมูลสมาชิกพรรคการเมืองให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยติดตามตลอด 24 ชั่วโมง จนถึงวันเลือกตั้ง ในวันที่ 14 พ.ค.นี้
นายแสวง กล่าวว่า อยากให้ประชาชนมั่นใจในการเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค.ที่จะถึงนี้ ย้ำว่าหน้าที่ของกกต.คือการธำรงค์ไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งเครื่องมือสำคัญคือการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ ยุติธรรม เป็นที่ยอมรับ และประชาชนเป็นเจ้าของการเลือกตั้ง ดังนั้นกกต.จึงตั้งความหวังเอาไว้สูงเกี่ยวกับการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่ว่าสังคมจะรู้สึกหรือมองเราอย่างไร แต่สิ่งที่เราตั้งใจทำ คือการให้มีสนามแข่งขันที่เป็นธรรมในการเลือกตั้ง มีความเสมอภาคทุกพรรคการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน รายการที่ต้องเป็นไปด้วยความโปร่งใส นี่คือเป้าหมายที่เราอยากให้เกิดขึ้น
ส่วนการเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา ยอมรับว่ามีข้อผิดพลาด ทางสำนักงานได้รีบดำเนินการแก้ไข เพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีกในวันที่ 14 พ.ค. โดยได้ส่งหนังสือแจ้งทุกจังหวัดให้ซักซ้อมกับกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) ในการทำงานให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย อำนวยความสะดวกกับประชาชน ดูแลการปิดประกาศให้ครบถ้วน ชัดเจน และดูแลรักษาอย่าให้ใครมาทำลาย และนำมาเป็นประเด็น ทำให้เกิดความสับสนว่า กกต.ดูแลไม่ดี หรือทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ ตลอดจนการนับคะแนน การรายงานผล ผอ.ต้องติดตามใกล้ชิด ให้คำแนะนำให้ปฏิบัติและดูแลผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งได้อย่างถูกต้อง หากเกินกำลัง ให้ส่งมายังกกต.ส่วนกลางซึ่งมีการตั้งคลินิกกปน.รองรับในวันนี้
“กกต.ยืนยันว่าจะรักษาคะแนนเสียง ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่ได้ใช้สิทธิเลือกตั้งไปแล้วเมื่อวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา หรือที่จะลงในวันที่ 14 พ.ค.ที่กำลังจะมาถึงนี้ ไม่ว่าท่านลงให้ใคร ให้พรรคไหน คะแนนนั้นก็จะได้กับคนนั้น ผมหวังว่าสถานการณ์ไปจนถึงวันเลือกตั้งน่าจะเป็นไปด้วยดี เราต้องรักษาสนามประชาธิปไตยไว้” นายแสวงกล่าว
เมื่อถามว่า มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการกำหนดให้ค่าใช้จ่ายของผู้สังเกตการณ์พรรคการเมือง เป็นของพรรคการเมืองต้องรับผิดชอบ นายแสวง กล่าวว่า เราต้องการส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วม กกต.ก็อยากเชิญชวนให้ทุกคนมาตรวจสอบการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นองค์กรหรือภาคประชาชนต่างๆ แต่ในส่วนของพรรคการเมืองนั้น มีกฎหมายให้พรรคการเมืองส่งผู้สังเกตการณ์ได้ตามมาตรา 55 โดยพรรคการเมืองที่ประสงค์ส่งผู้สังเกตการณ์ให้แจ้งต่อ กกต. 15 วัน ก่อนจะมีการเลือกตั้ง ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจะเป็นของพรรคการเมือง หากพรรคการเมืองใช้วงเงิน 44 ล้านบาทหมดไปแล้ว ก็อาจจะอาศัยช่องทางผู้สมัครแบ่งเขตของพรรคการเมืองนั้น ส่งผู้สังเกตการณ์มาดูแลแทน ซึ่งแตกต่างกัน โดยผู้สังเกตการณ์กรณีที่แจ้งกกต.มานั้น จะจัดที่นั่งไว้ให้ด้านใน แต่กรณีที่ส่งมาเองก็จะอยู่ด้านนอก แต่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน
ทั้งนี้กรณีทักท้วงว่ามีกฎหมายพรรคการเมือง ระบุว่า กกต.เคยออกค่าใช้จ่ายให้นั้น เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ปี 2541 มาตรา 14 ซึ่งกำหนดให้พรรคการเมืองส่งผู้แทนร่วมเป็น กปน.ได้ แต่กฎหมายนั้นยกเลิกไปแล้ว ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 ดังนั้นยืนยันว่า สิ่งที่กกต.ทำนั้นเป็นไปตามกฎหมาย แต่ทุกคนก็สามารถมีช่องทางสังเกตการณ์ได้ตามปกติ
เมื่อถามว่า การเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค.นี้ หากเกิดความผิดพลาดขึ้นอีก จะคาดโทษใครหรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นวันที่ 7 พ.ค. หรือวันที่ 14 พ.ค. ได้ให้ “ผอ.ทุกจังหวัด” รายงานทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกหน่วย ซึ่งจะมีบันทึกเหตุการณ์เอาไว้อยู่แล้ว ตั้งแต่ 8:00 น จนถึงการนับคะแนน เช่น หากขานคะแนนผิด แล้วมีข้อทักท้วง ก็จะต้องบันทึกเหตุการณ์เอาไว้ หรือกรณีนายชูวิทย์ ระบุนั้นตนได้ส่งเรื่องไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 8 พ.ค. เพื่อให้มีการตรวจสอบเหตุการณ์ ดังนั้นนอกจากการบันทึกเหตุการณ์ที่หน่วยแล้ว ให้ตรวจสอบกรณีเหตุการณ์ทีเป็นข่าวด้วยว่าจริงหรือไม่ แก้ไขอย่างไร
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ยิงแสงเลเซอร์หาเสียงบริเวณเสาหลักกลางของสะพานพระราม 8 นายแสวง กล่าวว่า ตอนนี้ได้ฟังจากข่าว เพราะเป็นเรื่องของเจ้าของพื้นที่ ซึ่งทุกการหาเสียงนั้น ป้ายติดอยู่ในพื้นที่ของรัฐทั้งนั้น ทั้งตามถนน เสาไฟฟ้า สามารถทำได้แต่ต้องขออนุญาต ส่วนกรณีพรรครวมไทยสร้างชาตินั้น เมื่อดูแล้วเป็นการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ตามข้อ 7(7) เป็นการหาเสียงกึ่งอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งการหาเสียงลักษณะดังกล่าว เราได้มีหนังสือแจ้งไปยังทุกพรรคการเมืองแล้วว่า ไม่อยู่ภายในการบังคับเลือกตั้ง แต่ขอให้เจ้าของสถานที่เป็นผู้อนุญาต ซึ่งเรื่องนี้ที่ทาง กทม.ได้ตรวจสอบแล้ว กรณีมีคนร้องให้ “กกต.กทม.” วินิจฉัย ก็ต้องวินิจฉัย แต่จะให้ตนวินิจฉัยตอนนี้ คงยังไม่ได้ เพราะยังไม่ทราบข้อเท็จจริง มีแต่เพียงการฟังมา ว่าอะไรเป็นอะไรเท่านั้น
ส่วนกรณีพรรคก้าวไกลเรียกร้องให้กกต. เปิดเผยข้อมูลผู้มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้า จำแนกเป็นรายเขต เพื่อให้พรรคการเมืองต่างๆ สามารถตรวจสอบย้อนกลับ ได้ รวมถึงให้จัดทำข้อมูลหน่วยเลือกตั้งทั่วประเทศเป็นไฟล์ Excel นั้น นายแสวง กล่าวว่า ขอรับไว้พิจารณา.