“โรม”มั่นใจ แก้ม.112 ไม่เป็นอุปสรรคพรรคร่วมรัฐบาล ยืนยันว่าพรรคยังมีจุดยืนเดิม นำเข้าหารือในสภาฯ อย่าทำให้แท้งตั้งแต่แรก
เมื่อเวลา 12.15 น. วันที่ 17 พ.ค. ที่พรรคก้าวไกล นายรังสิมันต์ โรม โฆษกพรรคก้าวไกล และว่าที่ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลให้สัมภาษณ์ถึงการจัดตั้งรัฐบาล ว่า ขณะนี้เรากำลังพยายามทำอยู่ ซึ่งกระบวนการที่ทำอยู่ขณะนี้ คือการปิดสวิตซ์มาตรา 272 ที่เปิดให้การจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปตามกลไกปกติ และย้ำว่าการมีเสียงเกิน 250 เสียงในสภาถือว่าเพียงพอแล้ว เมื่อพรรคก้าวไกลรวมเสียงจากพรรคต่างๆ ได้ 310 เสียงแล้ว ก็จะเป็นรัฐบาลที่แข็งแรงมากและสามารถผลักดันนโยบายต่างๆ ได้ การจัดตั้งรัฐบาลในรอบนี้เป็นหน้าที่ ที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน ซึ่งส.ว.เป็นหนึ่งในนั้น ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี รวมถึงบางพรรคที่จะเป็นฝ่ายค้านด้วย ถ้ามีการผลักดันให้มีการปิดสวิตซ์มาตรา 272 ได้จริงประเทศจะเดินหน้าได้และไม่เกิดความขัดแย้ง โดยผลการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมาสะท้อนชัดแล้วว่าพรรคใดได้อันดับหนึ่งหรืออันดับสอง ถ้าเคารพกติกาซึ่งสอดคล้องกับเจตจำนงของประชาชน ทุกอย่างก็จบ
มื่อถามว่า ส.ว.ระบุให้พรรคก้าวไกลรวมเสียงให้เกิน 376 เสียง นายรังสิมันต์ กล่าวว่า การปิดสวิตซ์มาตรา 272 คือความพยานามตั้งแต่ช่วงการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เป็นการปิดสวิตซ์ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ แต่ในความเป็นจริงต่อให้มาตรา 272 ไม่ถูกปิด อีกไม่นานก็จะถูกปิด พรรคก้าวไกลที่เป็นพรรคอับดับหนึ่งต้องเป็นฝ่ายจัดตั้งรัฐบาล ทุกฝ่ายมีหน้าที่ต้องผลักดันให้เกิดกระบวนการเช่นนั้น การที่ส.ว.บอกว่าให้ไปรวมเสียงเกินกึ่งหนึ่งของทั้งสองสภาฯ อาจจะสร้างความรู้สึกว่า คือการไม่เคารพเสียงประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิเลือก การโหวตเลือกนายพิธา เป็นนายกฯ ตนเข้าใจว่ามีความไม่ชอบกันอยู่ แต่นี่คือการปลดล็อกกฎหมายที่เป็นความต้องการของประชาชน จึงอย่าสร้างเงื่อนไขที่ทำให้เกิดการไม่ฟังเสียงของประชาชน
เมื่อถามว่า การโน้มน้าวพรรคอื่นให้โหวตนายพิธาเป็นนายกฯ ถือว่าใกล้ความจริงแล้วหรือไม่ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า เราต้องคุยทุกฝ่าย เพราะที่ผ่านมามีส.ส.จำนวนหนึ่งที่โหวตปิดสวิตซ์มาตรา 272 และเราอยากให้ทุกคนมาช่วยการคืนความปกติในครั้งนี้ด้วย เพราะการจัดตั้งรัฐบาล กับการเลือกนายกฯ ตามมาตรา 272 เป็นคนละส่วนกัน
เมื่อถามว่าพรรคก้าวไกลได้ส่งตัวแทนเจรจากับส.ว.หรือไม่ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า เรามีการประชุม กก.บห. และมีการส่งคีย์แมนไปหารือ และยกหูพูดคุย เพื่อสร้างความเข้าใจว่าเราจะผลักดันประเทศเราไปในทิศทางใด โดยตนเข้าใจว่าส.ว.จะประชุมกันด้วย นายพิธา ยืนยันว่า ไม่ได้ต้องการเป็นรัฐบาลของคนที่มาเลือกเราเท่านั้น แต่ต้องการเป็นรัฐบาลของคนทุกคน แม้คนนั้นจะไม่เห็นด้วยกับเราก็ตาม
เมื่อถามถึงกรณีนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธาน กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ วุฒิสภา ตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบนายพิธา และพรรคก้าวไกล หลายประเด็น เช่น การถือหุ้นสื่อ และนโยบายแก้ไขมาตรา 112 นั้น นายรังสิมันต์ กล่าวว่า พรรคก้าวไกลยินดีที่จะถูกตรวจสอบ แต่เราไม่อยากให้การตรวจสอบมีจุดมุ่งหมายที่ต้องการทำลายกันทางการเมืองมาเป็นธงนำ แต่ควรนำหลักฐานและข้อเท็จจริงมาเป็นธงนำ ทั้งนี้หากใช้กมธ. ก็ต้องระมัดระวังเรื่องการใช้เบี้ยประชุม และทรัพยากรของรัฐ ที่อาจจะถูกมองว่าใช้กลไกสภาฯ มาสกัดพรรคก้าวไกลเป็นรัฐบาล ถ้าทำแบบนี้ส.ว.จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ และจะเกิดแรงเสียดทาน ส่วนเรื่องการตรวจสอบการแก้ไขการมาตรา 112 นั้นควรจะเสนอให้ตรวจสอบตั้งนานแล้ว เพราะเราเสนอมาเป็นปี ดังนั้นการเสนอให้มาตรวจสอบจึงถูกมองเป็นเรื่องการเมือง ส่วนการถือหุ้นสื่อก็เป็นไปตามกระบวนการ และเมื่อเราเปิดทีวีวันนี้เราไม่เจอช่องไอทีวี เราจึงไม่กังวล เพราะเคยมีคำพิพากษาศาลฎีกามาแล้ว ก็เป็นบรรทัดฐานแล้วว่า การมีหุ้นของนายพิธา จะทำให้เกิดการครอบงำได้
เมื่อถามถึงกรณีที่ส.ว.เลือกปฏิบัติ ไม่โหวตให้นายพิธา เป็นนายกฯ ทั้งที่รวมเสียงได้ 250 เสียง นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ส.ว.อาจจะไม่คิดตั้งแต่ต้นว่าพรรคก้าวไกลจะรวมเสียงได้เกิน 250 เสียง แต่ตนคิดว่าเวลาพูดอะไรก็อยากให้มองในหลักการ และตนเชื่อว่าตอนส.ว.พูดก็คงพูดตามหลักการ แต่พอเจอหน้านายพิธา และพรรคก้าวไกล ก็อาจจะกังวล ทั้งที่สิ่งที่พรรคก้าวไกลต้องการทำคือการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ประเทศระยะยาว
เมื่อถามถึงการตั้งข้อสังเกตว่าจะเกิดเดดล็อกทางการเมือง จนนายพิธา ต้องถอยให้แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย ที่ถูกมองว่ามีความเป็นกลางทางการเมืองและคุยกับทุกฝ่ายได้ มาเป็นนายกฯ แทน นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ตนว่ายังอีกไกล ที่จะมองถึงขั้นนั้น เพราะสถานการณ์บ้านเมืองวันนี้ กับเมื่อ 4 ปีที่แล้วไม่เหมือนกัน เมื่อเสียงเราเกินกึ่งหนึ่งมาก และส.ว.จะต้องหมดอายุในปีหน้า คำถามคือจะยื้อได้ถึงเมื่อไหร่ และการทำให้พรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ ก็ไม่มีใครได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ ในท้ายที่สุดต้องมีความเปลี่ยนแปลง ตนเลยมองว่าอายุไขของส.ว. ที่เหลืออยู่ จะไม่ส่งผลให้พรรคก้าวไกล ไม่ได้เป็นรัฐบาล
นายรังสิมันต์ กล่าวว่า พรรคก้าวไกล อยากตั้งรัฐบาลที่ตั้งจากพรรคการเมืองที่เคยทำงานร่วมกันมา และการเริ่มเจรจาตั้งรัฐบาลไม่ได้คุยเรื่องการแบ่งกระทรวง แต่เราจะมาคุยกันว่าอยากจะทำให้ประเทศไปในทิศทางใด และจะทำนโยบายใดบ้าง เมื่อดูท่าทีจากพรรคต่างๆ พบว่าบรรยากาศดี และไม่มีข้อขัดแย้งที่จะทำให้ตั้งรัฐบาลไม่ได้ ส่วนการแก้ไขมาตรา 112 พบว่ามีบางมุมที่มองไม่ตรงกันบ้าง แต่ไม่ใช่ว่าคุยกันไม่ได้ จึงมองอย่างมีความหวังว่าจะนำไปสู่การแก้ปัญหา ดังนั้นมั่นใจว่าการเสนอแก้ไขมาตรา 112 ไม่น่าเป็นอุปสรรคในการจัดตั้งรัฐบาล และเรายังยืนยันในจุดยืนเดิมว่าต้องมาพูดคุยกันโดยใช้กลไกลสภา แต่อย่าทำให้แท้งตั้งแต่แรก