“โรม”ชี้ยุติดีลชาติพัฒนากล้าไม่ใช่คนกลุ่มเดียวตัดสินใจ โยนเลขาฯ ตอบปม“เพื่อไทย’ รื้อเนื้อหาเอ็มโอยูอื้อ ปัดยังไม่คิดถึงแบ่งกระทรวง
เมื่อวันที่ 20 พ.ค. นายรังสิมันต์ โรม โฆษกพรรคก้าวไกลให้สัมภาษณ์ถึงบรรยากาศ การจัดประชุม ส.ส.พรรคก้าวไกล ทั้งผู้ที่ได้รับเลือกตั้ง และไม่ได้รับเลือกตั้งรวม 500 คน ที่พัฒนากอล์ฟคลับ แอนด์ รีสอร์ท อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี วันที่ 2 ว่าวันนี้มีวิทยากร บรรยายหลายท่าน อาทิ นายเกษียร เตชะพีระ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายอธึกกิต แสวงสุข คอลัมนิสต์เจ้าของนามปากกาใบตองแห้ง พิธีกรวิเคราะห์ข่าววอยซ์ทีวี และน.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ฝ่ายนโยบาย เป็นต้น ส่วนหัวข้อที่พูดคุย เช่นเรื่องการถอดบทเรียนว่า การเมืองในเเบบก้าวไกล ช่วงที่เกิดขึ้นเป็นอย่างไร ช่วงการเมืองระยะเปลี่ยนผ่านเป็นอย่างไร มีการชวนคุยถึงการเมืองหลังการเลือกตั้งที่ผ่านมาสร้างปรากฏการณ์ความเปลี่ยนแปลงรวมไปถึง คุยกันเรื่องรัฐบาลก้าวไกล มีวาระสำคัญอย่างไรที่เราจะต้องดำเนินการทำไปด้วยกัน
เมื่อถามถึงบรรยากาศ เมื่อคืนวันที่ 19 พ.ค. ถกเถียงกันมากน้อยแค่ไหน ก่อนจะมีมติว่าไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคชาติพัฒนากล้าแล้ว และเถียงกันดุเดือดหรือไม่นานกี่ชั่วโมง กว่าจะมีมติดังกล่าว โฆษกพรรคก้าวไกล ตอบว่า เรื่องนี้เป็นแบบเดียวกับเนื้อหาสาระที่พรรคได้ออกแถลงการณ์ผ่านเฟซบุ๊กว่าสุดท้ายมันก็ผ่านกระบวนการหารือกันอยู่ คิดว่ามันจะเป็นกระบวนการหารือแบบธรรมชาติ แบบที่ก้าวไกลเป็น ตนไม่อยากคอมเม้นท์ ว่ามันเป็นการพูดคุยที่รุนแรงหรือไม่รุนแรงอย่างไร เนื้อหาสาระก็จะเป็นไปอย่างที่เราได้แถลงไปว่า เมื่อเราได้พูดคุยแล้วมันก็เป็นมติที่ทุกคนได้ทราบ
เมื่อถามว่า มติดังกล่าวเป็นมติที่ไม่ได้ออกมาจากคนกลุ่มๆ เดียวตัดสินใจใช่หรือไม่ นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ใช่
เมื่อถามถึงกรณีมีรายงานข่าวจากเพื่อไทยเตรียมตีกลับเอ็มโอยู ที่แก้ไขส่งให้ก้าวไกล โดยยังยืนหนุนนายพิธาลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี ส่วนรายละเอียดในร่างของพรรคก้าวไกล เช่น เรื่องความเสมอภาคของสิทธิมนุชนสมรสเท่าเทียมนั้น เพื่อไทยมองว่าสอดคล้องกัน แต่ตัดออกเพราะไม่ควรอยู่ในเอ็มโอยู นายรังสิมันต์ ตอบว่า คนที่จะตอบคำถามเรื่องนี้ได้ดี คือ เลขาธิการพรรคก้าวไกล ทีนี้มันก็เป็นเรื่องของคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง ต้องพิจารณาพูดคุย เจรจาต่อไป ทั้งนี้ตนยังไม่ได้เห็นตัวรายละเอียดที่ทางเพื่อไทยส่งมา จึงยังให้ความเห็นลำบาก ยังให้ความเห็นไม่ได้ตอนนี้อย่างไรก็ตาม ตรงนี้เรามีกระบวนการ เดี๋ยวคณะกรรมการ คงคุยกันซึ่งมันเป็นเรื่องปกติที่จะต้องมีการเห็นหรือไม่ตรงกันบ้างเพื่อปรับปรุง ถึงที่สุดเอ็มโออยู่ ก็เป็นเหมือนข้อตกลงร่วมว่าอะไรคือสิ่งที่เราจะทำร่วมกัน
เมื่อถามว่า มีรายงานจากข่าวจากเพื่อไทยว่าได้ประสานโควต้ารัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ กับเพื่อไทยหลายเก้าอี้ เช่นคลัง ศึกษา ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาดไทย ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จนพรรคเพื่อไทยกลืนไม่เข้าคายไม่ออก และเพื่อไทยไม่ยอมเก้าอี้ประมุขนิติบัญญัติด้วย นายรังสิมันต์ ตอบว่า ในมุมก้าวไกล เรานั้นยังไม่ได้พูดคุย หรือไปคิดเรื่องกระทรวงกระทรวงคิดถึงภารกิจร่วมกัน ว่า เราจะทำยังไงเพื่อทำให้ภารกิจของประเทศจะสามารถผลักดันไปข้างหน้าเป็นสิ่งที่ ก้าวไกลให้ความสำคัญมากที่สุด ในเรื่องตำแหน่งของประธานสภาฯ ก็เหมือนกับที่หลายหลายครั้ง พรรคก้าวไกลเราย้ำว่า ตามธรรมเนียมที่ผ่านพรรคการเมืองอันดับหนึ่งต้องครองตำแหน่งประธานสภาฯอยู่แล้ว มันจะต่างกันออกไปก็มีแค่ในยุคที่แล้วปี 2562 จริงๆ มันคงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ที่ตำแหน่งประธานสภาฯ พรรคที่ได้เสียงมากเป็นอันดับหนึ่ง จะต้องไปมีตำแหน่งนี้ เพื่อกำหนดวาระการประชุมสภาฯ ให้เกิดการผลักดันกฎหมายและนโยบายไปข้างหน้าตามแนวทางของนโยบาย ที่พรรคที่ชนะเป็นอันดับหนึ่งจะวางเอาไว้
เมื่อถามว่าย้ำว่า ก้าวไกลขอโควต้าเก้าอี้ไปกับเพื่อไทยตามที่เป็นข่าว จริงหรือไม่ นายรังสิมันต์ ตอบว่า เดี๋ยวคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้จะตอบคำถามได้ดีกว่าตน แต่เท่าที่ตนทราบ ยังไม่ได้มีการไปคิดถึงการเรื่องการแบ่งกระทรวง เป็นเรื่องที่เราจะต้องวางภารกิจก่อนเป็นเรื่องหลัก