“ชาญชัย” คู่เทียบกับ “พิธา” เปิดจุดตายคดีถือหุ้นไอทีวี ชี้ศาลรธน.เคยมีคำวินิจฉัยมาแล้ว หากถือหุ้นในกิจการที่ยังไม่แจ้งยกเลิก จะกี่หุ้นก็ถือว่าครอบครอง แตกต่างกับกรณีของตัวเอง ที่ถือหุ้นสื่อทางอ้อม ผ่านบริษัทลูกและมีหุ้นจำนวนน้อย ไม่ทำให้เกิดข้อได้เปรียบ-เสียเปรียบใดๆ
กรณีการถือครองหุ้นสื่อ ซึ่งมีการเทียบเคียงการถือครองหุ้นไอทีวี 42,000 หุ้นของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ที่ถูกยื่นคำร้องให้ตรวจสอบคุณสมบัติการลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส. กับนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีตผู้สมัครส.ส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ ที่ถือครองหุ้น AIS ที่ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง มีคำตัดสินให้ลงสมัครรับเลือกตั้งได้ เพราะเห็นว่า นายชาญชัยครอบครองเพียง 200 หุ้น ถือเป็นสัดส่วนที่น้อย ไม่มีอำนาจสั่งการบริษัท ซึ่งมีการคาดหมายกันว่า กรณีนี้อาจทำให้นายพิธาหลุดพ้นจากการถูกยื่นคำร้องให้ตรวจสอบคุณสมบัติ
ในเรื่องนี้ นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ กล่าวให้ความเห็นว่า ขณะนี้กำลังรวบรวมข้อมูลและประเด็นในคำพิพากษาของศาลฎีกาที่คืนสิทธิการลงสมัครรับเลือกตั้งของตนเมื่อวันที่ 2 พ.ค.66 เพื่อเตรียมแถลงข่าวกับสื่อมวลชน เพราะที่ผ่านมาพบว่า นับแต่เกิดกรณีหุ้นของนายพิธา หลายฝ่ายมีการนำคดีของตนเองไปอ้างถึงเยอะมาก แต่ไม่รู้รายละเอียดขั้นตอนและคำพิพากษาทั้งหมด
นายชาญชัย กล่าวอีกว่า กรณีคดีของตนกับของนายพิธา ข้อเท็จจริงมีความแตกต่างกัน เพราะที่ตนถือหุ้นเอไอเอส ตัวบริษัทไม่ได้ทำธุรกิจสื่อ แต่เอไอเอสบริษัทแม่ ไปลงทุนในบริษัทลูก คือ บริษัท เทเลอินโฟ มีเดีย จํากัด (มหาชน) และบริษัท เยลโล่ เพจเจส คอมเมอรส์ จํากัด ซึ่งทำเรื่องสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ที่ถือเป็นกิจการประเภทสื่อมวลชนใดๆ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) โดยบริษัทลูกดังกล่าวทำกิจการ เช่น คอลเซ็นเตอร์-หนังสือที่เป็นเอกสารทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นเอกสารเบอร์โทรศัพท์ต่างๆ ในเว็บไซด์ โดยมีโฆษณา เลยกลายเป็นว่า ตนถือหุ้นเอไอเอสที่ไม่ได้ทำสื่อโดยตรง แต่เป็นการไปถือหุ้นสื่อทางอ้อม ผ่านบริษัทลูก โดยศาลก็ได้มีคำวินิจฉัยว่า สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หมายถึงสื่อโซเชียลมีเดียด้วย เช่น Facebook TikTok ให้ถือว่าเป็นสื่อมวลชนอื่นใด
นายชาญชัย กล่าวต่อว่า คดีของตน ประเด็นสำคัญคือ ถือหุ้นทางอ้อมและถือจำนวนน้อย ศาลจึงมองเจตนาว่า ไม่ได้มีนัยยะที่จะไปสั่งการ หรือว่าจะไปทำให้เกิดการได้เปรียบ-เสียเปรียบ ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 มาตรา 42 (3) ว่าด้วยการเป็นเจ้าของสื่อ จากนั้นศาลก็มาวิเคราะห์ต่อว่า ที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 98(3) มีเจตนาคือไม่ต้องการให้เข้าไปก้าวก่าย หรือมีอิทธิพลในการให้ได้เปรียบ-เสียเปรียบ ศาลก็เห็นว่าจำนวนที่ถือหุ้นอยู่ ไม่ได้มีนัยยะสำคัญ หรือมีอำนาจสั่งการหรือครอบงำอะไรได้ ศาลจึงเห็นว่าตนมีสิทธิ์โดยชอบตามรัฐธรรมนูญในการเข้าลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
“สำหรับกรณีของนายพิธา ถือหุ้นสื่อมวลชน คือสื่อโทรทัศน์ เป็นการถือโดยตรง ไม่ใช่ถือโดยอ้อม แต่ของผมถือโดยอ้อม โดยกรณีของไอทีวี ก็พบว่ายังทำกิจการอยู่ ยังจดทะเบียนอยู่ ยังไม่ได้บอกเลิกกิจการกับกรมพัฒนาธุรกิจทางการค้า และปัจจุบันยังมีการฟ้องร้องเรื่องใบอนุญาตและผลประโยชน์ต่างๆ รวมกว่าสองพันล้านบาท ซึ่งตรงนี้เป็นปัญหาข้อเท็จจริงทางกฎหมาย กรณีของพิธา ความเป็นผู้ถือหุ้นมันชัดเจนแล้ว ไม่ว่าจะถือในนามมรดก หรือถือในนามตัวเอง แต่ถือว่าถือหุ้นแล้ว ซึ่งเขาถือ 42,000 หุ้น แต่ของผม 200 หุ้น และไม่ได้ถือโดยตรง ตรงนี้คือความเหมือนแต่แตกต่างระหว่างคดีของผมกับคำร้องของนายพิธา ที่หากเรื่องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ ก็ต้องดูว่าศาลจะตัดสินไปทางไหน”นายชาญชัย กล่าว
นายชาญชัย กล่าวว่า สำหรับกรณีของนายพิธา ยังมองว่า 50-50 คือหากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ส่งคำร้องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ ศาลสามารถวินิจฉัยได้แบบเดียวกับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หรือจะวินิจฉัยให้ออกมาแบบเดียวกับของตนก็ได้ อยู่ที่ว่าจะใช้หลักนิติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์ ถ้าพิจารณาตามหลักนิติศาสตร์ คือพิจารณาว่าพฤติกรรม และเหตุที่เกิดมันขัดต่อกฎหมายและขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ไม่เกี่ยวกับเจตนา เพราะเรื่องเจตนา คดีของตน ศาลฎีกามองว่าถือหุ้นเอไอเอสมีนัยยะสำคัญหรือไม่ ถ้าไปในทางเดียวกัน ต้องดูนัยยะว่า ที่ถือหุ้นแล้วสามารถไปสั่งการหรือไปขอให้ช่วยได้หรือไม่ ซึ่งศาลฎีกามองว่า ถือหุ้นเอไอเอสอยู่ นัยยะไม่สามารถไปสั่งการอะไรได้
“ก็ไปได้ทั้งสองทางยัง 50-50 อยู่ แต่เคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่เคยตัดสินไว้แล้ว ถ้าศาลรัฐธรรมนูญจะไปเปลี่ยน มันก็จะกลายเป็นปัญหา ส่วนกรณีว่าปัจจุบันไอทีวี ไม่ได้แพร่ภาพหรือทำอะไรแล้ว ตรงนี้ไม่เกี่ยว เพราะศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำวินิจฉัยไว้แล้วว่า แม้จะหยุด ไม่ได้ทำแล้ว แต่ไม่ได้ไปแจ้งยกเลิกการประกอบกิจการ ยังถือว่าทำได้อยู่ เพราะหากไม่ได้ยกเลิก จะทำอีกเมื่อไหร่ก็ได้ การไม่ได้แพร่ภาพแล้ว เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกัน แต่คุณไม่ทำเอง แล้วทางไอทีวี ก็มีการไปฟ้องคดีที่ศาลปกครอง ว่าตอนที่เข้ามาเซ็นสัญญา ไปประมูลมา ต้องเสียค่าสัมปทานแพงกว่าช่องอื่น แล้วต่อมาทำไป ก็จะขอให้รัฐลดค่าสัมปทานลง แล้วต่อมาก็เบี้ยว ไม่จ่ายเงิน ก็เลยกลายเป็นปัญหาถึงตอนนี้ ซึ่งลักษณะแบบนี้อยู่ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหลายคดี”นายชาญชัย ระบุ
นายชาญชัย กล่าวอีกว่า หากไปจดทะเบียนแล้ว ไม่เคยทำเลย ไม่เคยมีรายได้ ถึงต่อให้เป็นเจ้าของด้วย แต่ไม่เคยทำกิจการสื่อ ถ้ากรณีแบบนี้ศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้องหมดเลย เคยมีเคสแบบนี้ที่ส่งคำร้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ โดยศาลก็ได้ยกคำร้องไปรวม 29 ราย เพราะหลักเกณฑ์ของศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัยคือ คุณเป็นเจ้าของหรือมีหุ้นหรือไม่ และจดทะเบียนแล้ว ทำกิจการหรือไม่ ทำแล้วมีรายได้หรือไม่ ที่ผ่านมา ศาลจึงมักนำหลักฐาน เช่น บอจ. 5 (เอกสารสำคัญของบริษัท ที่แสดงถึงรายชื่อบัญชีผู้ถือหุ้นบริษัท ที่แสดงรายละเอียดต่าง ๆ ของผู้ถือหุ้น อาทิเช่น วันจดจัดตั้งบริษัท วันประชุม ทุนจดทะเบียนบริษัท จำนวนหุ้นทั้งหมด และรายชื่อผู้ถือหุ้น ประกอบไปด้วย ชื่อ สกุล ที่อยู่ จำนวนหุ้นที่ถือ ในบริษัท เป็นต้น) เพื่อดูว่ามีรายได้ปรากฏในงบดุลบริษัทที่ถือหุ้นสื่อดังกล่าว หรือไม่ โดยหากไม่มีรายได้เกิดขึ้น ก็แสดงว่าไม่เคยทำเลย ที่ผ่านมาศาลก็จะยกคำร้องหากเป็นแบบนี้ แต่กรณีที่เกิดขึ้น พบว่ามันยังมี บอจ.5 ก็ต้องดูว่า ไอทีวีมีรายได้จากอะไร ถ้าพบว่ามีรายได้จากดอกเบี้ย เพราะบริษัทยังไม่เลิกทำ แบบนี้คดีของพิธา ก็ยัง 50-50
“คดีของพิธาจุดสำคัญคือ หากศาลรัฐธรรมนูญมองในเชิงหลักรัฐศาสตร์ นัยยะในการถือหุ้น ไม่มีผลในการที่จะทำให้เกิดการได้เปรียบ-เสียเปรียบ ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) คือถือหุ้นน้อย เทียบกับจำนวนทั้งหมด ถ้ามองแบบนี้ ศาลก็อาจยกคำร้องได้ แต่หากศาลตีความว่า ยังถือครองหุ้นไว้อยู่ แล้วก็เคยมีคำพิพากษาของศาลฎีกาก่อนหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย ที่เป็นเรื่องของผู้สมัครรับเลือกตั้งท้องถิ่น คือจะมีหุ้นสื่อ ไม่ว่าจะกี่หุ้น หนึ่งหุ้น สองหุ้น สามหุ้น ไม่สำคัญ แต่สำคัญคือพบว่ายังถือหุ้นอยู่ แล้วยังไม่ได้จดทะเบียนเลิก ให้ถือว่ากระทำขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3)”อดีตส.ส.ประชาธิปัตย์ ระบุ