วันพุธ, มิถุนายน 26, 2024
หน้าแรกHighlight“วิโรจน์”ชี้ส่วยทางหลวงปัญหาใหญ่ปท. แก้ต้นตอต้องปราบวงจรส่วยให้สิ้นซาก!
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“วิโรจน์”ชี้ส่วยทางหลวงปัญหาใหญ่ปท. แก้ต้นตอต้องปราบวงจรส่วยให้สิ้นซาก!

“วิโรจน์” ชี้ส่วยทางหลวงปัญหาใหญ่ กระทบคนทั้งประเทศ มูลค่าทุจริตเฉียด 2 หมื่นล้านต่อปี แก้ต้นตอปัญหาต้องปราบวงจรส่วยให้สิ้นซาก ควบคู่ทบทวนกฎหมาย

เมื่อวันที่ 31 พ.ค.66 นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงประเด็นปัญหาส่วยทางหลวง ว่า ส่วยทางหลวงไม่ใช่ปัญหาใหม่ แต่เป็นปัญหาใหญ่ มีมานานหลายสิบปี มูลค่าการทุจริตคอร์รัปชันสูงในระดับหมื่นล้านบาท และกระทบกับประชาชนทั้งประเทศ เพราะเมื่อผู้ประกอบการต้องจ่ายส่วย ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น แม้ว่าจะบรรทุกสินค้าได้เพิ่มขึ้นบ้าง ก็ไม่คุ้มกับค่าซ่อมบำรุงที่แพงขึ้น อีกทั้งเมื่อเจอกับการแข่งขันที่ต้องตัดราคากันเอง ยิ่งทำให้กำไรลดลงมาก ท้ายที่สุด จึงผลักต้นทุนจากการจ่ายส่วย ไปยังค่าขนส่ง เมื่อค่าขนส่งเพิ่ม สินค้าอุปโภคบริโภคก็ต้องปรับราคาขึ้น กระทบผู้บริโภคที่ต้องแบกรับค่าครองชีพที่สูงขึ้นตาม นอกจากนั้น รถบรรทุกที่บรรทุกน้ำหนักเกิน ทำให้ถนนหนทางชำรุดเสียหาย เป็นอันตรายต่อผู้ขับขี่ และยังสิ้นเปลืองงบประมาณในการซ่อมบำรุงรักษาถนน ถ้าประหยัดงบประมาณในส่วนนี้ลงได้ รัฐบาลจะมีงบประมาณในการดูแลสวัสดิการของประชาชนเพิ่มขึ้น

นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า ต้นเหตุของปัญหาส่วยทางหลวง จุดเริ่มต้นอยู่ที่ข้าราชการของกรมทางหลวง บางคน ตำรวจท้องที่ และตำรวจทางหลวงบางนาย อาศัยช่องว่างทางกฎหมายไปรังควานผู้ประกอบกิจการขนส่ง ไม่ว่าจะเป็นการตรวจควันดำ ตรวจเสียง การตั้งด่านตราชั่งลอยเพื่อชั่งน้ำหนัก การเดินตรวจรอบรถแบบจุกจิกเพื่อหาเรื่องปรับ การเรียกตรวจพนักงานขับรถ ทำให้ผู้ประกอบการขนส่งเสียเวลาทำมาหากิน จากวันหนึ่งวิ่งได้ 2-3 เที่ยว อาจเหลือแค่ 1 เที่ยวเท่านั้น

“พฤติกรรมรังควานแบบนี้ เป็นเหตุให้เกิดขาใหญ่ ซึ่งอาจเป็นผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น ทำหน้าที่เป็นโต้โผเอาส่วยแบบเหมาจ่ายไปเคลียร์กับข้าราชการบางคน ตำรวจบางนาย แล้วมาผลิตสติ๊กเกอร์ขายให้กับผู้ประกอบกิจการขนส่งรายอื่นๆ พอเจ้าหน้าที่เห็นสติ๊กเกอร์ ก็เป็นอันรู้กัน รถบรรทุกเหล่านี้เถ้าแก่ส่งส่วยเรียบร้อยแล้ว ตราชั่งก็ไม่ต้องชั่ง บรรทุกหนักแค่ไหนก็ผ่านฉลุย ในระยะหลังถึงกับกล้าเอารถบรรทุกไปใช้ขนของผิดกฎหมาย ขนแรงงานต่างชาติหลบหนีเข้าเมือง ตำรวจที่ดีได้แต่ท้อใจ ถ้าเผลอไปเรียกตรวจ ก็อาจเจอผู้บังคับบัญชาหรือมาเฟียขาใหญ่โทรมาข่มขู่” นายวิโรจน์กล่าว

นายวิโรจน์ กล่าวต่อว่า สติ๊กเกอร์แต่ละดวง มีมูลค่าแตกต่างกัน ตั้งแต่ 3,000-5,000 บาทต่อเดือน ขึ้นอยู่กับระยะทางและจำนวนด่าน บางพื้นที่อาจแพงถึงหลักหมื่น จำนวนรถบรรทุกในประเทศไทยมีทั้งสิ้นประมาณ 1.4 ล้านคัน ถ้ามีรถบรรทุก 300,000 คัน ต้องเสียเงินซื้อสติ๊กเกอร์เดือนละ 3,000-5,000 บาท เท่ากับคิดเป็น 900-1,500 ล้านบาทต่อเดือน ในปีหนึ่งมูลค่าส่วยทางหลวงอาจสูงถึง 20,000 ล้านบาท เมื่อดูข้อมูลเรื่องทุจริตที่ร้องเรียนมายังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในแต่ละปี รวมกันเป็นมูลค่าประมาณ 200,000 ล้านบาท เฉพาะส่วยทางหลวงจึงคิดเป็นราว 10 เปอร์เซ็นต์แล้ว

นายวิโรจน์ กล่าวต่อไปว่า เรื่องส่วยทางหลวง จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่ามีหรือไม่ เพราะคำตอบคือมีแน่และมีมานาน ดังนั้น สิ่งที่ประชาชนคาดหวังจากข้าราชการระดับบังคับบัญชา ย่อมไม่ใช่คำตอบที่บอกว่าไม่รู้หรือการปฏิเสธ ตอบแบบนั้นนอกจากประชาชนอาจหัวเราะเยาะ ยังจะตั้งข้อสังเกตด้วยว่าข้าราชการคนนั้นมีส่วนพัวพันกับส่วยทางหลวงหรือไม่ และอีกคำตอบหนึ่งที่ยอมรับไม่ได้ คือการบอกว่าจะตั้งคณะกรรมการสอบแบบแก้เกี้ยว ถ่วงเวลาให้เรื่องเงียบ สุดท้ายก็จับมือใครดมไม่ได้ ก่อนจะบอกประชาชนว่าถ้าใครมีหลักฐานให้แจ้งมา การตอบแบบนี้ ประชาชนมีสิทธิจะตั้งคำถามกลับว่าถ้ารู้อยู่แก่ใจว่ามีขยะอยู่ในบ้านตัวเอง ทำไมถึงไม่ยอมเก็บกวาด ทำไมต้องรอให้ประชาชนมาชี้ว่ากองขยะกองอยู่ตรงไหน

นายวิโรจน์ ยังกล่าวว่า การแก้ปัญหาส่วยทางหลวง ต้องทำควบคู่กัน 2 ด้าน ประกอบด้วย ด้านที่ 1 คือการปราบปรามวงจรการส่งส่วยให้สิ้นซาก หากหลักฐานสาวถึงข้าราชการคนใด ต้องส่ง ป.ป.ช. เอาเรื่องให้ถึงที่สุด และใช้กลไกของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ในการยึดทรัพย์ และด้านที่ 2 คือการทบทวนกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ต่างๆ ที่ไม่สอดคล้องในการปฏิบัติงานจริง เปิดช่องว่างให้ข้าราชการบางคน ใช้เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้ง รังควาน รีดไถหรือเรียกรับผลประโยชน์จากประชาชน ถ้าพบต้องมีการดำเนินการทั้งคดีอาญาและทางวินัย ไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง เช่น กรณีน้ำหนักบรรทุกของรถพ่วง แต่เดิมกำหนดไว้ที่ 52-58 ตัน ต่อมา คสช. ปรับลดลงเหลือไม่เกิน 50.5 ตัน เมื่อวันที่ 1 ก.ค.2557 มีข้อสงสัยว่าการปรับลดลงมาเพื่อบีบให้ผู้ประกอบการทำผิดกฎหมายโดยปริยายและต้องยอมจ่ายส่วยหรือไม่ เพราะตามหลักการวิศวกรรมสากล การป้องกันไม่ให้ถนนชำรุดจากน้ำหนักบรรทุก โดยทั่วไปจะไม่นำน้ำหนักบรรทุกรวมมากำหนดเป็นเกณฑ์ แต่จะนำน้ำหนักบรรทุกเฉลี่ยต่อล้อมาใช้เป็นเกณฑ์แทน เช่น น้ำหนักบรรทุกเฉลี่ยต่อล้อต้องไม่เกิน 2.5 ตัน เป็นต้น ถ้าน้ำหนักบรรทุกมาก จำนวนล้อที่มาเฉลี่ยรับน้ำหนักก็ควรต้องมากตาม

นายวิโรจน์ กล่าวต่อไปว่า ประเด็นนี้ ไม่ใช่เรื่องสลับซับซ้อน เพียงสอบถามจากผู้เชี่ยวชาญทางด้านวิศวกรรมโยธา ก็สามารถทบทวนแก้ไขกฎระเบียบให้มีความสมเหตุสมผล เป็นไปตามหลักวิศวกรรมสากลได้ และเมื่อเกณฑ์ได้รับการปรับปรุงแล้ว หากพบรถบรรทุกคันใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องดำเนินการจับกุมเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย ส่วนหากถนนยังชำรุดอีก ก็ต้องตรวจสอบต่อว่าการก่อสร้างเป็นไปตามสเปคหรือไม่ ดังนั้น ไม่ว่าต้นเหตุของปัญหานี้คืออะไร ตำรวจไม่สามารถใช้เป็นเหตุในการรีดไถหรือเก็บส่วยจากประชาชน

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img