‘จุรินทร์’ชี้ทุกอย่างจะนิ่งหลัง‘กกต.’รับรองผลเลือกตั้ง ย้ำปธ.สภาช่วยพรรคใดพรรคหนึ่งขับเคลื่อนนโยบายไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญจำกัดขอบเขตอำนาจหน้าที่ของประธานสภาฯไว้ชัดเจนว่าต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลาง
เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ที่อาคารเนชั่น บางนา นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ และรักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงสถานการณ์การเมืองขณะนี้ ว่า ยังอยู่ในขั้นตอนการจัดตั้งรัฐบาล แต่ดูเหมือนพรรคการเมืองที่ไปร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลยังมีความไม่ลงตัวในบางเรื่อง อาทิ เรื่องประธานสภาผู้แทนราษฎร สังคมจึงให้ความสนใจ แต่การเจรจาทางการเมืองนั้นก็ต้องดำเนินต่อไป ซึ่งตนมองว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา
เมื่อถามว่า ไทม์ไลน์ทางการเมืองที่จะมีการรับรอง ส.ส. และคาดว่าจะมีการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรภายในเดือนก.ค. ถือเป็นไทม์ไลน์ปกติหรือไม่ นายจุรินทร์ กล่าวว่า ถ้าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศผลการเลือกตั้ง จะทำให้ทุกอย่างอาจชัดเจนและนิ่งขึ้น ส่วนตอนนี้อยู่ในช่วงที่ยังไม่มีการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ
ต่อข้อถามว่า เหตุใดในครั้งนี้ ตำแหน่งประธานสภาฯ ถูกจับตามากกว่าในอดีต นายจุรินทร์ กล่าวว่า อาจจะเป็นประเด็นที่ 2 พรรค ออกมาแสดงความเห็นในลักษณะที่ขัดแย้งกันก็ได้ แต่ประธานสภาก็ต้องเลือกกันในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ส่วนที่กังวลว่าจะต้องเป็นของพรรคนั้นพรรคนี้ มิฉะนั้นจะไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายพรรคได้นั้น ตนคิดว่าอาจเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะรัฐธรรมนูญจำกัดขอบเขตอำนาจหน้าที่ของประธานสภาฯไว้ชัดเจนว่าต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นกลาง จะไปช่วยขับเคลื่อนนโยบายพรรคใดพรรคหนึ่งไม่ได้ และข้อบังคับการประชุมก็กำหนดไว้ชัดเจนทั้งเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ การทำหน้าที่ในการบรรจุระเบียบวาระการประชุม ทุกอย่างมีกฎเกณฑ์ ระบบ และระเบียบอยู่แล้ว จึงไม่ต้องกังวลว่าจะสามารถที่จะทำอะไรนอกเหนือกฎเกณฑ์ได้ และเรื่องตำแหน่งประธานสภาฯ ก็ไม่น่าจะมีผลต่อการได้มาซึ่งตัวนายกรัฐมนตรี เพราะคนจะเป็นนายกฯ ต้องได้รับการโหวตในที่ประชุมร่วมรัฐสภา ส่วนประธานสภาฯ มีหน้าที่นำชื่อจากผลการลงคะแนนในที่ประชุมร่วมรัฐสภาขึ้นทูลเกล้าฯ จะไปทำเป็นอย่างอื่นก็ไม่ได้ จะเปลี่ยนชื่อก็ไม่ได้ ก็ต้องเป็นไปตามนั้นอยู่แล้ว
นายจุรินทร์ ยังกล่าวถึงคุณสมบัติของผู้จะดำรงตำแหน่งประธานสภาฯว่า ก็ต้องเป็นผู้แทนราษฎร ถ้าไม่เป็น ส.ส. ก็เป็นประธานสภาฯไม่ได้ แล้วก็ไปดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญไม่ได้ เพราะฉะนั้นเบื้องต้นก็ต้องเป็น ส.ส. ส่วนจะมีคุณสมบัติอย่างไรนั้น กฎหมายได้กำหนดไว้ชัดอยู่แล้วว่า คนที่จะมาเป็นประธานสภาต้องมีคุณสมบัติอย่างไร แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการปฏิบัติหน้าที่มากกว่า แล้วก็ขึ้นอยู่กับว่าที่ประชุมเลือกใคร
“ผมไม่มีเงื่อนไขอะไรพิเศษหรอก เพราะมีระบบ ระเบียบได้กำหนดบังคับไว้ชัดอยู่แล้ว ถ้าปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นกลางเมื่อไหร่ สมาชิก็ทักท้วง แล้วก็สังคมก็จะกดดันเองว่า ประธานสภาคนนี้ทำไมถึงไม่ทำหน้าที่เป็นกลาง แล้วอาจจะมีการร้องต่อไปในอนาคตได้ด้วย เพราะประเทศเราการตรวจสอบก็เข้มข้นขึ้น”นายจุรินทร์ กล่าว