‘เรืองไกร’ จี้กกต.สอบ “พิธา” งุบงิบขายหุ้นไอทีวี ชี้แม้ขายแล้ว แต่ไม่ทำให้พ้นผิด ท้าพิธากล้าเปิดข้อมูล ตามคอนเซ็ปต์ โอเพ่นดาต้า” ของก้าวไกล “ทนายอั๋น บุรีรัมย์” ปรี่ถาม “คนบุรีรัมย์หรือไม่” พร้อมยื่นค้านคำร้อง
เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. เวลา 09.55 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เดินทางมายื่นข้อมูลเพิ่มเติมเป็นครั้งที่ 7 กรณีการถือหุ้นไอทีวี ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล พร้อมให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้มีการให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ไปในทิศทางต่างๆ ตรงข้อเท็จจริงบ้าง ไม่ตรงบ้าง มีการเบี่ยงเบนข้อกฎหมายบ้าง ซึ่งเป็นความเห็นที่ตนก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่คิดว่าคงไม่ได้เข้าไปสู่สำนวนของ กกต.เท่าไหร่นัก แต่จากการติดตามพบว่า มีการพูดกันว่า บริษัทไอทีวี เลิกประกอบกิจการเป็นเด็ดขาดแล้วหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ไอทีวีมีสัญญาเข้าร่วมงานกับสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) 30 ปี ตั้งแต่ ก.ค.2538 ต่อมาถูกบอกเลิกในปี 2550 ไอทีวีจึงยื่นฟ้องต่ออนุญาโตตุลาการ โดยในชั้นแรก บริษัทไอทีวีแพ้
จากนั้นจึงร้องเป็นครั้งที่ 2 และอนุญาโตฯ วินิจฉัยว่า การบอกเลิกสัญญาของสปน.นั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ สปน.ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้บอกเลิกคำชี้ขาดของอนุญาโตฯ เพราะสปน.เห็นว่า อนุญาโตฯรับคำฟ้องซ้อนกับเรื่องแรกที่มีคำวินิจฉัยไปแล้ว จึงขอให้เพิกถอน ซึ่งศาลปกครองมีคำพิพากษาว่า อนุญาโตฯชี้ขาดครั้งที่ 2 ชอบด้วยกฎหมาย โดยศาลปกครองไม่มีอำนาจไปเพิกถอนตามคำร้องของ สปน. ทั้งนี้เมื่อศาลยกคำพิพากษาดังกล่าว ต่อมา สปน.ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด และอยู่ระหว่างการพิจารณา ตนจึงนำข้อมูลมาให้กกต.ประกอบการพิจารณา
นายเรืองไกร กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีกระแสข่าวว่า นายพิธาได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนในงาน Pride month ที่มีการถามว่า มีการขายหุ้นหรือไม่ แต่นายพิธาไม่ได้ตอบคำถาม อีกทั้งนายพิธาเคยให้สัมภาษณ์ในรายการหนึ่งว่า กรณีที่แย่ที่สุด อาจจะพ้นจากการเป็นส.ส. แต่บัญชีนายกรัฐมนตรียังคงอยู่ รวมถึงเมื่อวันที่ 5 มิ.ย. นายพิธายังตอบคำถามสื่อมวลชนในกรณีขายหุ้นว่า เลขาธิการพรรคได้ให้ข้อมูลไปแล้ว ส่วนตัวมองว่าไม่น่าจะตอบเช่นนั้น ควรบอกให้ชัดเจนว่า ขายหรือยังไม่ขาย เพราะสิทธิในการขายหุ้น เมื่อนายพิธามีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทไอทีวีมา 16 ปี หลักฐานปรากฏชัด เปลี่ยนแปลงแก้ไขไม่ได้ แล้วถือมาเกินวันสมัครรับเลือกตั้งแน่นอน เพราะรายชื่อผู้ถือหุ้น ปรากฏวันที่ 16 เม.ย.66 แต่วันที่รับสมัครส.ส.เขต และส.ส.บัญชีรายชื่อ คือวันที่ 3-7 เม.ย.
ดังนั้นขอให้กกต.ตรวจสอบการโอนหุ้นที่เกิดขึ้นภายหลัง ซึ่งตนก็ไม่ทราบวัตถุประสงค์ เพราะคงไม่ทำให้การสมัคร ส.ส. หรือการยอมรับเป็นบัญชีนายฯนั้นเสียไป ที่ไม่เสียไป เพราะเมื่อหากยื่นไปแล้ว มีลักษณะต้องห้าม ถ้าศาลตัดสินว่านายพิธาถือหุ้นสื่อ ก็จะหมดสิทธิเป็น ส.ส. และบัญชีนายกฯด้วย ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง มาตรา 14 ที่ระบุว่า ถ้ามีลักษณะต้องห้าม หรือไม่มีหนังสือยินยอม ให้ถือว่าไม่มีการเสนอชื่อ จึงเป็นหน้าที่ของกกต. ที่จะต้องสอบถาม หากมีการซื้อขาย ก็ต้องมีการส่งสำเนาการโอนหุ้น ซึ่งตามพ.ร.บ.บริษัทจำกัดมหาชน 2535 หมวด 5 เรื่องผู้ถือหุ้นระบุชัดเจนว่าการโอหุ้นต้องแจ้งใน 7-14 วัน หากไม่แจ้งจะถือว่าไม่มีการโอนหุ้น ดังนั้นจึงสันนิษฐานว่าน่าจะโอนแล้ว และน่าจะโอนหลังจากที่ตนร้อง
“ขอเรียกร้องไปยังนายพิธา ขอให้เปิดเผยข้อมูลต่อสื่อมวลชนไปเถอะ หากยังไม่ได้โอน ก็ตอบมาเลยว่ายังไม่ได้โอน ถ้าโอน ก็ขอให้แสดงหลักฐานว่าโอนแล้ว และจดแจ้งต่อบริษัทไอทีวีแล้ว แค่นั้นเอง ไม่เห็นมีปัญหาอะไร ที่ผมพูดเช่นนี้ เพราะคำว่า ‘โอเพ่นดาต้า’ ของท่านนั่นแหละ ที่ผมเอามาเรียกร้องว่า ทำไมข้อมูลของตัวท่าน ในฐานะที่แสดงตนเป็นหัวหน้าพรรค แต่ทำไมไม่เปิดเผย ทำไมต้องให้กกต.รับคำร้องผม แล้วถามไป แล้วการที่ขายไปแล้วเจตนาคืออะไร ผมคงไม่ก้าวล่วง แต่ถ้าคิดว่าโอนแล้วจะทำให้กลับมาเป็นบัญชีนายกฯโดยชอบ ผมคิดว่าก็คงไม่ใช่ เพราะเป็นไปตามข้อกฎหมาย” นายเรืองไกรกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่นายเรืองไกร ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน ปรากฏว่านายภัทรพงศ์ ศุภักษร หรือ “ทนายอั๋น บุรีรัมย์” ได้ยืนรับฟังการให้สัมภาษณ์ด้วย ทำให้นายเรืองไกรให้สัมภาษณ์ด้วยสีหน้ากังวล และระแวดระวังตัวเอง ก่อนจะจบการสัมภาษณ์อย่างรวดเร็ว โดยไม่เปิดให้สื่อมวลชนซักถาม ขณะที่นายภัทรพงศ์ได้เดินปรี่พยายามเข้าไปประชิดตัวนายเรืองไกร พร้อมตะโกนถามว่า “ได้อ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาไหม พี่เป็นคนบุรีรัมย์หรือเปล่า” แต่นายเรืองไกร ไม่เผชิญหน้า แล้วเดินไปยื่นหนังสือต่อกกต.ต่อ
จากนั้น นายภัทรพงศ์ และนายวีรวิชญ์ รุ่งเรืองศิริผล หรือ “ลุงศักดิ์” เขายื่นหนังสือต่อกกต.คัดค้านคำร้องของนายเรืองไกร และบุคคลอื่นที่มายื่นร้องขอให้กกต.ตรวจสอบการถือหุ้นไอทีวีของนายพิธา โดยนายภัทรพงศ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่มีอะไรซับซ้อน เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) และพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มาตรา 42 (3 ) เท่านั้น จะขายหรือไม่ขายหุ้น ไม่มีปัญหา เจตนาที่กฎหมายห้ามไม่ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งถือหุ้นสื่อ เพราะไม่ต้องการเห็นให้ผู้สมัครนำสื่อที่ตนเองเป็นเจ้าของ มาใช้ในการโฆษณาหาเสียง สร้างความได้เปรียบเสียเปรียบให้กับคู่แข่งขัน ซึ่งทั้งสองมาตราเป็นกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพ เราต้องดูบรรทัดฐานสังคม ซึ่งพึ่งจะมีคำพิพากษาศาลฎีกาในกรณีของนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ ผู้สมัครส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ นครนายก ซึ่งมีข้อเท็จจริงที่เสี่ยงว่า จะผิดมากกว่านายพิธาอีก เพราะกิจการสื่อที่นายชาญชัยถือหุ้นอยู่ยังประกอบกิจการอยู่แต่บริษัทไอทีวี ได้ยุติการออกอากาศ มาตั้งแต่ปี 2551
นอกจากนี้สัดส่วนหุ้นไอทีวีที่นายพิธาถือ ก็เพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับจำนวนหุ้นไอทีวีทั้งหมดที่มีอยู่ ทำให้ไม่มีอำนาจสั่งการใดๆ ในการจะให้สื่อนั้นมาช่วยหาเสียงให้กับตนได้ และไอทีวีก็ได้หยุดกิจการไปแล้ว การที่นายเรืองไกร หรือใครที่มาร้อง ส่วนใหญ่ก็จะหน้าเดิมๆ ซึ่งสังคมก็ตีหน้าตีตราอยู่แล้วว่า เป็นพวกร้องไร้สาระ และเขาก็รู้ตัวว่า สังคมมองตัวเองอย่างไร แต่มีเหตุจูงใจในการร้อง ก็พูดเพราะเป็นเกมอำนาจทางการเมืองที่ต้องการขัดขวาง ก็หวังว่ากกต.จะปัดตกคำร้องของนายเรืองไกรและผู้อื่นๆ ที่มายื่นร้องเรื่องการถือหุ้นของพิธา เหมือนกับที่ปัดตกคำร้องของนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย กรณีร้องนโยบายหาเสียงกระเป๋าเงินดิจิตอล 10,000 บาทของพรรคเพื่อไทย ที่ตนก็ได้มายื่นคัดค้านคำร้องของนายศรีสุวรรณ และกกต.ก็ปัดตกตามที่ตนยื่นร้อง