“กมธ.พัฒนาการเมือง” ยัน “รัฐบาลแห่งชาติ” เกิดได้ตาม ม.272 วรรคสอง รอจังหวะเลือกนายกฯในบัญชีพรรคไม่ได้ เชื่ออนาคตอาจเกิดขึ้นได้
วันที่ 6 มิ.ย.2566 เวลา 09.30 น ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ที่มีนายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. เป็นประธานในการประชุม ได้หารือถึงข้อเสนอทางการเมืองเกี่ยวกับการตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ตามที่นายจเด็จ อินสว่าง ส.ว. ฐานะรองประธานกมธ.ฯ เสนอ ให้ทุกพรรคที่รับเลือกตั้ง ตั้งรัฐบาลทำงานร่วมกัน
จากนั้นเวลา 12.30 น. นายเสรี แถลงการประชุมว่า ที่ประชุมได้รับฟังความเห็นของนายจเด็จต่อข้อเสนอดังกล่าวและมองว่าเป็นการมองการณ์ไกลและไม่ใช่เจตนาร้าย แต่เป็นความหวังดี เพื่อแก้ปัญหาวิกฤต การเลือกนายกฯ ที่อาจมีข้อขัดแย้ง ประเด็นคุณสมบัติการเป็นผู้สมัคร ส.ส. การถือหุ้นสื่อ รวมถึงนโยบาย ที่มีประเด็นความมั่นคง ต่างประเทศที่ให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซง ปัญหาเศรษฐกิจ การบริหารการคลัง รวมถึงการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ที่มีผลกระทบหมวด1, หมวด 2 ที่กระทบต่อความั่นคงและสถาบันเบื้องสูง ซี่งอาจกลายเป็นปัญหาบ้านเมมืองได้
“ข้อเสนอดังกล่าวเป็นไปได้ยาก เพราะเป็นเรื่องนอกรัฐธรรมนูญและ 18 ปีที่ผ่านมา เกิดข้อเสนอรัฐบาลแห่งชาติ 8 ครั้ง แต่ไม่สำเร็จ อย่างไรก็ดีการสร้างความปรองดอง กมธ.มองว่าจะเกิดขึ้นได้ ต้องได้รับความเห็นพ้องจากทุกฝ่าย โดยมีแนวทาง ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ คือ มาตรา 272 วรรคสองว่า ด้วยการเห็นพ้องของที่ประชุมรัฐสภา 2 ใน 3 หรือ 500 เสียง ที่ร่วมเว้นบทบัญญัติใช้แคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีของพรรคการเมือง หรือ เปิดช่องให้นายกฯ คนนอก ซึ่งกรณีดังกล่าวเป็นไปได้ยาก เว้นแต่ พรรคใหญ่ ทั้ง พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าาวไกล เห็นชอบร่วมกัน จะง่ายที่เกิดนายกคนนอก ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 วรรคสอง โดยผมมองว่ากระบวนการที่ได้รับความร่วมมือร่วมใจนั้นไม่ต่างจากรัฐบาลแห่งชาติ”นายเสรี กล่าว
นายเสรี กล่าวด้วยว่า กรรมาธิการฯ เห็นว่าโอกาสที่จะเสนออยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถเลือกนายกฯ ได้ตามมาตรา 272 วรรคหนึ่ง แต่การจะแก้ปัญหาต้องได้รับความร่วมมือจากทุกพรรค ทุกฝ่าย ตามมาตรา 272 วรรคสอง ดังนั้นเป็นทางที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตและคนมองข้ามไป แต่นายจเด็จมองเห็นอนาคตต้องการให้เกิดความปรองดอง สามัคคคี ไม่มีอะไรแอบแฝงใดๆ ทั้งสิ้น