คนละขั้วความคิด แต่หยิบยก “ฮ่องกงโมเด็ล” เตือนสติ “ม็อบร้อยชื่อ” ตรงกัน “อดีตบิ๊กข่าวกรอง” แนะให้ดูม็อบตี๋ฮ่องกงเป็นตัวอย่าง โดนยุให้สู้ พอแพ้ก็ทิ้ง ลี้ภัยก็ไม่รับ ชี้อย่าเผาบ้านตัวเอง เพื่อสนองความใคร่คนอื่น ขณะที่ “โบว์-ณัฏฐา” ก็ยกเคสเดียวกันเตือนใจ ก่อจลาจลใช้ความรุนแรง สุดท้ายก็ถูกลืมจากนานาชาติ
เมื่อวันที่ 2 มี.ค.64 นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ แสดงความเห็นผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า…”จงภูมิใจเถิดที่เกิดเป็นไทย นับวันม็อบร้อยชื่อก็จะรุนแรงขึ้นอย่างไม่มีเหตุผล ต้องหาเรื่องปะทะกับตำรวจทุกครั้งที่ออกมาชุมนุม ล่าสุด 28 กุมภาพันธ์ 64 จะบุกไปบ้านพักลุงตู่ที่ราบ 1 อยากเข้าไปข้างในกรมทหารเลยหรือไง แสดงพลังด้านนอกกรมทหารไม่พอหรือต้องรื้อคอนเทนเนอร์ที่ตำรวจอุตส่าห์ตั้งแนวไว้ หากไม่รุนแรงก่อน มีหรือที่ตำรวจจะกล้า ใช้รถฉีดน้ำ แก๊ซน้ำตาหรือกระสุนยาง เพื่อยับยั้งม็อบไม่ให้รุนแรงเกินเหตุ
แกนนำอีแอบอาจบอกว่า ไม่รุนแรง แค่ฉี่รดหัวตำรวจ ไม่ถึงตาย ลองมายืนให้คนอื่นฉี่รด ไม่ต้องรดหัวแค่เฉี่ยวๆ ก็ได้ ดูซิว่าจะทนได้มั้ย มีข้อสังเกตนะ พัฒนาการของม็อบมันซ้ำรอย เลียนแบบฮ่องกงยังกับมาจากพิมพ์เดียวกัน ธงชาติที่ถือ ล้วนธงที่อยากแยกตัวออกจากจีนทั้งสิ้น มีอะไรเกี่ยวข้องกับการต่อต้านจีนของม๊อบร้อยชื่อมั้ย หรือรับโจทย์ชาติตะวันตกมา
ทำไมถึงวิเคราะห์อย่างนั้น ความวุ่นวายทางการเมืองในแถบนี้ มีความคล้ายกับแบบที่เกิดในกลุ่มรัฐอิสลาม ที่ฝรั่งเรียก Arab Spring ส่วนแถบเอเชีย ฝรั่งตั้งชื่อว่า Tea Milk Spring ขบวนการชานม คลุมทั้งฮ่องกง ไต้หวัน พม่าและไทย เดินตามแนวเดียวกันหมด ยังกะคนเขียนบทเป็นคนๆ เดียวกัน อยากเตือนสติ ฝรั่งตะวันตกเชื่อใจไม่ได้ ไม่เคยเห็นคนผิวเหลืองอย่างพวกเราเป็นเพื่อน วันที่ประเทศไทยจะก้าวเป็นเสือตัวที่ห้า ไอ้จอร์จก็มาทุบค่าเงินบาทจนติดดิน มหามิตรบาทเดียวก็ไม่ช่วย แถมส่งทุนตะวันตกมาฮุบของถูก เอาไปขายแบ่งสมบัติกัน ดูตี๋ฮ่องกงเป็นตัวอย่าง มันยุให้สู้ พอแพ้ก็ทิ้ง ลี้ภัยก็ไม่รับ อย่าเผาบ้านตัวเอง เพื่อสนองความใคร่คนอื่น จงภูมิใจที่เป็นคนไทย”
อีกด้านหนึ่ง น.ส.ณัฏฐา มหัทธนา หรือ “โบว์” นักกิจกรรมนักเคลื่อนไหวทางการเมือง โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Bow Nuttaa Mahattana ว่า “ม็อบฮ่องกงเคยประสบความสำเร็จ …เมื่อผู้ชุมนุมเริ่มต้นการประท้วงต่อต้านกฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนนั้น ม็อบฮ่องกงได้รับความสนใจจากนานาชาติและมีความชอบธรรมสูงในสายตาประชาคมโลก ภาพการปราบปรามเยาวชนอย่างรุนแรงโดยตำรวจถูกเผยแพร่ไปทั่ว กราฟแห่งการต่อสู้อยู่ในขาขึ้นที่เรียกกันว่า “กระแสสูง” จนในที่สุดทางการฮ่องกงยอม “ถอย” ถอนร่างกฎหมายดังกล่าวออกจากการพิจารณา ข้อเรียกร้องหลักได้รับการตอบสนอง แม้ข้อเรียกร้องย่อยเรื่องการปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมดำเนินคดีและสิทธิในการเลือกผู้ปกครองตนเองจะยังคงอยู่
จุดเปลี่ยนของม็อบน่าจะเริ่มจากเหตุการณ์บุกรัฐสภา ต่อด้วยการบุกห้างสรรพสินค้า สนามบิน และการจลาจลในจุดต่างๆ กับข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมที่ “ยกระดับ” ขึ้นอย่างรวดเร็วสู่คำว่า การประกาศอิสรภาพแบ่งแยกดินแดนจากจีน พร้อมๆ กับเสียงของคนเห็นต่างในประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับทั้งข้อเรียกร้องและวิธีการเริ่มดังขึ้น ภาพของการปะทะและการใช้ความรุนแรงระหว่างประชาชนด้วยกันเริ่มมีให้เห็น ในขณะที่การปราบปรามโดยรัฐก็ไม่ได้ลดน้อยลง
รัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีนตัดสินใจฉวยจังหวะนี้ใช้ “ยาแรง” ออกกฎหมายความมั่นคง National Security Law ที่มีบทลงโทษรุนแรงต่อผู้ต่อต้านรัฐบาล แกนนำส่วนหนึ่งลี้ภัยไปอังกฤษ ไต้หวัน คนที่อยู่ถูกตัดสินคดีเก่าลงโทษจำคุก บุคคลสำคัญในฝ่ายต่อต้านถูกคุกคามโดยกฎหมายใหม่ การเคลื่อนไหวถูกปราบอย่างราบคาบ พร้อมๆ กับที่เสียงสนับสนุนจากนานาชาติเงียบลง มวลมหาประชามิตรหันไปสนใจพม่าแทน“