“พงศกร” ชี้หากประธานสภาฯ ไม่ใช่ “ก้าวไกล” คงจะมีโอกาสโหวต “พิธา” เพียงครั้งเดียว เชื่อใครมาแทนก็ปกครองยาก ยกผลเลือกตั้ง “ไม่เอา 2 ลุง” แนะควรปล่อยไปตามครรลองจะดีกว่าไหม
เมื่อวันที่ 1 ก.ค.66 พล.ท.พงศกร รอดชมภู อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กแสดงความคิดเห็นกรณีการเจรจาเรื่องตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ที่ยังไม่ได้ข้อยุติ ระหว่างพรรคก้าวไกล กับพรรคเพื่อไทยว่า วันพรุ่งนี้ไม่ว่าการเจรจาระหว่างสองพรรคใหญ่จะออกมาอย่างไร ขอให้คิดไว้เสมอว่าที่ประชาชนลงคะแนนให้จนชนะฝ่าย 2 ลุงมาได้อย่างเด็ดขาดนั้น ก็เพื่อให้มาช่วยกันถอนราก ถอนโคน เครื่องมือ กลไก ในการครองอำนาจของฝ่ายอำนาจนิยม
พรรคการเมืองที่อนุรักษ์นิยมจนออกนอกหน้า แทบไม่มีใครเลือก ไม่มีผู้แทนเข้ามาได้เลยเป็นส่วนใหญ่
พรรคการเมืองฝ่ายอำนาจนิยมสนับสนุน คสช.หรือเป็นนั่งร้านให้ แทบหมดจากเวทีการเมือง
เรื่องนี้เป็นเจตจำนงของประชาชน ควรเอาตรงนี้เป็นตัวตั้ง และเข้าใจความจำเป็นที่จะต้องร่วมมือกัน แม้นโยบายและแนวทางของสองพรรคจะแตกต่างกันเป็นฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย ก็ควรมาแข่งกันในการเลือกตั้งรอบหน้า รอบนี้เอาประชาชนก่อน
ในส่วนของพิธา ถ้าประธานสภาฯไม่ใช่ของก้าวไกล คงมีโอกาสเสนอเพียงครั้งเดียว ไม่มีโอกาสที่ประชาชนจะแสดงเจตจำนงที่หนักแน่นสนับสนุนจน ส.ว.เปลี่ยนใจได้เพราะยังไม่มีเหตุ
ซึ่งเข้าใจได้ถึงการชิงเหลี่ยมทางการเมืองแบบคนเก๋าเกมเขาทำกันในการเมืองแบบที่ผ่าน ๆ มา
คำถามคือ ประชาชนอยู่ตรงไหน เพราะโพลที่ถามว่าคนไม่เอาพิธามีน้อยที่สุด และต้องการพิธาก็มาอันดับหนึ่ง
ปล่อยไปตามครรลองจะดีกว่าไหม
เพราะไม่ว่าใครจะมาแทนพิธาก็จะปกครองด้วยความยากลำบากทั้งนั้น
ในฝั่งของพี่ป้อมถ้ารวบรวมเสียงได้ ก็ต้องเอาจากฝั่งที่ประชาชนเลือกให้มาเลิกระบอบ คสช.หากฝืนเข้ามาจะอลหม่านหนัก
ในฝั่งกันเอง ถ้าให้พิธารอบเดียว ในเวลานั้นหากบังเอิญพี่ป้อมยังไม่ผ่านซึ่งเป็นไปได้ยาก ขั้นที่สามนี้จะกลับมาที่ฝั่ง 8 พรรคก็ต้องเป็นเพื่อไทย เกิดทางผู้มีอำนาจต้องการทำลายพรรคเพื่อไทยก็ง่าย แค่ให้ ส.ว.และ บางส่วนในพรรคฝ่ายรัฐบาลที่เป็นของ 2 ลุงมาลงคะแนนให้ก็แก้ตัวลำบาก ให้เก่งอย่างไรก็สู้การไม่ยอมรับได้ยาก
ปล่อยตามเส้นทางประชาธิปไตย รีบแก้รัฐธรรมนูญแล้วเลือกตั้งใหม่เร็ว ๆ ทนมา 9 ปี ไม่หือ ไม่อือ ทนอีก 1 ปีกับ ส.ว.หรือทนอีก 4 ปี แก้รัฐธรรมนูญเสร็จก็ไม่นาน จากนั้นจะพ้นจากกับดักของอำนาจนิยมตลอดกาล
ฉลองชัยชนะร่วมกับประชาชนจะดีกว่าไหมครับ