วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกNEWS“เสรี”ถอยแล้วไม่เข้าชื่อตีความคุณสมบัติ“แคนดิเดตนายกฯ-พิธา” ชี้ไม่เหมาะ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“เสรี”ถอยแล้วไม่เข้าชื่อตีความคุณสมบัติ“แคนดิเดตนายกฯ-พิธา” ชี้ไม่เหมาะ

“เสรี” ถอย-ไม่เข้าชื่อ ส.ว. ตีความคุณสมบัติ “แคนดิเดตนายกฯ-พิธา” บอกไม่เหมาะ ปูด มีส.ส.จ่อเข้าชื่อตรวจสอบเอง

เมื่อวันที่ 7 ก.ค.66 นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา กล่าวว่า จากที่ตนระบุถึงการศึกษาในแนวทางการเข้าชื่อส.ว. ที่จะยื่นตีความคุณสมบัติของบุคคลที่เสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีนั้นล่าสุดเห็นว่าไม่ใช่แนวทางและไม่เหมาะสมรวมถึงไม่ควรทำ อย่างไรก็ดีขณะนี้ทราบว่าจะมีส.ส.ที่อาจจะเข้าชื่อเพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นคุณสมบัติของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ดังนั้นควรปล่อยให้กระบวนการเป็นเรื่องของสภาฯ ขณะเดียวกันทราบว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของนายพิธาและเตรียมจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญแล้ว ดังนั้นเชื่อว่าเรื่องดังกล่าวจะมีความชัดเจน ส่วนจะดำเนินการได้ทันก่อนโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี หรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ

เมื่อถามว่า ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี มีผู้เสนอว่าไม่ควรนำประเด็นการแก้ไข มาตรา 112 หรือคุณสมบัตินายพิธามาตั้งแง่เพราะเป็นคนละเรื่องกัน นายเสรี กล่าวว่า ไม่สามารถทำอย่างนั้นได้ เพราะตามรัฐธรรมนูญ กำหนดหน้าที่ให้สมาชิกรัฐสภาให้ความเห็นชอบไม่ใช่แค่เลือกหรือไม่เลือก ดังนั้นกรณีจะให้ความเห็นชอบต้องพิจารณารายละเอียดที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน ส่วนที่บางฝ่ายอ้างว่า ส.ว.สามารถใช้อำนาจยับยั้งการแก้ไข มาตรา 112 ตอนพิจารณาร่างพ.ร.บ.ของวุฒิสภา ตนมองว่าไม่สามารถรอให้ถึงตอนนั้นได้ เพราะส.ว.ต้องตัดไฟตั้งแต่ต้นลม เนื่องจากทราบเจตนาของผู้เสนอแก้ไข ว่าต้องการใช้เป็นเวทีเพื่อเปิดช่องวิพากษ์วิจารณ์สถาบันเบื้องสูง

เมื่อถามว่า กรณีที่โหวตนายกรัฐมนตรีรอบแรก แต่นายพิธาไม่ได้รับเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของรัฐสภาจะทำให้เกิดสถานการณ์พลิกขั้วการเมืองหรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า เกิดได้ทุกอย่าง เพราะขึ้นอยู่ ส.ส.ไปจัดทัพ รวบรวมคะแนน ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการพลิกขั้ว หรือ เปลี่ยนข้างได้ทั้งสิ้น และตนเชื่อว่าการเมืองหลังจากนั้นจะไม่อ่อนแอ

เมื่อถามถึง กรณีที่ส.ว.มีความเห็นว่าให้ปัดตกชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ที่โหวตไม่ผ่านในรอบแรก นายเสรี กล่าวว่า ตามกติกาไม่มีสิ่งใดห้าม แต่อยู่ที่ความเหมาะ ความควร หากคนที่รัฐสภาไม่เห็นชอบในรอบแรก จะเสนอกลับมาอีกเพื่ออะไร หากทำเช่นนั้นอาจจะทำให้เกิดภาพได้ว่า มีการล็อบบี้กันเกิดขึ้นหรือไม่ ทั้งที่คะแนนรอบแรกปรากฎชัดเจนอยู่แล้ว หากรอบแรกไม่ได้ รอบต่อไปต้องเปลี่ยนคน

“หากรอบสอง พรรคการเมืองยังเสนอชื่อคนเดิม ส.ว. ไม่จำเป็นต้องประท้วงหรือวอล์กเอาต์ แค่นั่งบนเก้าอี้และงดออกเสียง ก็เพียงพอ และมีค่าเท่ากัน” นายเสรี กล่าว

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img