วันจันทร์, พฤศจิกายน 25, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlight“พิธา"วืด"เศรษฐา”แห้วนายกฯ ชุมนุมบนถนนทหารยึดอำนาจตามเคย
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“พิธา”วืด”เศรษฐา”แห้วนายกฯ ชุมนุมบนถนนทหารยึดอำนาจตามเคย

“จตุพร” เชื่อ “พิธา-เศรษฐา” โหวตนายกฯ ไม่ผ่าน 376 เสียง ระบุบ้านเมืองถึงทางต้น คาดเพื่อไทยเปิดช่องย้ายข้ามขั้วจับมือ 188 เสียง หนุน “ประวิตร” เป็นนายกฯ ห่วงชุมนุมถนนเข้มข้น รุนแรง เดือดระอุ ควบคุมยาก ลงท้ายทหารแทรกแซง ยึดอำนาจอีกตามเดิม

เมื่อ 12 ก.ค.นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊คไลฟ์ประเทศไทยต้องมาก่อน ตอน “อาการน่าเป็นห่วง!” โดยมั่นใจว่า ทั้งนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และนายเศรษฐา ทวีสิน ไม่อาจได้รับความไว้วางใจจาก ส.ว.ให้เป็นนายกฯ ดังนั้น สถานการณ์นอกสภาจึงน่าห่วง ยิ่งมีการย้ายข้ามขั้ว การชุมนุมจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นจนยากจะควบคุมได้

นายจตุพร กล่าวว่า การเข้าไปบริหารบ้านเมืองของประเทศนี้ไม่ง่ายเลย กรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้เสียงอันดับหนึ่ง ซึ่งก่อนโหวตนายกฯ 13 ก.ค. นี้ เข้าใจว่า สภาคงมีการอภิปรายและหาข้อสรุป หากโหวตครั้งแรกไม่ผ่านจะโหวตครั้งที่สองได้หรือไม่ โดยเปรียบเทียบเป็นญัตติที่ถูกตีตกแล้วจะเสนอกลับมาโหวตใหม่ได้หรือไม่ ซึ่งจะเป็นปัญหาหลักของการถูกยื้อ จนการโหวตในสภาไม่เรียบร้อย และอาจเลื่อนการโหวตนายกฯ รอบแรกออกไป

นอกจากนี้ นายจตุพร กล่าวว่า นายพิธา ยังมีปัจจัยแทรกขึ้นมาทั้งกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาคุณสมบัติขัด รธน.เกี่ยวกับการถือหุ้นสื่อหรือไม่ รวมทั้ง ศาล รธน.จะพิจารณารับหรือไม่กรณีคำร้องกล่าวหาพรรคก้าวไกลหาเสียงแก้ ม.112 เข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่ อีกอย่างเมื่อรับคำรองแล้วจะมีคำสั่งให้หยุดปฎิบัติหน้าที่หรือไม่ ดังนั้น บรรดาอุปสรรคเหล่านี้ จึงเป็นวิบากกรรมของนายพิธา ในการโหวตนายกฯ วันที่ 13 ก.ค.นี้

“แม้การโหวตนายกฯ 13 ก.ค.นี้ นายพิธา จะอยู่ในสถานะใดก็ตาม แต่ความจริงที่แน่ชัดแล้ว คงได้เสียงไม่ถึง 376 เสียง ดังนั้น จึงยากที่จะได้เป็นนายกฯ อีกอย่างการโหวตอาจถูกยื้อออกไปจนไม่สามารถจบรอบแรกในวันที่ 13 ก.ค. ก็ได้ หรือนายพิธา ได้โอกาสโหวตเพียงครั้งเดียว สิ่งนี้ย่อมเกิดความกินแหนงแคลงใจกันแน่นอน”

อย่างไรก็ตาม เห็นว่า ยิ่งวันโหวตนายกฯ ใกล้มาถึง กลับมีการปั่นเสียง ส.ว.ได้ครบจำนวนมากขึ้น แต่ยังขาดเหตุผลทางวิทยาศาสตร์หรือหลักฐานมารองรับความเป็นจริงที่ ส.ว.ไว้วางใจและจะโหวตให้นายพิธา เกิน 65 เสียง เมื่อนำมารวมกับเสียง ส.ส. 8 พรรค 311 เสียงย่อมผ่านเกณฑ์ 376 เสียงจากทั้งหมด 750 เสียงตามความต้องการ

นายจตุพร กล่าวว่า หากนายพิธา ได้รับสิทธิให้โหวตเพียงครั้งเดียว ย่อมมีการเปลี่ยนแคนดิเดตนายกฯ มาเป็นของพรรคเพื่อไทย จึงเป็นโอกาสของนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯ อันดับสอง ที่แปะหน้าทักษิณ ชินวัตร เข้ามามีอำนาจทางการเมืองด้วย ดังนั้น ผลลัพธ์คงไม่เปลี่ยนจากโหวตนายพิธา คือ ไม่ผ่าน 376 เสียง สิ่งนี้จะกลายเป็นแรงเหวี่ยงให้เกิดสถานการณ์ย้ายข้ามขั้วไปจัดตั้งรัฐบาลกับบางพรรคในฝ่ายข้างน้อย 188 เสียง

อีกทั้ง กล่าวว่า มีข้อมูลจากบางฝ่ายอธิบายถึงการข้ามขั้วจะมีตัวเลือกนายกฯ เป็นนายชัยเกษม นิติสิริ แคนดิเดตนายกฯ อันดับสามของพรรคเพื่อไทย ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้ เพราะมีปัญหาสุขภาพ และอาจถูกรื้อค้นโยงการทำหน้าที่ในช่วงเป็นอัยการสูงสุดมาเล่นงาน ซึ่งกรณีนายธาริต เพ็งดิษฐ์ ถูกเชือดสังเวยทางการเมืองเป็นตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรม

สิ่งสำคัญ นายจตุพร เชื่อว่า เมื่อเกิดข้ามขั้วแล้ว จะยิ่งทำให้บทบาทของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าและแคนดิเดตนายกฯของพรรคพลังประชารัฐโดดเด่นยิ่งขึ้นอีก และยังดำรงความมุ่งหมายในตำแหน่งนายกฯ อย่างชัดเจน จึงทุ่มเทแรงใจไปเหนื่อยกับการสร้างพรรคในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง

ส่วนพรรคภูมิใจไทยนั้น ในขั้ว 188 เสียง เป็นพรรคได้รับเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่งของฝ่ายนี้ อีกอย่างมีประสบการณ์ทางการเมือง และไม่นิยมเล่นเกมเสี่ยงในสถานการณ์ที่ไม่มั่นใจ อีกทั้งไม่เห็นด้วยการตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยและไม่สนับสนุนการแก้ ม.112 ซึ่งไม่แตกต่างจากนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ไม่เอารัฐบาลเสียงข้างน้อยและประกาศความชัดเจน ไม่รวมแข่งขันในการโหวตนายกฯ วันที่ 13 ก.ค.นี้ เช่นกัน

“สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ มา 9 ปี จึงเป็นเรื่องยากที่จะไปแข่งชิงโหวตนายกฯ ด้วย เพราะทหารจะไม่ทำสงครามที่ไม่มีโอกาสชนะ ดังนั้น จึงไม่ทำในสิ่งที่เขาไม่มั่นใจ แต่สิ่งที่มั่นใจขณะนี้ คือ มีอำนาจนายกฯ รักษาการอยู่ในมือ ยิ่งสถานการณ์ชุมนุมนอกสภาเข้มข้นขึ้น ย่อมเป็นจุดแปรผันทางอำนาจการเมืองอย่างยิ่ง”

นายจตุพร เชื่อว่า เมื่อการชุมนุมบนถนนรุนแรงขึ้น อำนาจตาม พรก.สถานการณ์ฉุกเฉินถูกนำมาใช้ หากควบคุมสถานการณ์ไม่อยู่ ทหารอาจเข้าแทรกแซงด้วยการยึดอำนาจอีกตามเดิม ซึ่งไม่แตกต่างจากสถานการณ์ทางการเมืองที่เคยผ่านมาแล้ว

“ในสถานการณ์ขณะนี้ การข้ามขั้วทางการเมืองนั้น ไม่ว่าจะไปทั้งพรรคหรือไปเฉพาะงูเห่าฝูงใหญ่ย้ายไป ย่อมเติมเชื้อไฟมวลชนชุมนุมนอกสภาไม่พอใจหนักยิ่งขึ้น ดังนั้น การข้ามขั้วทุกแบบจึงไม่มีความแตกต่างกัน เนื่องจากบ่งชี้สถานการณ์มีความยากลำบากทุกทาง”

นายจตุพร คาดว่า เมื่อสถานการณ์มีความยากลำบากในทุกทางแล้ว การโหวตเลือนายกฯ อาจไม่มีใครได้เป็นนายกฯ สักคน สิ่งสำคัญหากนายกฯ ไม่ใช่นายพิธา เป้าของมวลชนจะรุมถล่มพรรคเพื่อไทย ที่ข้ามขั้วไปจับมือกับพรรค 188 เสียง

“ทางตันของบ้านเมือง จากพรรคเพื่อไทยย้ายข้ามขั้วนั้น เป็นทางตันที่ไม่มีเกียรติยศ แต่ถ้า 3 ฝ่ายทั้ง 8 พรรค 312 เสียง หรือฝ่ายข้างน้อย 188 เสียง และ ส.ว. 250 เสียง ยืนหยัดในจุดยืนของแต่ละฝ่ายแน่นเหนี่ยวแล้ว แม้เกิดทางตันของบ้านเมือง แต่ก็มีเกียรติ และจะมีลู่ทางร่วมกันหารือสร้างความชอบธรรมเพื่อหาทางออกของประเทศได้”

นายจตุพร กล่าวว่า ประชาธิปไตยที่อาศัยเสียงข้างมาก แต่ถ้าขาดความชอบธรรมย่อมอยู่ในอำนาจลำบากขึ้น ดังนั้น ความชอบธรรมจึงใหญ่กว่าเสียงข้างมาก  ถ้าคิดว่ามีเสียงข้างมากจะทำอะไรก็ได้ จึงเป็นการคิดผิด ยิ่งวันนี้ชี้ขัดขึ้นว่า ไม่มีฝ่ายใดเป็นเสียงข้างมาก เพราะไม่สามารถตั้งรัฐบาลได้ตามที่ปรารถนากัน

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img