จับตาลุ้นศาลรธน.นัดพิจารณารับ-ไม่รับคำร้องมติรัฐสภาห้ามเสนอชื่อ”พิธา”โหวตนายกฯรอบ 2 ตามมติของผู้ตรวจการแผ่นดิน
เมื่อวันที่ 3 ส.ค.66 เวลา 09.30 น. คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้นัดประชุมเพื่อพิจารณาว่าจะรับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินไว้วินิจฉัยหรือไม่ ภายหลังขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 กรณีรัฐสภามีมติไม่เห็นชอบกับการเสนอชื่อ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกลเป็นนายกฯ รอบ 2 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 ก.ค. ที่ผ่านมา ผู้ตรวจการแผ่นดิน มีมติเห็นว่าการดำเนินการให้ความเห็นชอบรายชื่อบุคคลเป็นนายกฯ เป็นการกระทำตามขั้นตอนรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ไม่ใช่กรณีเสนอญัตติ ตามข้อ 41 เพราะการเสนอรายชื่อบุคคลได้รับการให้ความเห็นชอบนายกฯ กำหนดไว้เฉพาะตามรัฐธรรมนูญ และในข้อบังคับเป็นคนละหมวดกัน ดังนั้น การดำเนินการของรัฐสภา ในวันที่ 19 ก.ค. มีการกระทำขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 88 มาตรา 159 และ มาตรา 172 และก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยหากปล่อยให้คัดเลือกเห็นชอบ บุคคลที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ ดำเนินการต่อไป อาจก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรง ยากต่อการเยียวยา จึงมีมติขอให้ศาลกำหนดมาตรการวิธีการชั่วคราว โดยขอให้สั่งชะลอการให้ความเห็นชอบ บุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกฯ ออกไปก่อน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศบริเวณโดยรอบอาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ หรืออาคาร A ที่ตั้ง สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ในวันนี้พบว่าเป็นการรักษาความปลอดภัยปกติ แต่เพิ่มมาตรการฐานรักษาความปลอดภัย นำแผงรั้วเหล็กมากั้นบริเวณหน้าประตูทางเข้าศาล พร้อมตำรวจตั้งจุดคัดกรองรถเข้า-ออก ติดป้ายระบุสิ่งต้องห้ามนำเข้ามาบริเวณศาล ประกอบด้วยอาวุธทุกชนิด รถขยายเสียง เครื่องขยาย รวมถึงป้ายข้อความหรือสัญลักษณ์ ยุยงให้เกิดความไม่สงบ
ขณะที่ด้านในอาคารนั้น เจ้าหน้ารักษาความปลอดภัย ไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกที่ไม่เกี่ยวข้องเข้า-ออก บริเวณพื้นที่ ส่วนสื่อมวลชนทุกคนต้องแลกบัตรสื่อ หรือบัตรประจำตัวจากต้นสังกัดเพื่อแสดงตัวตนและอนุญาตให้นั่งรอภายในห้องพักสื่อมวลชนเพื่มความเรียบร้อย
สำหรับผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเบื้องต้นคาดว่าจะออกมาได้ 3 แนวทาง คือ 1.ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง 2.ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง แต่ไม่มีคำสั่งให้ชะลอการโหวตนายกฯ 3.ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง และมีคำสั่งให้ชะลอการโหวตนายกฯ ไว้ก่อน
ทั้งนี้ หากศาลมีการรับคำร้องไว้พิจารณา และมีคำสั่งให้ชะลอการโหวตนายกรัฐมนตรีไว้ก่อน ก็จะส่งผลให้การนัดประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 3 ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 4 ส.ค.นี้ ถูกเลื่อนออกไป และประธานรัฐสภาก็จะต้องกำหนดวันประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตนายกรัฐมนตรีใหม่อีกครั้ง