“พิเชษฐ์” รับคืนชีพ “รัฐสภาจังหวัด” ปัดจ้องโกงผลาญงบฯ อ้างเพิ่งเริ่มต้น เล็งตั้งงบปี 67-68 ยันช่วยตอบสนองปชช.-ไม่ซ้ำศูนย์ดำรงธรรม โทษผลพวง “คณะรัฐประหาร” เบรคนำร่อง 6 จว.ปี 56 เล่นงาน สส.
เมื่อวันที่ 20 ก.ย.66 เวลา 15.10 น. ที่รัฐสภา นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่2 แถลงชี้แจงกรณีมีกระแสพาดพิงเตรียมผลาญงบฯฟื้นโครงการก่อสร้างรัฐสภาจังหวัดทั่วประเทศว่า การดำเนินการในเรื่องนี้ ยังไม่ถึงการพิจารณาว่าจะไปจังหวัดไหนเลย เป็นเพียงการเริ่มต้น ซึ่งการฟื้นรัฐสภาจังหวัด เป็นเรื่องเดิมที่เคยดำเนินการมาตั้งแต่ยุคนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร เริ่มนำร่องไว้ที่ 6 จังหวัด ช่วงปี2556 แต่ต่อมาทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ภายหลังมีการรัฐประหารปี 2557 ได้มาประเมินแล้วยุติโครงการลง วันนี้สส.ทุกพรรคจึงได้ร่วมกันคิดเริ่มต้นในปีงบประมาณ 2567 – 68 เพื่อให้เกิดผลการตอบสนองต่อประชาชนมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น จากนี้ไปถ้ามีรัฐสภาจังหวัดจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายต่างๆของภาคประชาชนได้รวดเร็วขึ้น
“อยากเรียนไปยังผู้ที่บอกว่าสส.ไม่เห็นด้วย หรือการเตรียมการผลาญงบครั้งใหญ่ ไม่ใช่ ฝ่ายนิติบัญญัติของเราต้องการขยับขยายเพื่อที่ตอบสนองประชาชนมากขึ้น หลังจากเราถูกปฏิวัติรัฐประหารมา2ครั้ง เราจะเริ่มต้นทำให้กระบวนการนิติบัญญัติเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น”นายพิเชษฐ์ กล่าว
เมื่อถามว่า ได้มีการกำหนดแผนงบประมาณในการดำเนินการโครงการรัฐสภาจังหวัดแล้วหรือไม่ นายพิเชษฐ์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้กำหนด เป็นการเริ่มประชุมครั้งแรก แต่หากจะกำหนดงบประมาณของแต่ละจังหวัดในการเริ่มต้น ที่ประชุมคงจะมีการหารือโดยใช้วิธีการสอบถามข้อมูลเดิมที่มีการนำร่อง6จังหวัดที่ผ่านมา ทั้งด้านบุคลากร งบประมาณ เพื่อเป็นพื้นฐานการดำเนินการในจังหวัดอื่นๆต่อไป
เมื่อถามถึงข้อวิจารณ์ที่บอกว่ามีการใช้งบฯจำนวนมากจะทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับความคุ้มค่าหรือไม่ รองประธานสภาฯ คนที่2 กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้มีการพิจารณาว่าจะใช้งบฯจำนวนเท่าใด แต่ในอดีตที่ผ่านมามีการใช้งบฯตามที่รัฐสภาอนุมัติไป ที่บอกว่ามีการทุจริตคอร์รัปชั่น ถ้าเป็นแบบนั้นจริงก็ต้องมีหลักฐานปรากฎออกมาว่ามีปัญหาตรงส่วนไหน งบประมาณใด ซึ่งจากการประเมินของสนช. ที่คณะรัฐประหารตั้งขึ้นมาประเมินฝ่ายสส. ตนคิดว่าอยู่ในอำนาจเผด็จการมากกว่า
เมื่อถามถึงโครงการรัฐสภาจังหวัดอาจไปซ้ำซ้อนกับศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย ที่มีอำนาจหน้าที่รับเรื่องราวร้องทุกข์หรือส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมือง นายพิเชษฐ์ กล่าวว่า ศูนย์ดำรงธรรมเป็นการรับเรื่องร้องเรียนของฝ่ายบริหารคือกระทรวงมหาดไทย ฝ่ายนิติบัญญัติ ก็เป็นส่วนหนึ่ง จริงๆแล้วเราตรวจสอบฝ่ายบริหารด้วยซ้ำ จริงๆแล้วประสิทธิภาพของรัฐสภาถ้าไปอยู่ที่ภูมิภาคหรือจังหวัด เราคิดว่าจะสามารถตรวจสอบฝ่ายบริหารได้มากขึ้น ช่วยแก้ปัญหามากขึ้น ไม่ซ้ำซ้อนศูนย์ดำรงธรรมแน่นอน
ด้านนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญากุล สส.แพร่ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สิ่งที่เคยพิจารณาในช่วงหลังการรัฐประหารจะไม่นำมาพิจารณาเลย เพราะเป็นกรอบความคิดของคณะรัฐประหาร ที่มองสภาฯคนละแบบกัน วันนี้เราต้องการให้รัฐสภาจังหวัดสามารถตรวจสอบติดตามการทำงานฝ่ายบริหาร ส่วนข้อวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการขอใช้พื้นที่ ซึ่งเป็นการใช้งบประมาณจำนวนจำนวนมากนั้น ไม่จริง เราจะขอพื้นที่ของศาลากลางจังหวัด แต่จะต้องดูความพร้อมของแต่ละจังหวัดก่อน โดยจะไม่มีการเช่าสถานที่
“สำหรับโครงสร้างองค์ประกอบของคณะกรรมการฯ ในเบื้องต้นได้กำหนดไว้ 7 คนมาที่จากส่วนกลางจากรัฐสภา ลงไปทำงานควบคู่กับผู้ช่วย สส.ที่มีอยู่ 8 คนต่อ 1 สส. เพราะฉะนั้นกำลังคนจะไม่มีแค่เฉพาะที่เราตั้งไว้ 7 คนเท่านั้น” นายวรวัจน์ กล่าว