วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlight‘สมชาย’บอกนายกฯไม่ต้องรีบตั้ง‘ทักษิณ’ ให้ความเป็นธรรม‘แดง-เหลือง’ก่อนดีกว่า
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘สมชาย’บอกนายกฯไม่ต้องรีบตั้ง‘ทักษิณ’ ให้ความเป็นธรรม‘แดง-เหลือง’ก่อนดีกว่า

“สมชาย” เบรค “เศรษฐา” เล็งตั้ง “ทักษิณ” นั่งที่ปรึกษานายกฯหลังพ้นโทษ บอกอย่าใจด่วนใจเร็ว ควรพิจารณารอบคอบ หวั่นกระทบความเชื่อมั่น รบ. เกิดคลื่นใต้น้ำ เร่งให้ความเป็นธรรมเสื้อแดง-เหลืองดีกว่า แนะขอคำปรึกษาอดีตนายกฯคนอื่นแทน จี้ เร่งต่อยอดงานจากยุคลุงตู่ที่ทำไว้ให้ดีขึ้น

เมื่อวันที่ 22 ก.ย.66 เวลา 09.45 น.ที่รัฐสภา นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) กล่าวถึงกรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.การคลัง ไปให้สัมภาษณ์สำนักข่าวต่างประเทศว่า ถ้านายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯพ้นโทษจะให้นั่งที่ปรึกษานายกฯในรัฐบาลชุดว่า ต้องดูในหลักนิติธรรม เป็นหลัก โดยเฉพาะในการควบคุมนักโทษ จะดำเนินการอย่างไร ให้เป็นกระบวนทางการกฎหมายมีความน่าเชื่อถือ แม้นายทักษิณ จะเคยเป็นอดีตนายกฯ มีคุณงามความดี แต่ก็มีคดีติดตัวถึง 3 คดี ส่วนตัวคิดว่า เพื่อให้เกิดหลักนิติธรรม และ เกิดการสร้างความปรองดองในประเทศ ควรพิจารณาเรื่องนิติธรรมควบคู่ไปกับความเหมาะสม ส่วนตัวมองว่า นายทักษิณ ควรเข้าสู่ระบบนิติธรรมอย่างตรงไปตรงมา รวมถึงเปิดเผยการรักษาตัวที่ รพ.พยาบาลตำรวจ ที่ยังไม่ทราบว่า ทำการรักษาอย่างไร ซึ่งในประเด็นนี้ในวันจันทร์ที่ 25 ก.ย.66 ทางคณะกมธ.พัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งปลัดกระทรวงยุติธรรม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ผู้บัญชาการเรือนจำ และ ผอ.ราชทัณฑ์สถาน ที่ดูแลอาการเจ็บป่วยของนายทักษิณ และ เชิญสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าขั้นตอนการรักษา มีมาตรฐานอย่างไร แต่คงไม่ถึงขั้นก้าวล่วงถามถึงอาการเจ็บป่วยของนายทักษิณ

นายสมชาย กล่าวต่อว่า การที่นายเศรษฐาพูดถึงนายทักษิณ จะแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีนั้น จะต้องผ่านด่านที่ 1 ก่อน อยากให้นายทักษิณเข้าสู่กระบวนการรับโทษ ส่วนเกณฑ์การขอรับโทษเพิ่มเติม ตนคิดว่านายทักษิณได้มากพอสมควรแล้ว ในระยะเวลาที่เหลือนั้นควรดำเนินการให้เป็นแบบอย่าง อีกทั้งตัวนายทักษิณเองก็เคยพูดเสมอว่า อยากเห็นประเทศไทยมีรัฐบุรุษในเรื่องคดีความแบบนี้ ประเทศในโลกซึ่งอดีตผู้นำหลายประเทศ ที่มีคดีทุจริต ก็ต่างเข้าสู่กระบวนการด้วยกันทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นหลักนิติธรรมที่นายเศรษฐาพูด ประการแรกคือต้องทำให้นายทักษิณอยู่ในความน่าเชื่อถือ โดยไม่ได้คืบเอาศอก ไม่ได้ศอกเอาวา ประการต่อมา ถ้านายทักษิณจะเป็นต้นแบบในการปรองดอง ตนเห็นว่ารัฐบาลน่าจะหยุดคดีความเรื่องของความขัดแย้งในอดีตหลังรัฐธรรมนูญปี 40 ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรในปี 2547-48 จนนำไปสู่การรัฐประหารในปี 49 ในคดีการชุมนุมของกลุ่มนปช.ที่มีการบาดเจ็บล้มตาย รวมถึงคดีปิดสนามบิน คดีเผาศาลากลาง คดีอื่นๆถ้าเป็นเหตุเรื่องการเมือง ที่ไม่ทำให้เกิดการเสียชีวิต เพียงแค่มีความเสียหายด้านทรัพย์สิน สิ่งเหล่านี้น่าได้รับการเข้ามาอยู่ในคณะกรรมการปรองดอง ที่พิจารณาออกพ.ร.ก.นิรโทษกรรม ให้กับกลุ่มต่างๆที่มีความขัดแย้งทางการเมือง เว้นแต่คดีมาตรา 112 ซึ่งบุคคลที่จะได้รับอภัยโทษ อาจต้องได้รับพระมหากรุณาธิคุณเอง และต้องสำนึกผิดเอง

“คิดว่าเป็นเรื่องที่นายกฯควรเร่งดำเนินการ ถ้าเป็นได้นายทักษิณอยู่ครบในเรือนจำ 1 ปี เรื่องของการปรองดอง อภัยซึ่งกันและกัน โดยให้ทุกฝ่ายยอมรับกับสังคม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใดก็ตาม ยอมรับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเปลี่ยนผ่าน รวมถึงการอภัยซึ่งกันและกัน ต้นคิดว่าถ้าทำพร้อมกันก็เสร็จ หากปล่อยนายทักษิณออกมาก่อน ภายใน 1 ปี ก็จะทำให้เกิดความสมานฉันท์ที่แท้จริงหากปล่อยนายทักษิณออกมาก่อนแล้วคนอื่นๆยังติดคดี คิดว่าสังคมอาจจะไม่สงบ อาจเกิดคลื่นใต้น้ำ ไปยังรัฐบาลเศรษฐาได้” นายสมชาย กล่าว

นายสมชาย กล่าวอีกว่า การที่นายกฯจะแต่งตั้ง นายทักษิณเป็นที่ปรึกษานายกฯ ส่วนตัวมองว่าไม่มีความจำเป็น เพราะมีอดีตนายกรัฐมนตรีหลายคน ควรพบและขอคำปรึกษาได้ เช่น นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายชวน หลีกภัย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายอานันท์ ปันยารชุน แม้กระทั่งนส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แต่ให้อยู่นอกตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯในรัฐบาลนี้ดีกว่า คิดว่าเร็วเกินไปที่นายเศรษฐาจะมาตอบว่า จะให้นายทักษิณมาเป็นที่ปรึกษารัฐบาล เพราะเรื่องนี้จะกระทบความเชื่อมั่น กระทบเรื่องกระบวนการยุติธรรม ความศรัทธาต่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เป็นไปได้ก็อย่าไปตั้งเลย ขอคำปรึกษาอย่างไม่เป็นทางการดีแล้ว

นายสมชาย กล่าวว่า ขอชื่นชมการทำงานของนายเศรษฐา ที่ไปประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญครั้งที่ 78 ที่สหรัฐฯ หลายเรื่องก็ดี ไปอธิบายให้เวทีสากลทราบ อย่างเช่นคำถามเกี่ยวกับความเป็นกลาง ระหว่างสหรัฐกับจีน ที่เป็นขั้วขัดแย้ง นายเศรษฐาก็ตอบดี แต่วันนี้รัฐบาลของนายเศรษฐา ก็ต้องเดินตามแนวเดิมของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯก็คือการประสานงานทุกฝ่ายไม่เลือกข้างใดข้างหนึ่ง ส่วนการเดินทางไปแล้วให้สัมภาษณ์สื่อ เชื่อว่าก็คงเตรียมความพร้อมไปอยู่แล้ว ซึ่งนายเศรษฐาก็ตอบคำถามได้ดี

“บางเรื่องอย่าไปใจด่วนใจเร็ว ขณะที่อาจจะเคยเป็นในฐานะที่อาจจะเคยเป็น CEO บริษัท ที่สั่งแล้วต้องได้ทุกอย่าง คิดว่าบางเรื่องฟังเสียงติติงก่อนแล้วค่อยพิจารณา อาจจะช้าไปนิดนึง แต่เพื่อให้เกิดความมั่นคง ยั่งยืนกว่า” วันนี้วิกฤต เศรษฐกิจมีอยู่ทั่วโลก ถ้าประเทศไทยประคองไปได้ถือว่าดีมาก คิดว่ารัฐบาลของนายเศรษฐา ได้ผลพวง 8-9 ปีจากรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ที่วางโครงสร้างพื้นฐานไว้ ขอให้รีบต่อยอด เดินหน้าประเทศไทยให้เป็นประเทศที่พัฒนาได้ มีความโปร่งใสซื่อสัตย์สุจริตจะดีกว่า นายสมชายกล่าว

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img