นายกฯ กล่าวถ้อยแถลงในการอภิปรายทั่วไป UNGA78 ไทยมุ่งมั่นดำเนินบทบาทนำอย่างสร้างสรรค์ร่วมกับประชาคมโลก เพื่อส่งเสริมสันติภาพโลก สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 22 ก.ย.66 เวลา 12.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ) ณ โถงประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (General Assembly Hall) ชั้น 2 สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐฯ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถ้อยแถลงในการอภิปรายทั่วไป การประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 ในหัวข้อ Rebuilding trust and reigniting global solidarity: Accelerating Action on the 2030 Agenda and its Sustainable Development Goals towards peace, prosperity, progress and sustainability for all ซึ่งประเทศไทยให้ความสำคัญเรื่อง สันติภาพ มนุษย์ และการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก เพื่ออนาคตร่วมกัน (Investing in peace, people, and planet for our common future)
โดยนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีกล่าวยืนยันถึงบทบาทของไทยในเวทีโลก ซึ่งในขณะนี้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย และกำลังเดินหน้าเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับรัฐธรรมนูญและค่านิยมที่เป็นประชาธิปไตย รวมถึงส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน โดยรัฐบาลมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินบทบาทนำอย่างสร้างสรรค์ร่วมกับพันธมิตรและประชาคมระหว่างประเทศ เพื่อให้เกิดผลประโยชน์และความเจริญรุ่งเรืองแก่ประชาชน ผ่านการส่งเสริมความร่วมมือทางการค้า การลงทุน การเจรจากรอบความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศ (FTA) และไทยพร้อมรับมือกับความท้าทายในระดับโลก ทั้งการเสริมสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืน การส่งเสริมสิทธิมนุษยชน การแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโลก การและพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือในระดับพหุภาคีจากประชาคมระหว่างประเทศ
การเสริมสร้างสันติภาพอย่างยั่งยืน นายกรัฐมนตรีกล่าวชื่นชมความมุ่งมั่นของสหประชาชาติในเรื่องวาระใหม่เพื่อสันติภาพ (New Agenda for Peace) ซึ่งรัฐบาลเชื่อว่าจะเป็นแนวทางสำคัญในการฟื้นฟูความร่วมมือระดับพหุภาคี และส่งเสริมบทบาทของสหประชาชาติในการเสริมสร้างสันติภาพให้กับโลก ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังขอให้ทุกฝ่ายวางรากฐานที่เข้มแข็งให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ประชาชน ผ่านกรอบความร่วมมือพหุภาคีที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งต้องครอบคลุม ยืดหยุ่น และมุ่งเน้นที่ผลลัพธ์ โดยไทยมีความมุ่งมั่นเดินหน้าขับเคลื่อนความร่วมมือกับนานาประเทศบนพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจ ความเข้าใจ และความเคารพซึ่งกันและกัน ในการเผชิญหน้ากับความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อคงไว้ซึ่งสันติภาพโลก
การส่งเสริมสิทธิมนุษยชน นายกรัฐมนตรีกล่าวเน้นย้ำว่า รัฐบาลให้ความสำคัญต่อการเคารพต่อสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิเสรีภาพ โดยดำเนินการเสริมสร้างความเท่าเทียมและความยุติธรรมให้กับประชาชนกลุ่มเปราะบางและคนชายขอบ ผ่านการสร้างความเข้มแข็งให้กฎหมายและเพิ่มความโปร่งใสในรัฐบาล และมุ่งมั่นบังคับใช้กฎหมายอย่างยุติธรรม ครอบคลุม และเสมอภาคกับทุกคน ทั้งนี้ ประเทศไทยในฐานะผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council: HRC) วาระปี ค.ศ. 2025-2027 แสดงความมุ่งมั่นที่จะร่วมส่งเสริมสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศและทั่วโลก ตลอดจนส่งเสริมการทำงานของ HRC ให้มีประสิทธิภาพ สอดรับกับความท้าทาย และสร้างผลลัพธ์เชิงบวกให้กับประชาคมโลก
นายกรัฐมนตรียังกล่าวถึงบทเรียนจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญในการเข้าถึงการบริการทางด้านสาธารณสุข โดยเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานสำคัญที่รัฐบาลของแต่ละประเทศควรมอบให้แก่ประชาชนของตน พร้อมยกตัวอย่างความสำเร็จของไทยในการมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2002 โดยมีบทบาทสำคัญในการป้องกัน รักษา และบรรเทาโรค ให้กับคนไทยทุกช่วงวัย ซึ่งรัฐบาลมีแผนที่จะยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้มีคุณภาพและเพิ่มทางเลือกในการรักษาที่เหมาะสมให้กับผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการบริการทางด้านสาธารณสุขที่มีคุณภาพสูงได้มากยิ่งขึ้น โอกาสนี้ ไทยยังขอให้ทุกประเทศร่วมมือกันเสริมสร้างกลไกความร่วมมือระดับโลกเพื่อป้องกันกับโรคระบาดใหญ่ (pandemic treaty) สำหรับเตรียมรับมือกับโรคระบาดในอนาคต
เรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโลก ไทยยืนยันเจตนารมณ์ในการร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศในการเดินหน้าไปไปสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งแม้ว่าในปัจจุบันการดำเนินการจะสำเร็จคิดเป็นเพียง 12% แต่นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่ากำลังเดินมาถูกทาง โดยทุกฝ่ายต้องร่วมกันผลักดันการปฏิบัติตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม ซึ่งรัฐบาลไทยวางแผนที่จะออกนโยบายที่กระตุ้นการจ้างงานและสนับสนุนเงินทุนแก่ครอบครัวที่มีรายได้ต่ำและประชาชนในกลุ่มเปราะบาง นอกจากนี้ ที่ผ่านมายังมุ่งเน้นการพัฒนาที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางและการเติบโตที่ยั่งยืนด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และนโยบายเศรษฐกิจ BCG ซึ่งส่งเสริมการเติบโตเศรษฐกิจโดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อม
นายกรัฐมนตรีคำนึงถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกซึ่งทวีความรุนแรงขึ้น สอดคล้องกับคำกล่าวของเลขาธิการสหประชาชาติในการเตรียมรับมือการเข้าสู่ยุคโลกเดือด (Global Boiling) พร้อมเน้นย้ำถึงความร่วมมือจากทุกประเทศในการดำเนินการอย่างเร่งด่วน ผ่านกรอบการประชุม Climate Ambition Summit เพื่อเป็นกลไกในการเสริมสร้างความร่วมมือกันซึ่งจะนำไปสู่การลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อมนุษยชาติ โดยผลกระทบที่สำคัญคือ ปัญหาความมั่นคงทางอาหารและการขาดแคลนสารอาหาร ซึ่งประเทศไทยในฐานะประเทศส่งออกอาหารและผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญของโลกก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน รัฐบาลจึงได้ดำเนินการพัฒนาระบบการบริหารจัดการน้ำและการเกษตร เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังสนับสนุนการดำเนินนโยบายการเงินสีเขียว (Green Finance Mechanism) ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) รวมถึง Thailand Green Taxonomy ซึ่งส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเพื่อความยั่งยืน ผ่านการกระตุ้นการกำหนดกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก 40% ภายในปี 2040 มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065 รวมถึงมีแผนการเพิ่มการใช้พลังงานทดแทน พร้อมเดินหน้าเปลี่ยนผ่านระบบคมนาคมไปสู่การใช้พลังงานสะอาด โดยส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ
ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีเชิญชวนทุกฝ่ายให้กระชับความร่วมมือเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน พร้อมแบ่งปันประสบการณ์และการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพื่อสันติภาพ ความมั่งคั่ง ความก้าวหน้าและความยั่งยืนสำหรับทุกคน และหวังว่าการประชุมครั้งสำคัญอย่าง Summit of the Future ในปีหน้า จะเป็นกรอบความร่วมมือพหุภาคีที่สำคัญของสหประชาชาติในการเสริมสร้างสันติภาพและการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้แก่โลก