“ปดิพัทธ์” บอกไร้อำนาจเซ็นรับงานรัฐสภา 100% โยนรักษาการเลขาสภาฯ แก้ปัญหาสร้างผิดแบบ ชี้มี 2 เหตุผลต้องพิจารณา ย้ำต้องสมบูรณ์ถึงจะส่งมอบได้
เมื่อวันที่ 4 ต.ค.66 เวลา 09.45 น. ที่รัฐสภา นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯคนที่หนึ่ง แถลงถึงความคืบหน้าการตรวจรับงานโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ พร้อมอาคารประกอบ 100% ว่า ขณะนี้สำนักงานเลขาธิการสภาฯ ฐานะผู้รับจ้างโครงการยังไม่ได้ลงนามรับงาน 100% ซึ่งต้องติดตามจากว่าที่ ร.ต.ต.อาพัทธ์ สุขะนันนท์ รองเลขาธิการสภาฯในฐานะรักษาการเลขาธิการสภาฯ พิจารณาอีกครั้งว่าจะดำเนินการอย่างไร สำหรับประเด็นที่เป็นข้อบกพร่องที่ไม่อาจตรวจรับงานได้รวม 6 จุดนั้น พบว่า นางพรพิศ เพชรเจริญ อดีตเลขาธิการสภาฯ ไม่ได้แก้ปัญหาดังกล่าว เพราะในรายละเอียดสามารถดำเนินการได้ ทั้งการแก้ไขสัญญาก่อสร้าง หรือ ให้ผู้รับจ้างเป็นผู้แก้ไขให้ถูกต้อง นอกจากประเด็นงานก่อสร้างที่ไม่ตรงตามแบบยังพบประเด็นอื่นๆ เช่น ความปลอดภัย โครงสร้างวิศวกรรม สถาปัตยกรรม รวมถึงความสวยงาม ที่ต้องใช้เหตุผล หากจะยึดให้สมบูรณ์ตามที่ออกแบบเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมาคงไม่ได้ ส่วนการตรวจรับงาน 100% จะเกิดขึ้นช่วงใดนั้น เป็นอำนาจของคณะกรรมการตรวจการจ้างจะพิจารณา ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการตรวจการจ้างยังเป็นคณะทำงานชุดเดิม
นายปดิพัทธ์ กล่าวอีกว่า จากการติดตามข้อมูลพบว่าโครงการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ และอาคารประกอบ ได้ลงนามสัญญา เมื่อ 7 มิ.ย. 56 กำหนดให้แล้วเสร็จภายใน 900 วัน คือ 24 พ.ย. 58 แต่จากปัญหาการส่งมอบพื้นที่ล่าช้า ทำให้ต้องขยายสัญญาจำนวน 4 ครั้ง รวมระยะเวลาที่ขยาย คือ 1,864 วัน โดยไม่คิดค่าปรับ และสัญญาที่ขยายนั้นจะสิ้นสุด 31 ธ.ค. 63 เมื่อผู้รับจ้างส่งมอบงานไม่ทันตามกำหนด 1 ม.ค. 64 จนถึง 18 ก.ย. 66 ได้รับข้อมูลพบว่ามี ระยะก่อสร้างล่าช้า รวม 990 วัน ซึ่งต้องคิดค่าปรับวันละ 12 ล้านบาท ผู้รับจ้างขอใช้สิทธิ์คิดค่าปรับเป็นศูนย์ ใน 2 เหตุผล คือ 1. มาตรการที่มติคณะรัฐมนตรีให้เยียวยาช่วยเหลือผู้ประกอบการช่วงแพร่ระบาดของสถานการณ์โควิด-19 จำนวน 827 วัน โดยสำนักงานเลขาธิการได้นำมาปรับใช้และแก้ไขสัญญาแล้ว รวมเป็นมูลค่า กว่า 1.1 หมื่นล้านบาท และ 2.มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ หลังจากรัฐบาลขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ซึ่งเสนอให้ปรับลด หรืองดค่าปรับรวม 150 วัน แต่ไม่ทราบว่าแก้ไขสัญญาการก่อสร้างหรือไม่ หากแก้ไขแล้วจะมีมูลค่ารวม 1,182 ล้านบาท
“หลังจากนี้ต้องติดตามจากรักษาการเลขาธิการสภาน ต่อไปว่าจะดำเนินการอย่างไร ซึ่งกระบวนการตรวจรับงานจะไม่สะดุด เพราะกรรมการตรวจรับยังเป็นชุดเดิม และอำนาจของรักษาการเลขาธิการสภาฯ สามารถเดินหน้าได้ ผมไม่ใช่คนมีอำนาจลงนามรับ เพราะเป็นหน้าที่ของ ผู้จ้าง คือ สำนักงานเลขาธิการสภาฯ และผู้รับจ้าง ผมอยากให้การตรวจรับเป็นไปโดยเร็ว เพื่อประชาชนและเจ้าหน้าที่ใช้ประโยชน์กับอาคารเต็มศักยภาพ ขับเคลื่อนมีรัฐสภาโปร่งใสต้องเริ่มจากเรื่องดังกล่าว” นายปดิพัทธ์ กล่าว