ศาลอาญาสั่งจำคุก “เพนกวิน” 1 เดือน ฐานประพฤติตนไม่เรียบร้อยภายในห้องพิจารณา แต่ให้การรับสารภาพลดโทษเหลือจำคุก 15 วัน
เมื่อวันที่ 22 มี.ค.ศาลอาญาอ่านคำสั่งไต่สวน นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน ในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ที่ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญา กล่าวหา นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน จำเลยคดี ม.112 และความผิดฐานชุมนุมโดยฝ่าฝืนกฎหมาย เป็นผู้ถูกกล่าวหาคดีละเมิดอำนาจศาล
กรณีเมื่อวันที่15 มี.ค.2564 ที่ศาลอาญาได้นัดตรวจพยานหลักฐานคดีชุมนุมที่ท้องสนามหลวงวันที่ 19-20 ก.ย.2563 และอัยการขอให้รวมสำนวนคดี ปรากฎว่า มีรายงานว่านายพริษฐ์ ปฎิบัติตัวไม่เรียบร้อยโต้ตอบผู้พิพากษาในขณะปฎิบัติหน้าที่ ขออ่านแถลงการณ์แม้ถูกคัดค้านก็ไม่ยอมฟัง ยังยืนยันอ่านแถลงการณ์โดยลุกขึ้นยืนบนเก้าอี้ จนเกิดเหตุการณ์วุ่นวายมีคนเขวี้ยงขวดนำลงพื้น
โดยศาลได้อ่านข้อกล่าวหาของ ผอ.ศาล ให้นายพริษฐ์ ฟังจนเป็นที่เข้าใจ ประกอบกับมีหลักฐานเป็นภาพจากกล้องวงจรปิดบันทึกเหตุการณ์วันเกิดเหตุในห้องพิจารณาคดี และได้สอบถามพริษฐ์ จะให้การว่าอย่างไร ซึ่งนายพริษฐ์ได้ขอเวลาระบายความอึดอัดใจไปพร้อมกับการแถลง โดยศาลอนุญาตให้นายพริษฐ์แถลงได้ภายในเวลา 5 นาที
นายพริษฐ์ แถลงต่อว่า ตัวเองถูกปฎิเสธสิทธิในการประกันตัว ทั้งที่ยังไม่ถูกตัดสินคดีใดๆ โดยศาลให้เหตุผลว่ากลัวกลับไปกระทำผิดซ้ำ ทั้งที่ยังไม่มีการตัดสินว่าการกระทำของตนเองเป็นความผิดแต่อย่างใด ทั้งยังบอกว่าตนเองไม่ควรได้สิทธิประกันตัว เพราะไปเหยียบย่ำหัวใจคนไทยเท่ากับว่าศาลได้ตัดสินให้มีความผิดแล้ว จึงเป็นการขัด รธน.ผู้ที่ยังไม่ถูกพิพากษาถือเป็นผู้บริสุทธิ์ ต้องไม่ถูกปฎิบัติแบบนักโทษ ไม่คำนึงถึงการใช้ชีวิตของตนเอง ที่ยังเป็นนักศึกษา ไม่สามารถไปเล่าเรียนได้ตามปกติ ต้องเข้าห้องสมุดหาหนังสือวรรณกรรมชั้นเลิศอ่าน ทั้งนี้ขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาคดี ถ้าหากตนเองจะถูกลงโทษก็ไม่เสียใจเพราะยังไงตอนนี้ก็ถูกคุมขังในเรือนจำอยู่แล้ว
จากนั้นศาลได้สอบถามนายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความว่าอยู่ในห้องพิจารณาวันเกิดเหตุด้วยหรือไม่ โดยนายกฤษฎางค์ ตอบว่า วันนั้นมีจำเลยที่ได้รับความเดือดร้อนหลายคนแย่งกันพูดหลายรอบหลายหน ในส่วนของนายเพนกวิน ไม่ได้เกลียดชังศาล แต่ต้องการอธิบายเหตุผลและความอึดอัดใจที่ไม่ได้รับประกันตัว
จากนั้นศาลได้เปิดภาพจากกล้องวงจรปิดบันทึกภาพในห้องพิจารณาคดีขณะเกิดเหตุ แต่นายเพนกวิน ก้มหน้าเขียนจดหมาย โดยขอกระดาษจากผู้สื่อข่าวในห้อง แต่ถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ตรวจสอบก่อนว่าเป็นกระดาษเปล่าจึงอนุญาตให้เพนกวินนำไปเขียน ก่อนยื่นให้กับทนายความจำนวน 3 แผ่น อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ได้ขอตรวจสอบเนื้อหาในจดหมาย แต่ทนายความไม่อนุญาต
ภายหลังเปิดภาพกล้องวงจรปิดได้ราวๆ 5 นาที ทนายความได้ไปปรึกษาคดีกับเพนกวิน จากนั้นทนายความได้แถลงต่อศาลบอกว่า นายเพนกวินยอมรับว่ามีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริง แต่เกิดจากสิ่งอัดอั้นที่อยู่ในใจเรื่องไม่ได้รับการประกันตัว
จากนั้นศาลได้อ่านคำสั่ง พิเคราะห์พยานหลักฐานประกอบสำนวนการไต่สวนแล้ว เห็นว่า นายพริษฐ์ ผู้ถูกกล่าวหาได้พูดตอบโต้กับผู้พิพากษาในระหว่างพิจารณาและขออ่านคำแถลงการณ์ที่เตรียมมา ผู้พิพากษาจึงได้อธิบายสิทธิของจำเลยและการประพฤติตนในห้องพิจารณาคดีให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบ แต่ผู้ถูกกล่าวหายังคงยืนยันที่จะอ่านคำแถลงการณ์ที่เตรียมมา
มีคำสั่งให้ลงโทษ จำคุกผู้ถูกกล่าวหามีกำหนด 1 เดือน ผู้ถูกกล่าวหาให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษกึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 15 วัน เมื่อพิจารณาถึงอายุ การศึกษาอบรม สภาพความผิด และความรู้สำนึกในการกระทำความผิดของผู้ถูกกล่าวหาแล้ว ประกอบกับโทษจำคุกที่จะลงแก่ผู้ถูกกล่าวหามีกำหนดไม่เกิน 3 เดือน และไม่ปรากฏว่า ผู้ถูกกล่าวหาเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรให้ลงโทษกักขังแทนโทษจำคุกมีกำหนด 15 วัน นับแต่วันนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23
อย่างไรก็ตาม นายกฤษฎางค์ ให้สัมภาษณ์ถึงการบังคับใช้โทษกักขัง 15 วัน คดีละเมิดอำนาจศาลของเพนกวิน ว่า โทษนับจากวันนี้ แต่มีโอกาสที่จะอุทธรณ์ภายใน 30 วัน โทษกักขังซึ่งอยู่ในเรือนจำอยู่แล้ว นับไป 15 วัน ซ้อนกับคดีนี้ (คดี ป.อาญา ม.112) สมมติถ้าคดีนี้ได้ประกันตัว ก็ยังต้องติดคดีละเมิดอำนาจศาลให้ครบ 15 วัน การกักขังและการจำคุกแตกต่างกันที่โทษกักขังไม่ใช่โทษจำคุก อาจจะกักขังที่บ้านหรือสถานที่ที่ไม่ใช่เรือนจำก็ได้ ในกรณีที่ไม่ได้อยู่ในเรือนจำ แต่กรณีนี้อยู่ในเรือนจำ ก็คือกักขังที่เรือนจำ และไม่นับเป็นโทษจำคุก หากกรณีมีกฎหมายห้ามบุคคลถูกคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก การถูกกักขังยังสามารถใช้สิทธิในการทำอะไรต่อไปได้