ที่ปรึกษาของนายกฯร่ายยาวย้ำรัฐบาลตรากฎหมายพิเศษเพื่อกู้เงินและจ่ายเงินแผ่นดินตามพ.ร.บ. วินัยการเงิน ฯ ได้ ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 140
เมื่อวันที่ 11 พ.ย.66 นายพิชิต ชื่นบาน ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงในอดีตที่ผ่านมามีการตรากฎหมายเฉพาะเพื่อกู้เงินทั้งในรูปแบบพระราชบัญญัติ พระราชกำหนด และคณะปฏิวัติ มากกว่า 30 ฉบับ โดยกฎหมายเฉพาะที่ตราขึ้นต่างมีวัตถุประสงค์เพื่อการกู้เงินที่แตกต่างกันออกไปกันขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของเศรษฐกิจและสังคมทั้งภายในและภายนอกในขณะเวลาที่ตรากฎหมายนั้น ต่อมาภายหลังศาลรัฐธรรมนูญได้คำวินิจฉัยที่ 3-4/2557 ว่า “เงินแผ่นดิน” คือ เงินทุกอย่างของรัฐไม่ว่าจะเป็นเงินงบประมาณ เงินนอกงบประมาณ เงินกู้ เงินอุดหนุน เงินบริจาค ฯลฯ
การจ่ายเงินแผ่นดินจะกระทำได้เฉพาะตามที่กำหนดไว้ในกฎหมาย 4 ฉบับ ได้แก่ กฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กฎหมายเกี่ยวด้วยการโอนงบประมาณหรือกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 169 กำหนดไว้เท่านั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 140 จึงได้กำหนดหลักการสำคัญใหม่ให้สามารถจ่ายเงินแผ่นดินได้ตามกฎหมายอีกฉบับหนึ่งเพิ่มเติมขึ้นมา คือ กฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ซึ่งได้มีการตราพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายเมื่อวันที่ 20เมษายน พ.ศ. 2561
ทั้งนี้ พ.ร.บ. วินัยการเงิน ฯ ดังกล่าว ได้กำหนดหลักการเกี่ยวกับวินัยการเงินการคลังและช่วยให้หน่วยงานของรัฐมีการรักษาวินัยการเงินการคลังและดำเนินนโยบายด้านการคลังตามกรอบที่กฎหมายกำหนดไว้ รวมทั้งกำหนดหลักการให้รัฐบาลสามารถตรากฎหมายพิเศษเพื่อกู้เงินได้ โดยเงินที่กู้กระทรวงการคลังจะเก็บไว้เพื่อจ่ายออกไปตามโครงการเงินกู้ ไม่ต้องนำส่งคลังเพื่อเข้าบัญชีเงินคงคลัง ทำให้ปัจจุบันรัฐบาลสามารถตรากฎหมายพิเศษเพื่อกู้เงินและจ่ายเงินแผ่นดินตามพ.ร.บ. วินัยการเงิน ฯ ได้ โดยไม่ถือว่าเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 140 แต่อย่างใด
การตรากฎหมายพิเศษเพื่อกู้เงินตาม พ.ร.บ. วินัยการเงิน ฯ มาตรา 53 นั้น วรรคคหนึ่ง บัญญัติว่า “การกู้เงินของรัฐบาลนอกเหนือจากที่บัญญัติไว้ในกฎหมายว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ ให้กระทรวงการคลังกระทำได้ก็แต่โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายที่ตราขึ้นเป็นการเฉพาะ และเฉพาะกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน”
วรรคสอง บัญญัติว่า “กฎหมายที่ตราขึ้นตามวรรคหนึ่ง ต้องระบุวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน ระยะเวลาในการกู้เงิน แผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ วงเงินที่อนุญาตให้ใช้จ่ายเงินกู้ และหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินแผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้นั้น”
และวรรคสาม บัญญัติว่า “เงินที่ได้รับจากการกู้เงินตามวรรคหนึ่ง ให้กระทรวงการคลังเก็บรักษาไว้เพื่อให้หน่วยงานของรัฐเบิกไปใช้จ่ายตามแผนงานหรือโครงการตามที่กฎหมายกำหนดได้โดยไม่ต้องนำส่งคลัง เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น”
จากบทบัญญัติในมาตรา 53 เห็นได้ว่า กรอบและเงื่อนไขในการออกกฎหมายเพื่อการกู้เงินของรัฐบาลมีได้ในกรณีที่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศ
โดยไม่อาจตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ทัน โดยต้องระบุวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน ระยะเวลาในการกู้เงิน แผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ วงเงินที่อนุญาตให้ใช้จ่ายเงินกู้ และหน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินแผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้
ส่วนรูปแบบของกฎหมายเฉพาะเพื่อกู้เงินตามมาตรา 53 สามารถกระทำได้ 2 รูปแบบ คือ “รูปแบบของพระราชบัญญัติ” หรือ “รูปแบบของพระราชกำหนด” หาใช่กระทำได้เฉพาะในรูปแบบของพระราชกำหนดเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะถ้อยคำใน พ.ร.บ. วินัยการเงินฯ มาตรา 53 วรรคหนึ่ง กำหนดเพียงว่า
“มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ”
ซึ่งถ้อยคำนี้มีความแตกต่างกับเงื่อนไขในการตราพระราชกำหนดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 วรรคสอง
ที่กำหนดว่า “เป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้”
ดังนั้น ความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องตามความหมายในพ.ร.บ. วินัยการเงินฯ มาตรา 53 จึงไม่ต้องถึงขนาดที่จะต้องเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 วรรคสอง แต่อย่างใด
เพราะหากถึงขนาดที่เป็นกรณีฉุกเฉิน รัฐบาลย่อมสามารถออกกฎหมายเพื่อกู้เงินโดยตราพระราชกำหนดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 ได้อยู่แล้ว ด้วยเหตุนี้หากรัฐบาลพิจารณาแล้วเห็นว่า สถานการณ์ในปัจจุบันมีปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจของประเทศที่ความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วนและอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติของประเทศ และโครงการเติมเงิน10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet จะส่งผลให้มีการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นผ่านการบริโภคและการลงทุน รวมทั้งจะเป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเพื่อนำไปสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต รัฐบาลย่อมสามารถตรากฎหมายเฉพาะเพื่อกู้เงิน โดยรูปแบบของพระราชบัญญัติได้ตามพ.ร.บ. วินัยการเงินฯ มาตรา 53 และไม่ถือว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 140 และมาตรา 62 ประการใด
การที่รัฐบาลได้เลือกรูปแบบของกฎหมายเพื่อกู้เงินโดยออกเป็นพระราชบัญญัติแทนที่จะออกเป็น
พระราชกำหนดนั้น รัฐบาลมีเจตนาที่จะให้กระบวนการตราพระราชบัญญัติเพื่อกู้เงินนี้ ได้โดยผ่านการตรวจสอบ ถ่วงดุลตามกลไกของรัฐสภา เพื่อให้รัฐสภาซึ่งเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยได้ร่วมกันพิจารณาทบทวนเหตุผลความจำเป็น วัตถุประสงค์ ระยะเวลา และแผนงานหรือโครงการ ฯ อีกครั้งหนึ่ง อันเป็นกระบวนการตรวจสอบตามครรลองในวิถีทางของประชาธิปไตย และยังเปิดโอกาสให้สมาชิกรัฐสภาที่อาจมีความเห็นในประเด็นต่าง ๆ สามารถส่งเสนอความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตรวจสอบร่างพระราชบัญญัติกู้เงินว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ ได้อีกทางหนึ่ง ทั้งหมดนี้ย่อมเป็นที่ประจักษ์ว่าเป็นการดำเนินโครงการเติมเงิน10,000 บาท ผ่านDigital Wallet ได้กระทำบนพื้นฐานโดยสุจริตและมิได้ใช้ดุลพินิจบิดเบือนหลักการของรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด รวมทั้งไม่มีเจตนาซ่อนเร้นหรือแอบแฝงเพื่อหาทางลงตามที่มีหลายฝ่ายวิจารณ์แต่ประการใด เพราะรัฐบาลเห็นว่าโครงการฯ ดังกล่าวมีความสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และสามารถช่วยเหลือประชาชนครอบคลุมมากกว่า 50 ล้านคน
ทั้งนี้ เราต้องไม่ลืมว่า ยังมีประชาชนอีกมากมายที่ยังคงเฝ้ารอโครงการเติมเงิน10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet อยู่ เพราะเงินจำนวนดังกล่าวสามารถแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันได้มาก ยกตัวอย่างครอบครัว ที่มีพ่อ แม่ และลูก เข้าเงื่อนไขรับเงิน 10,000 บาท แสดงว่าครอบครัวนี้สามารถมีเงินมาหมุนเวียนในชีวิตประจำวัน ถึง 30,000 บาท ซึ่งช่วยให้ประชาชนสามารถคิด วางแผน เพื่อนำไปต่อยอดในการประกอบอาชีพ หรือหารายได้เพิ่มเติมได้อีกช่องทางหนึ่ง
ส่วนประเด็นที่นักวิชาการวิจารณ์ว่า โครงการ ฯ ดังกล่าวไม่ตรงปก เพราะเป็นการกู้มาแจก 100% ไม่เหมือนตอนยื่นนโยบายต่อ กกต. ที่บอกจะนำเงินมาจากงบประมาณแผ่นดิน นั้น ขออธิบายว่าในประเด็นนี้เมื่อครั้งที่พรรคเพื่อไทย ได้มีการชี้แจง กกต. ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2660 มาตรา 57 พรรคเพื่อไทยได้มีการระบุเงื่อนไขว่าอย่างชัดเจนว่า “ที่มาของวงเงินที่จะใช้ในการดำเนินการสามารถปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมตามสถานการณ์ด้านการคลังของประเทศ” เมื่อวันนี้ รัฐบาลได้หาข้อสรุปจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนแล้ว เห็นว่าในการกระตุ้นและสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจต้องมีการเติมเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจมูลค่า 6 แสนล้านบาท โดยจะต้องออกเป็น พ.ร.บ. กู้เงิน จำนวน 5 แสนล้านบาท และมาจากเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 จำนวน 1 แสนล้านบาท จึงเป็นการปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมตามสถานการณ์ด้านการคลังของประเทศตามที่ได้แจ้งต่อ กกต. แล้ว
อยากฝากประเด็นให้คิดว่าการออก พ.ร.บ.กู้เงินในครั้งนี้ เป็นการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นการวางโครงสร้างพื้นฐานเพื่อนำประเทศไปสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล แม้อาจมีหลายฝ่ายมีข้อกังวลเกี่ยวกับการออก พ.ร.บ. กู้เงิน ว่าอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่การตีความกฎหมายนั้น
ดังสุภาษิตที่ว่า “สองคนยลตามช่อง คนหนึ่งมองเห็นโคลนตม คนหนึ่งตาแหลมคม มองเห็นดาวอยู่พราวพราย” จึงเป็นเรื่องสองคนย่อมเห็นต่างกันได้อย่างสร้างสรรค์ แต่ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติและที่สำคัญประชาชนรอความหวังกับโครงการนี้อยู่ ตนเห็นข่าวยายอายุ 71 ปี ที่กระโดดลงไปในน้ำเพื่อตามธนบัตรใบหนึ่งพันบาทเพียงใบเดียว สุดท้ายตกลงไปในน้ำโดยไม่ห่วงชีวิต จึงอยากสะท้อนให้เห็นปัญหาความเหลื่อมล้ำของประเทศที่หากเรามองปัญหามาจากหอคอยงาช้างย่อมไม่อาจเห็นปัญหาที่อยู่จุดข้างล่างได้ ท้ายสุดหากเรื่องนี้ไปอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นนี้เอง อย่างไรก็ตามเมื่อวิกฤติปัญหาเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังเผชิญอยู่ในวันนี้ และมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดปัญหาอีกหลายประการตามมา รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน จึงมีหน้าที่ที่จึงต้องรีบดำเนินการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นเสียก่อน เพราะทุกปัญหาย่อมมีไว้ให้แก้ แต่ผู้นำที่ดีย่อมแก้ก่อนมีปัญหา