“เพื่อไทย” ชี้เป็นเรื่องปกติคนเห็นต่าง เชื่อแนวทาง “เศรษฐกิจ” แถลงเป็นช่องทางทำให้สำเร็จ มั่นใจพรรคร่วมรบ.ผ่านพ.ร.บ.เงินกู้ สภาฯ ทำใจส่งศาลรธน.ชี้ขาด
เมื่อวันที่ 12 พ.ย.2566 นายศรัณย์ ทิมสุวรรณ สส.เลย และรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย(พท.) กล่าวถึงเสียงคัดค้านการกู้เงินมาแจกเงินดิจิทัลที่จะมีผลกระทบตามมามากกว่าการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจว่า ตนคิดว่าไม่ว่าจะทำนโยบายอะไรก็ต้องมีการคัดค้าน การที่มีคนคัดค้านเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว เพราะคนเห็นไม่ตรงกัน เพียงแค่เราต้องชั่งตวงว่า เสียงคัดค้านนั้น เขาเป็นห่วงเรื่องอะไร แล้วเราดูเรื่องนั้นแล้วหรือไม่ หากเราดูเรื่องนั้นแล้ว ผลสรุปเรากับเขาอาจจะมองไม่เหมือนกัน เช่น บางคนอาจจะคิดว่าทำเช่นนี้แล้วไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เยอะ หรือทำเช่นนี้แล้วจะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เยอะ
“ทุกคนเห็นไม่ตรงกันทุกเรื่องอยู่แล้ว แต่เมื่อเรารับฟังแล้วว่าแต่ละคนมีความเป็นห่วงเรื่องอะไรบ้าง สุดท้ายช่องทางที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯและรมว.การคลัง แถลงไป จะเป็นช่องทางที่ทำออกมาให้สำเร็จได้”
นายศรัณย์ กล่าวว่า เดิมทีเรื่องแหล่งที่มาของเงินเราดูไว้หลายที่ แต่ด้วยปัญหาหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ที่เลื่อนไปช้ากว่าปกติ กว่าจะออกก็เป็นช่วงเดือนเม.ย. หรือเดือน พ.ค.เลย ทำให้ช่องทางที่เรามองไว้ตอนแรกที่ทำนโยบายถูกตัดให้เหลือน้อยลง หากจะรอให้มีงบประมาณออกมาแล้วทำ ก็จะยิ่งช้าไป ซึ่งคนที่เขาศึกษาเรื่องนี้ เขาก็แนะนำว่า ในสภาพเศรษฐกิจตอนนี้ แล้วรอให้ถึงตอนนั้น ผลของการกระตุ้นจะยิ่งน้อยลง แล้วจะมีความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจอื่นๆ
เมื่อถามว่า มีความมั่นใจหรือไม่ว่าถ้าออกเป็นพ.ร.บ.เงินกู้แล้วจะได้รับเสียงสนับสนุนจากสภาฯ โดยเฉพาะพรรคร่วมรัฐบาล นายศรัณย์กล่าวว่า คิดว่าทำได้ และเชื่อว่าคงต้องมีคนที่ตั้งคำถาม แต่เราก็ต้องสามารถที่จะชี้แจง และอธิบายเหตุผลได้ เพราะเราก็หาเหตุผลไว้แล้ว หากเราไม่ทำ เรากระตุ้นช้าไป มันจะเกิดอะไรขึ้น และจะเป็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นมากกว่าการที่เราไม่ทำอะไรเลย
เมื่อถามต่อว่า มีความกังวลหรือไม่ว่า จะมีผู้ไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญ นายศรัณย์ กล่าวว่า “ผมคิดว่าหากเขาจะยื่น เขาก็คงยื่น และเราคงไม่สามารถห้ามเขาได้ แต่ก็มั่นใจว่าเราสามารถชี้แจงได้“
เมื่อถามว่าหากสุดท้ายแล้วนโยบายนี้ต้องสะดุดจะมีผลกระทบอย่างไรหรือไม่ นายศรัณย์ กล่าวว่า ผลกระทบมีอยู่แล้วแน่นอน แต่จะเป็นผลกระทบ ต่อระบบเศรษฐกิจ ต่อประชาชนมากกว่าหรือไม่ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่เราคำนึงถึงว่า หากเราไม่ทำอะไรเลย สุดท้ายหากเราไม่ได้เกิดการกระตุ้น แล้วเศรษฐกิจในปีนี้ที่จะมีความเกี่ยวพันไปจนถึงปีหน้า รวมถึงเรื่องงบประมาณที่ใช้อยู่แล้ว จะทำให้เศรษฐกิจของเราออกไปในรูปแบบไหน การลงทุนที่เราพยายามดึงเข้ามาจะช้าไปด้วยหรือไม่