“วันนอร์” ยันสภาฯพร้อมพิจารณางบฯ 67 วาระแรก โชว์ผลงานสภา 5 เดือน ผลักดันร่างกม.ของภาคประชาชน เล่าประสบการณ์ 44 ปีในสภา มองเห็นวิวัฒนาการมากมาย ชื่นชมสส.รุ่นใหม่ ไร้อภิปรายน้ำท่วมทุ่ง เห็นความใส่ใจประชาชนเต็มที่
เมื่อวันที่ 29 ธ.ค.66 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภาและประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงบทบาทของสภาผู้แทนราษฎรว่า ตนอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรนี้มา 44 ปี ได้เห็นการพัฒนาของรัฐสภามาโดยตลอด กระทั่งการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร ปี 2566 ก็ได้เห็นการพัฒนาไปมาก มีทั้งสส.คนรุ่นใหม่และสส.คนรุ่นเก่า หากสังเกตให้ดีจะเห็นการอภิปรายของสมาชิกที่อภิปรายมีสาระ มีเนื้อหาครบถ้วน มีการแสดงวิดีทัศน์ภาพของจริงมานำเสนอและเข้าใจง่าย ไม่ใช่น้ำท่วมทุ่งเหมือนในอดีตที่ผ่านมา ถือเป็นการวิวัฒนาการการทำงานของสส.ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล นอกจากนี้จะเห็นได้ว่า ปัจจุบันฝ่ายรัฐบาลมีการเอาใจใส่ในการทำงานของรัฐสภามากขึ้น มีกระทู้ถามสด กระทู้ถามทั่วไป หรือกระทู้ถามเฉพาะ จะมีรัฐมนตรีมาตอบเกือบทุกครั้ง อาจมีบางครั้งที่รัฐมนตรีติดภารกิจไม่สามารถมาตอบได้ ก็จะมีการแจ้งล่วงหน้าทุกครั้งว่าจะสามารถมาตอบกระทู้ได้เมื่อใด
ประธานสภาฯ กล่าวว่า ส่วนผลงานของสภาฯชุดนี้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค. 2566 เราจะเห็นว่าสมัยประชุมที่ผ่านมายังไม่มีร่างกฎหมายที่ค้างการพิจารณาไวและรัฐบาลชุดนี้ก็ยังไม่เสนอกฎหมายเข้ามา ส่วนกฎหมายที่เสนอโดยสส.และภาคประชาชนก็ต้องมีการทำประชาพิจารณ์จากประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และถ้าเป็นกฎหมายเกี่ยวด้วยการเงินก็ต้องผ่านการรับรองจากนายกฯ ดังนั้นเมื่อเปิดสมัยประชุมนี้ ตนจึงได้นำกฎหมายเหล่านั้นมาบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระ โดยเฉพาร่าง พ.ร.บ.สภาชนเผ่าพื้นเมืองฯที่เสนอโดยภาคประชาชน และเพิ่งผ่านสภารับหลักการไป หากผ่านสภาได้เป็นผลงานที่เชื่อว่าจะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อการส่งเสริมและคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ขณะเดียวกันก็ยังมีร่างกฎหมายอีกหลายฉบับและญัตติที่เป็นประโยชน์กับประชาชขนก็จะผลักดันในสมัยประชุมนี้ด้วย
นายวันนอร์ กล่าวว่า สภาชุดนี้ยังให้ความสำคัญต่อปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างมาก พบว่ามีสส.วันละ 40 คนเป็นกระบอกเสียงที่นำปัญหาของประชาชนมาหาทางออกผ่านเวทีสภาในทุกเช้าวันพุธ-พฤหัสบดี หรือประมาณวันละ 40 เรื่อง แต่บางคนก็นำปัญหามาแจ้ง 3-4 เรื่อง เพื่อส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยแก้ไขปัญหา อย่างไรก็ตามวันที่ 3-5 ม.ค.2567 สภาก็มีวาระสำคัญในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 จึงอยากให้ประชาชนให้ความสำคัญว่าแต่ละกระทรวงใช้งบประมาณเท่าใด เมื่อรับหลักการวาระแรกแล้วก็ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อไปพิจารณาในวาระสอง ก่อนจะเสนอกลับมายังรัฐสภาในวาระที่สาม ไม่เกิน 105 วันทำการ หรืออาจใช้เวลาเพียง 90 วัน ยืนยันว่าสภาฯจะพยายามปฏิรูประบบรัฐสภาใหม่ เพื่อให้มีการพัฒนาและมีส่วนร่วมกับประชาชนมากขึ้นให้สมกับเป็นรัฐสภาเป็นของประชาชนทุกคน