“ฝ่ายค้าน“ลับมีดรอชำแหละร่างพ.ร.บ.งบ 67 เมินฝ่ายรัฐบาลสั่งห้ามแตะ “ทักษิณ” ยันถ้ามีวาระเกี่ยวข้องก็ต้องพูดถึง พร้อมแบ่งเวลาให้พรรคเล็กร่วมอภิปรายด้วย “ปกรณ์วุฒิ”ซัดรัฐบาลจัดงบประมาณไม่ตอบโจทย์แก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ
เมื่อวันที่ 2 ม.ค.67 เวลา 10.30น. ที่รัฐสภา นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน(วิปฝ่ายค้าน) กล่าวว่า ในการประชุมวิปฝ่ายค้านวันที่ 2ม.ค.2567 เชิญ 3หน่วยงานได้แก่ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สภาพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจแห่งชาติ(สศช.)ชี้แจงถึงร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2567 มีสาระสำคัญอย่างไร และมีเหตุผลการปรับเปลี่ยนงบประมาณด้านต่างๆอย่างไร ส่วนที่ฝ่ายรัฐบาลขอให้การอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณครั้งนี้ไม่ให้โยงถึงนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีนั้น คิดว่าไม่เกี่ยวข้องอะไร สส.ทุกคนทราบอยู่แล้วว่า วาระที่จำเป็นและเกี่ยวข้องก็ต้องค่อยพูดถึง ถ้าวาระที่ไม่เกี่ยวข้องก็ไม่มีความจำเป็นต้องเอ่ยถึงบุคคลภายนอก
ผู้สื่อข่าวถามว่า ฝ่ายค้านจะแบ่งเวลาอภิปรายงบประมาณให้พรรคเล็กอย่างไร เพราะการประชุมวันนี้มีตัวแทนพรรคประชาธิปไตยใหม่เข้าร่วมด้วย ทั้งที่ไม่เคยมาร่วม นายปกรณ์วุฒิกล่าวว่า เรื่องการแบ่งเวลาคุยกันเรียบร้อยแล้ว มีการแบ่งเวลาให้พรรคเล็กด้วย แม้สัปดาห์ที่แล้วไม่มีการประชุมวิปฝ่ายค้านแต่ได้โทรศัพท์แจ้งพรรคการเมืองต่างๆถึงการแบ่งเวลาแล้ว พรรคประชาธิปัตย์ ได้ 200นาที พรรคไทยสร้างไทย 1ชั่วโมง พรรคเป็นธรรม 20นาที ส่วนพรรคเล็ก อย่างพรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคใหม่ ได้เวลาพรรคละ 10นาที
ส่วนการจัดหมวดหมู่อภิปรายนั้น นายปรกรณ์วุฒฺ กล่าวว่า พรรคกก้าวไกลประกาศไปแล้วว่า ตรีมการอภิปรายคือวิกฤติแบบใด ทำไมจัดงบแบบนี้ เพราะรัฐบาลบอกตลอดเวลาว่า ประเทศไทยอยู่ในวิกฤติต้องกู้เงินมาทำโครงการต่างๆ การทำดิจิทัลวอลเล็ต แต่สุดท้ายการกระทำจะสะท้อนออกมาผ่านการจัดทำงบประมาณว่า รัฐบาลมองประเทศมีวิกฤติจริงหรือไม่ เท่าที่ดูยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงในการจัดสรรงบประมาณเปลี่ยนไปจากรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มากเท่าไร เราเข้าใจดีว่า รัฐบาลเพิ่งมาบริหารประเทศได้ไม่กี่เดือน แต่ต้องบอกว่า ตอนที่รัฐบาลรับตำแหน่ง ร่างพ.ร.บ.งบปี67พร้อมเข้าสภาอยู่แล้ว แต่เมื่อล่าช้ามาขนาดนี้ เราจึงคาดหวังเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญว่า เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลแล้ว และทิศทางการหาเสียงแตกต่างจากรัฐบาลที่แล้วพอสมควร ดังนั้นทิศทางการใช้งบประมาณ ต้องเห็นความแตกต่างจากรัฐบาลที่แล้ว แต่ไม่เห็นว่าจะแตกต่างมากมายแค่ไหน
เมื่อถามว่า ช่วงหยุดปีใหม่ ฝ่ายค้านได้ศึกษาร่างพ.ร.บ.งบประมาณ เห็นความผิดปกติอย่างไรบ้าง นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า ความผิดปกติคือ ความปกติเพราะจัดงบเหมือนปกติ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ไม่แน่ใจว่า 3เดือนที่ผ่านมากว่าร่างพ.ร.บ.งบปี67จะเข้าสภาฯ และกว่าจะบังคับใช้ได้ มีความล่าช้าไปครึ่งปี ก็เหมือนปกติ แทบไม่เปลี่ยนแปลงอะไร การอภิปรายระหว่างวันที่ 3-5ม.ค.2567นี้ ฝ่ายค้านวางไว้หลายด้าน เช่น วิกฤติเศรษฐกิจปากท้องที่พรรคเพื่อไทยเน้นย้ำอย่างมากว่า เราอยู่ในวิกฤติเศรษฐกิจ ฝ่ายค้านจะชี้ให้เห็นว่า การบอกว่า มีวิกฤติเศรษฐกิจแล้วจัดงบแบบนี้หรือ รวมถึงงบด้านสิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำที่พรรคการเมืองพูดถึงวิกฤติความเหลื่อมล้ำ แต่การจัดงบไม่สามารถบรรเทาความเหลื่อมล้ำในประเทศได้เลย และวิกฤติทรัพยากรมนุษย์ตั้งแต่เด็กเกิดน้อย การศึกษาของเยาวชนเติบโตจนเป็นแรงงานด้านต่างๆ เราได้งบประมาณเพื่อรองรับการเติบโตของทรัพยากรมนุษย์ของประเทศที่รัฐมนตรีเพิ่งออกมาพูดถึงอัตราเด็กเกิดต่ำ อาจกระทบในอนาคต การจัดงบประมาณสะท้อนวิกฤติปัญหาเหล่านี้หรือไม่
เมื่อถามว่า การอภิปรายครั้งนี้เป็นครั้งแรกของฝ่ายค้านจะทำให้ไม่แพ้การอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือไม่ นายปกรณ์วุฒิกล่าวว่า คิดว่าเข้มข้นไม่ต่างจากการอภิปรายงบประมาณของพรรคก้าวไกลในปีที่ผ่านมา เมื่อถามย้ำว่า หากมีการประท้วงเกิดขึ้น ฝ่ายค้านตั้งทีมรองรับหรือไม่ นายปกรณ์วุฒิกล่าวว่า เรามีทีมวิปเฝ้าสภาอยู่แล้ว มั่นใจว่า การอภิปรายงบประมาณปีที่ผ่านๆมา แทบไม่เคยมีการประท้วง เพราะเนื้อหาสาระเป็นเรื่องเกี่ยวกับงบประมาณ จริงๆแล้วรัฐบาลก็บอกเองว่า ไม่ได้กังวลอะไร ไม่จัดองค์รักษ์เป็นพิเศษ คิดว่า เป็นเรื่องที่ถูกแล้ว ที่ผ่านมา 4 ปี เราเห็นแล้วว่า การอภิปรายงบประมาณเป็นไปด้วยความราบรื่น เพราะพูดถึงงบประมาณล้วนๆ
นายปกรณ์วุฒิกล่าวว่า ส่วนที่รัฐบาลส่งร่างพ.ร.บ.งบประมาณล่าช้านั้น ทำให้กระทบการทำงานฝ่ายค้าน แต่เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ไม่มีปัญหา ช่วงหยุดปีใหม่ พวกเราไม่ได้หยุด 2 วันที่ผ่านมา ตนใช้เวลาทั้งวันทั้งคืนฟังการซ้อมอภิปรายของสส.ก้าวไกลแต่ละคน ดังนั้นการพิจารณางบประมาณรอบหน้า คาดหวังและขอให้ครม.ส่งร่างงบประมาณมาให้เร็วกว่านี้ ขอให้ยึดเสมอว่า การพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณเป็นเรื่องของสภา การที่รัฐบาลต้องปฏิทินอยากให้พิจารณาวันนี้แล้วไปรับงานที่สำคัญในสัปดาห์อื่นๆ เหมือนมัดมือชกสภาต้องพิจารณาในสัปดาห์นี้เท่านั้น เป็นการไม่ให้เกียรติสภา ดังนั้นการพิจารณาร่างงบประมาณฉบับหน้า รัฐบาลควรพูดคุยกับสภาก่อนจะพิจารณาวันใด ส่วนความกังวลจะพิจารณาพ.ร.บ.งบประมาณเสร็จไม่ทันตามกรอบ 105วันนั้น เชื่อว่า สามารถพูดคุยทำความเข้าใจกันได้ เราพร้อมให้ความร่วมมือ