วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกNEWS“ดิเรกฤทธิ์”เผยเสียงสว.ขอเปิดซักฟอก ม.15 แน่น ชี้เป็นผลดีต่อรัฐบาลได้แจงปชช.
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“ดิเรกฤทธิ์”เผยเสียงสว.ขอเปิดซักฟอก ม.15 แน่น ชี้เป็นผลดีต่อรัฐบาลได้แจงปชช.

“ดิเรกฤทธิ์” เผยสว.สนใจเข้าชื่อเปิดซักฟอก ม.153 ชง 7 ประเด็นคาใจรบ.บริหารราชการแผ่นดิน เตือนรัฐบาลมาแจงด้วยตัวเอง อย่าปล่อยให้ใครว่าร้ายได้

วันที่ 8 ม.ค. 2567 เวลา 13.10 น.ที่รัฐสภา นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ให้สัมภาษณ์ก่อนประชุมคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 ว่า เป็นการอภิปรายเฉพาะเรื่อง เป็นสิทธิ และอำนาจของผู้ที่ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ว่าจะเป็นฝ่าย สส. หรือ สว.นอกจากมีหน้าที่ในการออกกฎหมาย ทั้งนี้การเปิดอภิปรายแบบไม่ลงมติของวุฒิสภา สามารถเชิญรัฐบาลมาสอบถาม และชี้แตง ถึงเรื่องต่างๆ ที่ได้ทำไป รวมถึงเสนอแนะให้กับรัฐบาล ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และรัฐบาลเอง เพราะ หลายเรื่องที่ประชาชนสงสัย ไม่มีพื้นที่รับฟังคำอธิบาย นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี สามารถใช้พื้นที่สภาฯ อธิบายและชี้แจงการทำงานให้ประชาชนเข้าใจได้

เมื่อถามว่า สว.จะนำเรื่องใดขึ้นมาอภิปรายเป็นพิเศษหรือไม่ นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า ภาพกว้างคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีนโยบายจะแก้ไขทั้งฉบับ รวมถึงการทำประชามติ ก็มีปัญหาหลายประเด็น เช่น ความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ วิธีการ ความจำเป็น เนื้อหา ขอบเขต ที่จะแก้ รวมถึงสรรหาสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) แม้กระทั่งการบังคับใช้กฎหมาย เรื่องกระบวนการยุติธรรม ที่มีความไม่โปร่งใส รวดเร็ว และยังไม่ได้อธิบาย เรื่องเหล่านี้เป็นความคาดหวังของประชาชน

เมื่อถามถึงกระบวนการการบังคับใช้กฎหมายที่ยังไม่โปร่งใส สามารถยกตัวอย่างได้หรือไม่ นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า มีหลายประเด็น ทั้งกระบวนการยุติธรรม ทางแพ่ง ทางอาญา ทางปกครอง ที่ยังมีคดีต่างๆ ค้างอยู่มากมาย เช่น กระบวนการบริหารโทษในกรมราชทัณฑ์ว่า ทำไมถึงมีบางคนถูกเลือกปฏิบัติต่างจากประชาชนทั่วไป ประเด็นนี้สามารถอธิบายได้ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ที่อยู่ชั้น 14 กรณีเดียว แต่เราพูดถึงภาพกว้างด้วย เราไม่ได้ก้าวล่วงดุลพินิจ แต่เราอยากสร้างความเคลื่อนไหว นอกจากนั้นยังมีอีกหลายเรื่องหลายกรณีที่ประชาชนสนใจ

เมื่อถามว่าหวังว่านายกรัฐมนตรีจะมาชี้แจงด้วยตัวเองหรือไม่นั้น นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า ข้อดีของมาตรานี้ คือกำหนดให้รัฐมนตรีเข้ามาชี้แจงโดยไม่ต้องผ่านตัวแทน จากที่พูดคุยกับ สว. นอกรอบพบว่า คนที่เห็นด้วยกับการอภิปรายแบบไม่ลงมติ มีมากกว่าจำนวน 1 ใน 3 ที่ต้องเข้าชื่อแน่นอน ซึ่งเราเห็นพ้องกัน แต่จะมาดูญัตติอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้รัฐบาลได้เตรียมตัวว่ามีเรื่องอะไรบ้าง การทำหน้าที่ตรงนี้ไม่อยากให้มองตัวบุคคล แต่อยากให้มองตัวของรัฐบาล ว่าสถานการณ์เวลานี้มีประเด็นที่มากพอ มีประโยชน์หรือไม่ อย่างไร ในการอภิปราย

เมื่อถามถึงความเห็นเกี่ยวกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า หลายคนมองถึงความจำเป็น เป็นวิกฤตหรือไม่ อย่างไรชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ผิดกฎหมาย ฉบับไหน สามารถดำเนินการได้หรือไม่ มีหลายแง่มุมที่ยังมีข้อถกเถียง ทำไมเราไม่ให้ผู้รับผิดชอบมาชี้แจง เพื่อไม่ให้ข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อน ซึ่งจะกำหนดกรอบประเด็น เพื่อที่จะให้รัฐบาลได้เตรียมตัวตอบข้อสงสัย ซึ่งเบื้องต้นมีอยู่ 7 ประเด็น เช่นเรื่อง digital Wallet ก็อยู่ในนี้

เมื่อถามถึงเหตุผลในการที่ตัดสินใจเปิดการอภิปรายแบบไม่ลงมติรัฐบาลชุดนี้ ที่เพิ่งทำงานได้ 4 เดือน นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลและฝ่ายนิติบัญญัติ สามารถทำหน้าที่ได้เป็นช่วงๆ ตอนรัฐบาลชุดที่แล้ว ก็มีการมารายงานทุก 3 เดือน ในเรื่องยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงมีการทำงานร่วมกับกมธ. ที่เกี่ยวข้อง ประเด็นก็แตกต่างกับรัฐบาลชุดนี้ ที่มาจากประชาชน พันธะกรณี ข้อผูกพัน กับสิ่งที่หาเสียง หรือประกาศเป็นนโยบายไว้ เมื่อมีการให้พันธะสัญญาก็จะต้องขับเคลื่อน และมีความคาดหวังจากประชาชน

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img