“สรรเพชญ” เตือนรัฐบาลฟังความเห็น “แลนด์บริดจ์” รอบด้าน หากบิดเบือนข้อมูลจะสร้างหายนะให้กับประเทศ
เมื่อวันที่ 14 ม.ค.67 นายสรรเพชญ บุญญามณี สส.สงขลา กล่าวถึงกรณีที่ 4 ส.ส. ได้ลาออกจากกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ด้านคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทย และอันดามัน หรือ โครงการแลนด์บริดจ์ ที่ไม่เห็นด้วยกับรายงานการศึกษาที่ยังมีจุดบกพร่อง มีลักษณะตัดแปะ และมีเนื้อหาที่ไม่สมบูรณ์ในหลายจุด ว่า ตนทราบข่าวจากสื่อเท่านั้น ส่วนการจะเกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมืองหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบข้อเท็จจริง
นายสรรเพชญ กล่าวว่า โครงการแลนด์บริดจ์ มีมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาท นั้น จำเป็นต้องมีกระบวนการศึกษาที่ถูกต้อง ตรงตามหลักวิชาการ ทั้งด้านมิติทางเศรษฐกิจ ผลกระทบทางสังคม สิ่งแวดล้อม และเป็นที่ยอมรับของสาธารณชน ทั้งนี้หน่วยงานที่ศึกษาจะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลอย่างตรงไป ตรงมา และสามารถตอบข้อสงสัย แสดงหลักฐานเชิงประจักษ์สนับสนุนผลการศึกษาต่อสังคมได้ จากข่าวที่ปรากฏซึ่งแสดงให้เห็นว่าผลการศึกษาเรื่องความคุ้มค่าของโครงเเลนด์บริดจ์ระหว่างสภาพัฒน์ฯ และ สนข. มีความขัดแย้งหรือเห็นต่างกันโดยสิ้นเชิง
“ผมเห็นว่า โครงการภาครัฐทุกโครงการ จะต้องมีกระบวนการศึกษาที่ถูกต้องเป็นไปตามหลักวิชาการ ไม่มีการบิดเบือนผลการศึกษาเพื่อประโยชน์ของตน หากเรามีอคติ หรือพยายามบิดเบือนข้อมูล ข้อเท็จจริง งานวิจัยแล้ว ผลกระทบระยะยาว ความเสียหาย คงต้องตามมาแน่ๆ โดยเฉพาะผลการศึกษาของโครงการขนาดใหญ่ที่อาจสร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง”นายสรรเพชร กล่าว
นายสรรเพชร กล่าวต่อว่า ข้อชวนสงสัยของ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ ที่ชวนให้คิดว่า แลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร จะช่วยร่นระยะทางลงจริงหรือไม่นั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จำเป็นต้องออกมาให้ข้อมูล ออกมาอธิบายกับสังคมให้กระจ่าง เพราะหากแลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร ไม่สามารถประหยัดเวลาการเดินเรือ เมื่อเทียบกับการเดินผ่านช่องแคบมะละกา โครงการนี้ก็ไม่อาจประสบความสำเร็จเท่าไรนัก เรือขนาดแสนตันขนถ่ายสินค้า ขึ้น-ลง ต้องใช้เวลาและค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ดังนั้น ความสำคัญทั้งหมดจึงตกอยู่ที่ประเด็นธรรมาภิบาลของหน่วยงานภาครัฐเป็นสำคัญ และหากเราเปรียบเสมือนคลังสมองของชาติ อย่าง สภาพัฒน์ อย่าง สนข. ขอให้ท่านตรงไป ตรงมา กับข้อมูลที่ท่านได้ศึกษามา
นายสรรเพชญ กล่าวอีกว่า ระบบเศรษฐกิจไทยได้หยุดการขยายตัวแบบก้าวกระโดดมาเป็นเวลานาน เนื่องจากการขาดการลงทุนขนาดใหญ่ ดังนั้นรัฐบาลควรลงทุนด้าน เมกะโปรเจ็กต์” ให้มากขึ้นเพราะจะนำไปสู่การสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ผู้คนในพื้นที่เป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของประเทศ เช่น ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษประจำทั้ง 4 ภูมิภาคของไทย ฯลฯ ตลอดจน “เมกะโปรเจ็กต์” จะส่งผลต่อการพัฒนาโครงสร้างระบบเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ในภาพรวมอีกด้วย
สำหรับพื้นที่ภาคใต้ นายสรรเพชญ กล่าวว่า ที่ผ่านมาในอดีตโครงการ“เมกะโปรเจ็กต์” จะเกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมเป็นหลัก เช่น ท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล ทางรถไฟสายใหม่เชื่อมโครงการขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน ท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 โครงข่ายถนน สะพานมาต่อเชื่อมระหว่างไทย-มาเลเซีย ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง(มอเตอร์เวย์) สายหาดใหญ่-ชายแดนมาเลเซีย (ด่านสะเดา) และ รถไฟความเร็วสูง สายกรุงเทพฯ-ปาดังเบซาร์ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีเมกะโปรเจคด้านพื้นที่เศรษฐกิจ คือ การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้(Southern Economic Corridor) โครงการที่สำคัญ เช่น โครงการรับเบอร์วัลเลย์(Rubber Valley) ที่นครศรีธรรมราช เป็นต้น