“เสรี” นำ ‘98สว.’ เข้าชื่อยื่น ‘ประธานวุฒิสภา’ ขอเปิดซักฟอก ‘รัฐบาลเศรษฐา’ ตามม.153 กาง 7 ประเด็นสารพัดปัญหา ปัดพุ่งเป้า ‘นักโทษเทวดาชั้น14’ อ้างเน้นหลักการมากกว่าตัวบุคคล ข้องใจ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ กระตุ้นศก.จริงหรือไม่
เมื่อวันที่ 22 ม.ค.67 ที่รัฐสภา นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา(สว.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง และการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา นำรายชื่อสมาชิกจำนวน98คนที่เข้าชื่อกัน อาทิ นายจเด็จ อินสว่าง, นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์, นายสมชาย แสวงการ, นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม, นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ, นายถวิล เปลี่ยนศรี เป็นต้น ยื่นขอเสนอญัตติเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา เพื่อคณะรัฐมนตรี(ครม.)แถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 153 ต่อนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา
ทั้งนี้ประเด็นปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน แถลงนโยบายต่อรัฐสภาไปแล้ว มีทั้งสิ้น7ประเด็น โดยสรุปดังนี้
1.ปัญหาด้านเศรษฐกิจของชาติและปัญหาปากท้องประชาชน อาทิ การดำเนินนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต จะดำเนินการได้จริงหรือไม่
2.ปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรม และการบังคับใช้กฎหมาย ที่ไม่มีประสิทธิภาพ ช่วยพวกพ้อง หาประโยชน์ส่วนตน สร้างมาตรฐานในกระบวนการยุติธรรมที่บิดเบี้ยว ทำให้การคุ้มครองสิทธิของประชาชาไม่เท่าเทียม
3.ปัญหาด้านพลังงาน
4.ปัญหาด้านการศึกษา สังคม
5.ปัญหาด้านการต่างประเทศ และการท่องเที่ยว
6.ปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีความจำเป็นในการดำเนินการอย่างไร ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร จะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนหรือไม่
7.ปัญหาการดำเนินการปฏิรูปประเทศและการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ
โดยนายเสรี กล่าวว่า เนื้อหาที่สมาชิกทั้ง 98 คนร่วมกันเข้าชื่อยื่นญัตติต่อประธานวุฒิสภา เพื่อขอเปิดอภิปรายทั่วไปฯตามมาตรา 153 เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน เกี่ยวกับประชาชน ทั้งสิ้น 7 ประเด็น โดยขอเวลาไว้รวม 2 วัน ส่วนที่มีฝ่ายการเมืองบางฝ่าย ออกมาบอกว่าการยื่นเปิดอภิปรายทั่วไปฯตามมาตร 153 เร็วเกินไป เนื่องจากรัฐบาลเพิ่งบริหารประเทศได้เพียง 4 เดือนนั้น สิ่งที่เราดำเนินการ ไม่ได้ต้องการมาล้มรัฐบาลหรือให้รัฐบาลตอบในสิ่งที่ทำงานล้มเหลว แต่เราดำเนินการในเรื่องสำคัญต่างๆที่รัฐบาลบริหารประเทศ 4 เดือนที่ผ่านมา ได้เริ่มทำในสิ่งที่หาเสียงไว้กับประชาชน หรือที่แถลงนโยบายไว้ต่อรัฐสภาแล้วหรือไม่ ดังนั้นมันจะเป็นประโยชน์
“อยากให้พี่น้องประชาชนได้เห็นว่า ในช่วงที่สว.ทำหน้าที่มา แม้ว่าจะมีการบอกว่าทำไมมายื่นในรัฐบาลนี้ ไม่ยื่นรัฐบาลที่แล้ว ก็ต้องเรียนว่า รัฐบาลนี้กับรัฐบาลที่แล้วไม่ค่อยต่างกันเท่าไหร่ พรรคการเมืองที่มาร่วมจัดตั้งรัฐบาลส่วนใหญ่เป็นพรรคเดียวกัน เราไม่ได้กลัวว่าใครเป็นนายกฯ อีกทั้งรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่บริหารประเทศในช่วงประเทศ 4 ปีที่ผ่านมา ใน 3 ปีแรกก็แก้ปัญหาโควิด จึงยังไม่พบปัญหามาก แต่ปัจจุบันเห็นปัญหาจำนวนมาก จึงเป็นสิ่งที่เราต้อวนำมาหารือในสภาฯ ถือว่าเรายื่นญัตติตามภารกิจหน้าที่ที่สำคัญที่สมาชิกวุฒิสภาจะต้องทำ ยืนยันว่าจะไม่ทำให้เกิดความเสียหาย มีแต่จะได้ประโยชน์ เพราะเรากำลังจะพ้นหน้าที่ในช่วงอีก 3-4 เดือนที่เหลืออยู่ วุฒิสภาก็จะทำหน้าที่ให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน ถือเป็นวัตถุประสงค์สำคัญในการยื่นญัตติขออภิปรายฯครั้งนี้” นายเสรี กล่าว
นายเสรี กล่าวต่อว่า ปัญหาที่เรานำมายื่นอภิปรายรัฐบาล ได้แก่ เรื่องเศรษฐกิจปากท้อง ที่ทางรัฐบาลควรแก้ปัญหาได้เร็วและดีกว่านี้ แต่กลับวนเวียนอยู่กับการจ่ายเงินดิจิทัลวอลเล็ต และอาจทำให้สำเร็จเนื่องจากมีปัญหาตามมาเยอะ ซึ่งปัญหาเรื่องปากท้องเป็นเรื่องสำคัญตามที่รัฐบาลเคยพูดมาโดยตลอด แต่ 4 เดือนที่ผ่านมาก็ยังไม่มีผลงานเป็นรูปธรรม ส่วนอีกข้อที่สำคัญคือกระบวนการยุติธรรม ที่หากรัฐบาลสามารถรักษามาตรฐานความเป็นธรรม เลือกปฏิบัติ หาช่องหาผลประโยชน์ให้กับคนบางกลุ่ม ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นปัญหาใหญ่ในบ้านเมือง และเรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องรอว่าบริหารมาเท่าไหร่ แต่เป็นเรื่องปัจจุบันที่สามารถนำมาพูดกันได้
เมื่อถามว่า เรื่องกระบวนการยุติธรรมอาจมีการโยงไปถึงนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำเป็นต้องอภิปรายก่อนที่นายทักษิณจะได้รับการพักโทษหรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า เรื่องนี้เราไม่ได้เน้นตัวบุคคล แต่เราเน้นในหลักการ ดังนั้น จะเปิดอภิปรายก่อนหรือหลังไม่สำคัญ สำคัญที่ว่าจะยึดหลักยุติธรรมให้เป็นธรรมได้แค่ไหน ซึ่งเราไม่ควรให้เกิดปัญหาในเรื่องนี้ขึ้น เราต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่ากระบวนการยุติธรรมจะต้องใช้ได้กับทุกคนเท่าเทียมกัน
เมื่อถามว่า ในการยื่นญัตติอภิปรายรัฐบาลจะใช้เวลาเท่าไหร่ และมีใครเป็นผู้อภิปรายบ้าง นายเสรี กล่าวว่า ตนตั้งใจไว้ว่าจะอภิปราย 2 วัน ส่วนใครจะเป็นผู้อภิปรายนั้นอยู่ที่ว่าใครจะมาแสดงความจำนง ซึ่งขณะนี้ก็มีผู้สนใจจำนวนมาก แต่ทั้งนี้ต้องแสดงความชัดเจนเพื่อที่จะสามารถจัดลำดับได้
เมื่อถามถึง ความคิดเห็นของส.ว. เรื่องดิจิทัลวอลเล็ต เนื่องจากมีหลายฝ่ายออกมาแสดงความคิดเห็นไม่ตรงกัน นายเสรี กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือวัตถุประสงค์ที่จะแจกเงินดิจิทัล โดยให้เหตุผลว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งก็มีคำถามว่าแล้วกระตุ้นได้จริงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม สำหรับการแจกเงิน 10,000 บาทนั้น ประชาชนเชื่อว่าไม่ว่าจะแจกในรูปแบบใด เดี๋ยวก็ใช้หมดในเวลารวดเร็ว และเงินที่จะนำมาแจกนั้น มีที่มามาจากไหน กู้มาหรือไม่ มีดอกเบี้ยหรือไม่ ซึ่งเป็นภาระของประเทศจำนวนมหาศาล อีกทั้ง นโยบายนี้เป็นไปตามกฏหมายหรือไม่ ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยเฉพาะจาก ป.ป.ช. ระบุว่าเป็นอันตรายต่อบ้านเมือง ฉะนั้น รัฐบาลต้องคิดให้ดีว่าการเป็นหนี้ 5 แสนล้านบาท หากนำเงินก้อนนี้ไปลงทุนกับประชาชนอย่างยั่งยืนจะสามารถช่วยให้ประชาชนดำรงชีวิตได้ดีกว่า ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เราต้องนำมาพูดในสภาฯ
ด้านประธานวุฒิสภา กล่าวว่า การที่สว.ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปฯตามมาตรา 153 มีรายชื่อสมาชิก 98 คน ตามกระบวนการก็จะส่งหนังสือให้สำนักงานวุฒิสภา ตรวจสอบข้อมูลต่างๆว่าเข้าหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153 หรือไม่ มีจำนวนครบ จากนั้นก็จะประสานงานไปยังครม.พร้อมที่จะแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงตามมาตรา 153 ส่วน ครม.จะมาแถลงเมื่อไหร่ ซึ่งสำนักงานวุฒิสภาก็จะไปประสานไปยังครม.ว่ามีความประสงค์ที่จะมาชี้แจงในวันเวลาใด ใช้เวลาเท่าไหร่ จากนั้นทางสำนักงานวุฒิสภาจะต้องรายงานให้ตนทราบว่าพร้อมหรือไม่อย่างไร ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันนี้
เมื่อถามว่า คาดหวังว่าการอภิปรายครั้งนี้จะเกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนอย่างไร เพราะหลายประเด็นเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน นายพรเพชร กล่าวว่า เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินเป็นเรื่องสำคัญ ไม่เช่นนั้นก็ไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ครม.แถลง และชี้แจงข้อเท็จจริง แต่เรื่องอื่นตนไม่ทราบ ซึ่งตนต้องขอตรวจสอบก่อน ซึ่งสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา จะต้องเร่งดำเนินการเพื่อประสานงานไปยังครม.
เมื่อถามว่า จะเป็นผลงานของวุฒิสภาที่เป็นชิ้นโบว์แดงก่อนที่จะหมดวาระหรือไม่ นายพรเพชร กล่าวว่า จะไปพูดอย่างนั้นไม่ได้ แต่คิดว่าการทำงานของสว.เป็นการทำตามรัฐธรรมนูญ ผู้ที่เปิดอภิปรายสามารถหารายชื่อได้ตามที่กฎหมายกำหนดก็ไม่มีปัญหาอะไร
“จะโบว์แดง โบว์ขาว เป็นเรื่องทุกท่านตระหนักได้เอง ผมคงพูดไม่ได้ แต่ผมเข้าใจสมาชิกวุฒิสภามีความประสงค์ที่อยากให้รัฐบาลมาแถลงเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน ถ้าเป็นไปตามวัตถุประสงค์นี้ก็จะเกิดประโยชน์” นายพรเพชร กล่าว
เมื่อถามว่า ทางประธานวุฒิสภาจะแจ้งไปยังครม.ทันทีหรือไม่ นายพรเพชร ในฐานะประธานวุฒิสภา กล่าวว่า ตนคงแจ้งทันทีไม่ได้ ต้องให้ทางสำนักเลขาฯวุฒิสภาดูก่อน ตนก็ยังไม่ได้ดูเลย ส่วนจะอภิปรายในช่วงไหนนั้น เท่าที่ฟังสมาชิกวุฒิสภา อยากจะให้อภิปรายในเดือนก.พ. ซึ่งตนจะไปดูว่าเหมาะสมหรือไม่ ทางสำนักงานเลขาฯวุฒิสภาและผู้เสนอญัตติฯ จะร่วมประสานไปยังครม.อีกครั้งหนึ่ง