“ถวิล เปลี่ยนศรี” ปัดยื่นอุทธรณ์สู้คดี “ยิ่งลักษณ์”โยกย้ายสมัยนั่ง “เลขาฯสมช.” เอาชนะ-ติดค้างในใจ เปรียบเป็นนักมวยอยากแก้มือ ชี้แพ้ชนะไม่สำคัญ อยากให้กระบวนการยุติธรรมเป็นที่พึ่งปชช. ขอ “ป.ป.ช.-อัยการ” ขยายเวลาให้เรื่องถึงที่สุด
เมื่อวันที่ 24 ม.ค.67 เวลา 12.00 น. ที่รัฐสภา นายถวิล เปลี่ยนศรี สมาชิกวุฒิสภา(สว.) และอดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) แถลงถึงเหตุผลในยื่นจดหมายถึงอัยการสูงสุด วานนี้ (23 ม.ค.) เพื่อขอให้พิจารณายื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อคัดค้านคำพิพากษายกฟ้องเมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2566 กรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โยกย้ายจากตำแหน่งเลขาฯสมช.ไม่เป็นธรรมว่า คดีนี้ยังไม่ถึงที่สุด ตามกฎหมายสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ แต่เนื่องจากคดีนี้อัยการฯเป็นผู้ฟ้อง หน้าที่จึงอยู่ที่อัยการ ที่จะสามารถยื่นอุทธรณ์ตามกฎหมายภายใน30วัน ดังนั้นถ้านับตั้งแต่เมื่อวันที่26ธ.ค.66 เหลือเวลา2วัน ตนจึงรู้สึกร้อนใจ เพราะอยากให้คดีไปให้ถึงที่สุด จะได้สิ้นความเคลือบแคลงสงสัยว่า คดีนี้จะไปถึงไหน ส่วนตัวตนเห็นว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ และคณะมีเจตนาพิเศษ ที่จะเอื้อประโยชน์ญาติ และพรรคพวก ทำให้ตนเสียหาย แต่ยืนยันว่าตนไม่ต้องการเอาชนะ หรือมีความเจ็บแค้นเป็นการส่วนตัว
“ผมเหมือนนักมวย ที่แม้ไม่ได้เป็นผู้ไปฟ้องเอง แต่ผมเป็นผู้เสียหายในคดี อัยการเปรียบเหมือนโปรโมเตอร์ที่จัดผมไปชกมวย ผมก็แพ้ในครั้งแรก แล้วผมก็อยากแก้มือ เพราะผมเป็นผู้เสียหาย แต่ผมขอแก้มือเองไม่ได้ คนที่จะทำให้ผมแก้มือได้ในชั้นศาลฎีกาฯในชั้นอุทธรณ์ก็คืออัยการ หวังว่าอัยการสูงสุด จะเห็นความสำคัญ ไม่ปล่อยให้คดีจบไปในชั้นต้นโดยที่ยังสงสัยกันอยู่ และในวันนี้ผมจะไปยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือป.ป.ช. ในฐานะต้นเรื่องที่จับเรื่องนี้มาไต่สวน ก็ขอให้ป.ป.ช. ประสานกับอัยการสูงสุด เพื่อให้เรื่องนี้ถึงที่สุด” นายถวิล กล่าว
นายถวิล กล่าวด้วยว่า ความจริงเรื่องนี้ผ่านมา10กว่าปีแล้ว ขอย้ำว่าตนไม่มีอะไรติดในใจต้องการจะเอาชนะอะไรทั้งสิ้น ก็ขอขอบคุณป.ป.ช. และอัยการสูงสุดเป็นธุระเรื่องนี้และไม่ปล่อยให้ผ่านไป แต่เมื่อได้ดำเนินการเรื่องนี้ก็อยากจะรักษากระบวนการเอาไว้ เมื่อไปไม่สุดทาง ถ้าเลิกและยอมแพ้กลางคันก็จะเป็นที่เคลือบแคลง ตนจะแพ้หรือชนะไม่ใช่เรื่องสำคัญ ตนไม่ได้มุ่งมั่นว่าจะเอาชนะให้ได้ และกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ชุดสอบสวน อัยการ ไปถึงกรมราชทัณฑ์ มันมีอะไรต่างๆไม่ค่อยปกติเกิดขึ้นทุกวัน แต่อยากรักษากระบวนการยุติธรรมให้เป็นที่พึ่งของพี่น้องประชาชน สร้างความเท่าเทียมความเสมอภาคให้เกิดขึ้น ไม่อยากให้เรื่องนี้เป็นจุดเล็กๆ ทำให้อัยการสูงสุดต้องการมีมลทินไปด้วย
เมื่อถามว่า เหลือเวลาอีก 2 วันจะทันหรือไม่ นายถวิล กล่าวว่า ตนไม่อยู่ในกระบวนการ แต่ตนเป็นคนเสียหาย และอยู่ในคดี และตนเป็นเพียงพยาน ผ่านไปกี่วันและเหลือเวลาเท่าไหร่ ตนไม่ทราบสาระสำคัญเลย ตนก็หวังว่าถ้าเวลาจะหมดอัยการสูงสุด หรือป.ป.ช.น่าจะไปขอขยายระยะเวลาเพื่อเวลามากขึ้น เพื่อที่จะทำเรื่องนี้ให้ถึงที่สุดได้
ด้านนายสมชาย แสวงการ สว. กล่าวว่า คิดว่าเรื่องนี้ในระบบศาลยุติธรรมให้ความเป็นธรรม ถ้าเป็นศาลยุติธรรมก็มี 3 ชั้นศาล คือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา ถ้าเป็นศาลปกครองก็มีศาลปกครองกลาง ศาลปกครองสูงสุด ส่วนในเรื่องของศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมืองนั้น มี 2 ชั้นศาล เดิมมีชั้นศาลเดียวแต่งตั้งจากผู้พิพากษาหัวหน้าคณะ ในศาลฎีกาจากที่ประชุมใหญ่ 9 คน หรือองค์คณะในศาลฎีกาก็ตาม สามารถพิจารณาอุทธรณ์ได้โดยอัยการสูงสุด ดังนั้นเรื่องนี้ยังไม่สิ้นสุดตามที่นายถวิล ได้แถลง แต่อำนาจหน้าที่เป็นเรื่องของอัยการสูงสุด ต้องเรียนว่าหนึ่งในความสำคัญของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม คือการสิ้นสุดที่ศาลสุดท้าย หรือได้รับความยุติธรรม นายถวิลไม่ได้รับความยุติธรรมตั้งแต่ต้น ในการถูกโยกย้าย ซึ่งตนในฐานะ สว.ขณะนั้น ก็เห็นปัญหา เจตนาพิเศษที่ ป.ป.ช. หรือศาลรัฐธรรมนูญก็ดี เห็นอยู่แล้วว่ามีการถูกกล่าวหาว่าย้ายเอื้อญาติมันมีอยู่ แม้ศาลจะตัดสินยกฟ้องก็ตาม
“อัยการสูงสุดมีหน้าที่และอำนาจ การที่ตรวจสอบแล้วเหลือเวลาอีกไม่กี่วัน และยังไม่เห็นว่าท่านจะไปขยายเวลา เพราะผมทราบว่าท่านต้องไปถ่ายเอกสารที่ยังอยู่ที่กองคดี แต่ยังไม่ได้ดำเนินการใด ๆ มันทำให้เห็นว่าความยุติธรรมล่าช้าคือความอยุติธรรม เพราะฉะนั้นฝากเรื่องนี้ไปยังอัยการสูงสุด ซึ่งผมเห็นว่าเป็นส่วนสำคัญและผมเคยเป็นกรรมาธิการในการพิจารณา พ.ร.บ.อัยการ อยากเห็นการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ตั้งแต่ศาล อัยการ ตำรวจ ราชทัณฑ์ ซึ่งวันนี้เราสั่นคลอนมากในประเทศไทยที่มีความเสื่อมศรัทธา ผมไม่อยากเห็นองค์กรอัยการถูกกล่าวหาเหมือนกรณีไม่อุทธรณ์คดีภาษี ซึ่งเป็นบาดแผลขององค์กรอัยการในอดีต ไม่อุทธรณ์ในคดีธนาคารกรุงไทย ไม่อุทธรณ์ในคดีกระทิงแดง 3 คดีใหญ่ ๆ เป็นคดีที่ผมคิดว่าสั่นคลอนความศรัทธาของพี่น้องประชาชนมาก ซึ่งอัยการเป็นองค์กรใช้อำนาจกึ่งตุลาการ ทำหน้าที่เป็นทนายแผ่นดิน เรื่องนี้ยังไม่ยุติ และสามารถใช้อำนาจหน้าที่ของอัยการสูงสุดในการอุทธรณ์ได้ ส่วนในวันหน้าศาลจะตัดสินอย่างไร หรือจะพิจารณาใหม่ก็เป็นเรื่องที่เราทุกคนรับได้ แต่อย่าตัดตอนกระบวนการยุติธรรม ด้วยการไม่อุทธรณ์” นายสมชาย กล่าว