“กมธ.ศึกษาสภาฯ จัดสัมมนา “เปลี่ยนการศึกษาไทย พลิกโฉมใหม่ให้ประเทศ” “อภิสิทธิ์” ชี้การศึกษาไทยเป็นโจทย์ท้าท้าย บอกแบบเดิมป้อนคนเข้าสู่อุตสาหกรรม ปัจจุบันเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ยกเคทเด็กพูดไม่ได้แต่เรียนรู้จากโทรศัพท์มือถือ แนะให้เงินหมื่นเป็นคูปองไปเรียนทักษะ-ภาษาจีน จะมีปย.ระยะยาวกับประเทศ ด้าน “ศุภชัย” ยันยุคปัจจุบันทุกคนต้องการเข้าถึงข้อมูล ส่วนอนาคตเป็นการผสมผสานกันระหว่างAI-คน-ความยั่งยืน
วันที่ 20 ก.พ.2567 เวลา 09.00 น. ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการ(กมธ.)การศึกษา สภาผู้แทนราษฎร จัดสัมมนาเรื่อง ”เปลี่ยนการศึกษาไทย พลิกโฉมใหม่ให้ประเทศ” โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชวีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ พระพรหมบัณฑิต ประยูร ธมฺมจิตโต กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ร่วมอภิปราย โดยมีผู้เข้าร่วมฟังการสัมมนาประมาณ 550 คน
โดยนายโสภณ ซารัมย์ สส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะประธาน กมธ.การศึกษา กล่าวเปิดการสัมมนา ว่า กมธ.ฯ เล็งเห็นปัญหาสำคัญของชาติ ซึ่งถึงขั้นวิกฤติคือปัญหาทางการศึกษาที่เราประสบอยู่ขณะนี้ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทางกมธ.ฯต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาแห่งชาติให้ทัดเทียมกับนานาชาติ เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ไม่ว่าผลการศึกษาหรือการประเมินทั้งในชนบทหรือในเมือง สภาพปัญหาไม่ได้ต่างกัน จะเห็นได้ว่ามีปัญหาทุกบริบทที่อยู่ในวงการศึกษา วันนี้จึงเป็นนิมิตหมายที่ดีที่จะได้ร่วมกันร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ขึ้นมาโดยฝ่ายนิติบัญญัติให้สำเร็จ
ด้านนายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าหลักการของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ยังคงเหมือนเดิม แต่ต้องมีการขยายไปถึงการทำให้สังคมมีความสุขด้วย แต่เห็นว่ายังไม่เป็นไปตามเป้าหมายในหลายๆเรื่อง แม้ว่ากฎหมายมีการบังคับใช้ไปแล้ว ก็ยังมีการถกเถียงเรื่องการปรับโครงสร้าง ทั้งที่ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงจนทำให้ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้ และปัจจุบันการศึกษาเปลี่ยนวัตถุประสงค์ไปแล้ว ในอดีตหากประชาชนไม่ได้รับการศึกษาจะทำให้ขาดความรู้ ขาดข้อมูล แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีทำให้เปลี่ยนแปลง แม้แต่เด็กเล็กๆ พูดไม่ได้ แต่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทั้งหมด จากการเล่นโทรศัพท์มือถือ แปลว่ากระบวนการการเรียนรู้ของมนุษย์เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องผูกขาดการเรียนรู้เหมือนในอดีต และยังไม่นับการเปลี่ยนแปลงของปัญญาประดิษฐ์(AI)ในขณะนี้
“ผมเชื่อว่าอีก 2-3 ปีข้างนี้จะเป็นการพัฒนาแบบก้าวกระโดด ซึ่งจะทำให้การเรียนรู้ของคนเปลี่ยนแปลงไปสิ้นเชิง ซึ่งระบบการศึกษาต้องเปลี่ยนหน้าที่จากการให้ความรู้เปลี่ยนมาเป็นการให้ทักษะในการกลั่นกรองข้อมูลมาเป็นความรู้ได้ถูกต้องแม่นยำด้วยตนเอง การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดยังส่งผลต่อการก้าวเข้าสู่ยุคสังคมหลังอุตสาหกรรมสมบูรณ์แบบมากขึ้น หมายความว่าความคาดหวังของคนรุ่นใหม่กับอนาคตไม่เหมือนเดิมแล้ว คนรุ่นใหม่ตั้งเป้าหมายในชีวิตต่างกับคนรุ่นก่อน ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าท้ายกับการศึกษาแบบเดิมที่ป้อนคนเข้าสู่อุตสาหกรรม แต่เป็นการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ในอดีตรัฐบาลเคยคิดว่าแก้ปัญหาเรื่องโอกาสทางการศึกษาได้แล้ว แต่โครงสร้างการศึกษาที่เปลี่ยนไป มีเด็กตกหล่นจากการเข้าสู่ระบบการศึกษาจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่สูงมาก แม้ปัจจุบันยังมีกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาอยู่แต่ก็ยังไม่ได้รับการสนับสนุนเพียงพอและสามารถทำงานในเชิงรุกได้ เช่นเดียวกับคุณภาพการศึกษาที่ลดลง ถ้าคนของเรามีพื้นฐานคณิตศาสตร์ที่ดีกว่านี้ ผมเชื่อว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนจะไม่รุนแรงเท่านี้ ถ้าเราสามารถทำให้คนของเราเรียนรู้เกี่ยวกับทักษะทางสัมคม สังคมเราจะไม่แยกแยกเท่านี้ นี่คือความท้าทายความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงอื่นๆที่เรามองข้าง คือปัญหาโครงสร้างครอบครัวที่เปลี่ยนแปลงไป ในอนาคตจะมีเด็กที่มาจากผู้ปกครองเลี้ยงเดี่ยวมากขึ้น มีเด็กจากการย้ายถิ่นมากขึ้น จำเป็นต้องพิจารณาออกกฎหมายและนโยบายให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป”นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า ดังนั้นสิ่งที่กฎหมายฉบับใหม่ควรมี คือการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต แต่ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้รัฐไม่อยู่ในฐานะที่จะผูกขาดในการจัดให้ จึงควรเขียนในกฎหมายว่า รัฐจะให้แรงจูงใจ ภาคส่วนอื่นๆ ในสังคมอย่างไรในการมาช่วยส่งเสริมการศึกษา และคงต้องเขียนเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ในเรื่องการศึกษาสำหรับผู้ใหญ่ เพราะต่อไปนี่คือหัวใจสำคัญที่ทุกคนจะต้องมีโอกาสในการได้เรียนรู้ ปรับทักษะของตัวเอง ตนยังคิดเล่นๆเลยว่า แทนที่จะได้เงินคนละ 10,000 บาท สมมุติว่าคนของเราได้คูปองมูลค่าไม่ต้องถึง10,000 บาทก็ได้ แต่มีข้อแลกเปลี่ยนว่าให้เอาคูปองนั้น ไปใช้เรียนรู้ทักษะอะไร 1 อย่าง จะไปเรียนภาษาจีนก็ได้ จะเรียนบัญชีก็ได้ จะเข้าใจระบบภาษีให้ดีขึ้นก็ได้ เอาเงินไปแล้ว ก็ไปเรียนรู้อันนั้น ตนมานั่งคิดว่า ประโยชน์ระยะยาวกับประเทศจะดีกว่าหรือไม่
ขณะที่นายศุภชัย กล่าวว่า ปัจจุบันทั่วโลกมีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจดิจิทัล เช่นเดียวกับสถานศึกษา ที่ต้องเผชิญกับการพลิกโฉมอย่างรวดเร็ว การเมืองระดับโลกที่แบ่งขั้ว สังคมสูงวัย พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ทำให้ทุกองค์กรต้องปรับตัวให้ทัน สุขภาพมนุษย์ที่ต้องเผชิญกับโรคระบาด ส่วนระบบการศึกษานั้น ตนมั่นใจว่า โรงเรียนจะไม่หมดไปเพราะโรงเรียนถือเป็นระบบจำลองของสังคม เพราะต้องสร้างประสบการณ์ให้เยาวชนได้เรียนรู้ ยุคปัจจุบัน เป็นยุคที่ทุกคนต้องการเข้าถึงข้อมูล มีนวัตกรรมดิจิทัล ส่วนอนาคตเป็นการผสมผสานกันระหว่างเทคโนโลยีใหม่ (AI) คน และความยั่งยืน
“ภาพรวมการศึกษาไทยยังเป็นแบบ 2.0 ครูยังเป็นศูนย์กลางให้ความรู้ เด็กยังเรียนรู้แบบปัจเจกบุคคล ต้องเปลี่ยนเป็นการศึกษาแบบ 5.0 ต้องเปลี่ยนกรอบความรู้ของเยาวชนให้ตั้งคำถาม อภิปรายด้วยเหตุผล ปรับปรุงพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ พร้อมทำงานเป็นทีม เน้นคุณธรรมและธรรมาภิบาล เน้นเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติ และครูต้องทำหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนให้เยาวชน ทั้งนี้หากรัฐบาลต้องการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาให้ได้ ก็ต้องสนับสนุนให้เยาวชนมีคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในการเข้าถึงความรู้ทั้งโลก ซึ่งในอนาคตมนุษย์และเทคโนโลยีจะเป็นหนึ่งเดียวกัน สิ่งสำคัญการศึกษาต้องสอนเรื่องเทคโนโลยี ควบคู่กับการส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมให้เป็นหนึ่งเดียวกันแก่ผู้เรียน”นายศุภชัย กล่าว