“ธีรยุทธ” หอบคำวินิจฉัยล้มล้างการปกครองของศาลรธน.ยื่น “ป.ป.ช.” เร่งเอาผิดจริยธรรม “พิธา-44 สส.ก้าวไกล” พร้อมเกาะติดความพยายามแก้ม.112 บรรจุในกม.นิรโทษ
เมื่อวันที่ 23 ก.พ.67 ที่สนามบินน้ำ นายธีรยุทธ สุววรรณเกษร ในฐานะผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 กรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายขื่อ พรรคก้าวไกล กระทำการล้มล้างการปกครอง โดยนำสำเนาคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2567 คดีล้มล้างการปกครอง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ฉบับเต็มที่รับรองโดยสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ มายื่นแก่ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อใช้ประกอบคำร้องที่ได้ยื่นเมื่อวันที่ 2 ก.พ.67 ที่ขอให้ตรวจสอบและเอาผิดจริยธรรมของนายพิธา และ 44 สส.พรรคก้าวไกลที่ร่วมลงชื่อสนับสนุนเสนอร่างฯ
โดยนายธีรยุทธ กล่าวว่า ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ การเสนอร่างแก้ไขพ.ร.บ.ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มีลักษณะเจตนาซ่อนเร้นที่จะทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง และในการยื่นสำเนาดังกล่าวก็ได้สอบถามเจ้าหน้าที่ ก็ได้รับแจ้งว่า ประธาน ป.ป.ช. เป็นความเมตตาที่จะรับเรื่อง และจะเร่งรีบในการรวบรวมพยานหลักฐาน โดยจัดตั้งเป็นคณะทำงานหรือคณะไต่สวนต่อไปในเร็วๆ นี้
เมื่อถามว่า ขอให้ ป.ป.ช. เร่งดำเนินการตรวจสอบคดีนี้อย่างไร นายธีรยุทธ กล่าวว่า ได้รับทราบว่าประธาน ป.ป.ช. รับทราบเรื่องแล้ว มีความเอาใจใส่ และได้สั่งการเบื้องต้น ว่าต้องเร่งรีบในการรวบรวมพยานหลักฐาน เพราะจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาไต่สวน รวบรวมพยานหลักฐานอีกช่วงหนึ่ง ซึ่งจะต้องใช้ระยะเวลา ตนคาดว่าน่าจะใช้เวลาไม่นาน
เมื่อถามว่า การดำเนินการกับ 44 สส. ที่ร่วมลงชื่อและขับเคลื่อนผลักดันการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวอย่างไร นายธีรยุทธ กล่าวว่า ขณะนี้ตนกำลังรวบรวมหลักฐานและข้อเท็จจริงเพิ่มเติม เบื้องต้นจะเตรียมการในเรื่องคำชี้แจงของนายพิธาและนายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่ได้ทำคำชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยจะขออนุญาตศาลคัดถ่ายคำให้การในชั้นไต่สวนพยานเปิดเผย ก่อนที่ศาลจะมีคำวินิจฉัย เพื่อที่จะยื่นต่อ กกต. และ ป.ป.ช. หากทั้ง 2 หน่วยจะมีคำสั่งเรียกนายพิธาและนายชัยธวัช เข้าชี้แจงข้อเท็จจริง โดยทั้ง 2 หน่วยงานสามารถใช้คำชี้แจง หรือคำให้การที่เคยให้การไว้ต่อศาลรัฐธรรมนูญมาประกอบการพิจารณาไต่สวน
นายธีรยุทธ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ยังติดตามความพยายามในการผลักดันความผิดตามมาตรา 112 ให้ไปอยู่ในกฏหมายนิรโทษกรรม เนื่องจากโดยส่วนตัวเห็นว่า ความผิดตามมาตรา 112 ไม่ใช่ความผิดในทำนองทางการเมือง แต่เป็นความผิดเกี่ยวกับการล้มล้างการปกครอง ซึ่งอยู่คนละหมวดกัน เมื่อศาลวินิจฉัยว่าการกระทำลักษณะ 112 ภายนอกสภา มีผู้รับทอดเข้ามาสู่สภา โดยผ่านกระบวนการซ่อนเร้น ใช้การเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 เข้าสู่สภา ซึ่งการรณรงค์มาตรา 112 การตั้งม็อบ การตั้งขบวนต่างๆ ที่เกิดขึ้น
“เจตนาต้องการทำลายการปกครอง ก็เท่ากับว่ามีเจตนาที่ไม่ดี มีเจตนาที่จะไม่ให้การเมืองมีอยู่ ดังนั้นการที่จะกล่าวอ้างว่าเป็นข้อขัดแย้งทางการเมือง ผมมองว่าไม่ใช่ เมื่อคุณทำลายการปกครอง ไม่ให้การเมืองมีอยู่ ข้อขัดแย้งก็จะไม่มีอยู่ตามมาด้วย แต่คณะนิติบัญญัติที่กำลังพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมในชั้นกรรมาธิการกำลังมองว่า การปกครองยังมีอยู่ ความขัดแย้ง ความไม่เข้าใจกันในทางการเมืองก็เลยยังมีอยู่ หากประสงค์ที่จะล้างความขัดแย้ง ปลดปล่อยความวิตกกังวลต่างๆ เพื่อให้บ้านเมืองเกิดความสงบสุข ซึ่งต่างกับคณะรณรงค์ 112 ผมจึงเห็นว่าหากได้มีการบรรจุความผิดมาตรา 112 เข้าสู่กฎหมายนิรโทษกรรม ผมจะตามไปดำเนินการบางอย่าง แต่ไม่ขอเปิดเผยว่าจะดำเนินการอะไร”นายธีรยุทธ กล่าว
เมื่อถามว่า มองว่าการแก้มาตรา 112 โดยชอบ ตามที่ศาลวินิจฉัยเอาไว้ควรจะเป็นอย่างไร นายธีรยุทธ กล่าวว่ายังเชื่ออย่างที่ศาลวินิจฉัยไปแล้ว ซึ่งไม่ได้ปิดประตูการแก้กฎหมาย แม้กระทั่งการแก้มาตรา 112 เพียงลักษณะที่พรรคก้าวไกลได้เสนอและดำเนินการมีการประชาสัมพันธ์ไปยังสื่อสารมวลชน และใช้เป็นนโยบายหาเสียงมาตลอด ซึ่งพฤติการณ์ตรงนั้นกระทำไม่ได้ เช่น การย้ายหมวดไม่ได้ เพราะลักษณะที่พรรคก้าวไกลได้เสนอไว้ คือถอดออกจากความมั่นคงแห่งรัฐ ออกมาอยู่ในอีกหมวดหนึ่ง ซึ่งเขาตั้งเป็นอีกหมวดหนึ่งนั้นทำไม่ได้ ซึ่งศาลวินิจฉัยว่าเป็นเจตนาซ่อนเร้นที่จะจำแนกพระมหากษัตริย์ออกจากรัฐ เพราะศาลเคยวางบรรทัดฐานเอาไว้แล้วว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับชาติ เป็นศูนย์รวมจิตใจของพสกนิกรและประชาชนของชาติ เป็นรากฐานของสิ่งต่างๆของการเมืองการปกครอง และความเป็นอยู่ ประเพณีต่างๆ ศาลจึงได้วินิจฉัยเอาไว้เบื้องต้น โดยใช้คำว่ามีโบราณราชประเพณี และนิติประเพณีสืบต่อกันมา ดังนั้นความชอบที่หากจะแก้มาตรา 112 ก็คงจะต้องทำในทิศทางตรงกันข้ามในทิศทางที่ศาลวินิจฉัยเอาไว้