”ไทยสร้างไทย”อัดรัฐปล่อยปะละเลยจนโควิดระบาดรอบที่ 3 และล้มเหลวในการบริหารจัดการเรื่องวัคซีน
นายเทพฤทธิ์ สีน้ำเงิน คณะทำงานด้านนโยบายและแผน พรรคไทยสร้างไทย ได้ตั้งคำถามไปยังรัฐบาล ว่าเงินกู้ 40,000 ล้านบาท ที่กู้มาในปีที่แล้ว เพื่อนำมาเตรียมความพร้อม พัฒนาศักยภาพด้านสาธารณสุข รองรับปัญหาCOVID-19 รัฐบาลนำไปใช้อะไรบ้าง
ทำไมเราถึงยังเห็นความไม่พร้อมในการรับมือของภาครัฐ ในการปล่อยปะละเลยจนเกิดการระบาดในรอบที่3 ตั้งแต่การบริหารจัดการ ที่จะทำให้ประชาชนเชื่อมั่นในมาตรการของรัฐนั้น ถือว่าล้มเหลว ความไม่พร้อมทั้งที่ใช้เงินกู้ไป40,000ล้านบาท และประสิทธิภาพการดำเนินงานที่ควรต้องปรับปรุง มีดังต่อไปนี้
1) ความไม่พร้อมของการตรวจหาผู้ติดเชื้อ ที่ยังไม่เปิดให้คนไทยเข้าถึงการตรวจหาเชื้อได้ง่ายและฟรี คือถ้าจะไปตรวจที่รพ. รัฐ เงื่อนไขเยอะไปหมด โชคดีที่เวฟแรก ของการระบาดรอบ3 ที่คัสเตอร์ทองหล่อ เกิดในกลุ่มคนเมืองที่พอมีกำลังไปตรวจรพ. เอกชนเอง
แต่หลังสงกรานต์ จะเกิดเวฟ 2 ของการระบาดรอบ3 ที่จะกระจายไปยังจังหวัดต่างๆทั่วประเทศ ด้วยปริมาณที่มากและรวดเร็ว รัฐบาลเตรียมความพร้อมให้แต่ละจังหวัดในเรื่องการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อ และการรักษาพยาบาลได้มากน้อยแค่ไหน
2) ความล้มเหลวในการบริหารจัดการเรื่องวัคซีนของรัฐบาล ที่มีปัญหา3 ด้าน –ตัวเลือกวัคซีนของประเทศไทยมีน้อยมาก รัฐบาลสั่งซื้อเพียงแค่ 2 ยี่ห้อ และเป็นยี่ห้อที่มีปัญหาทั้งคู่ ประเทศต่างๆในอาเซียนล้วนมีตัวเลือกมากกว่าประเทศไทยทั้งสิ้น
– จำนวนที่สั่งซื้อของรัฐบาลไทยรวมกันเพียง 63 ล้านโดส ซึ่ง จะฉีดให้คนไทยได้เพียง31.5 ล้านคน จึงไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากรที่จะให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่
ซึ่งตามหลักทางด้านการแพทย์ต้องฉีดให้ได้ 70% ของประชากรหรือ ประมาณ40-45 ล้านคน
– ประสิทธิภาพในการฉีดช้ามาก วัคซีนเท่าที่มีอยู่ในประเทศ ขณะนี้เพียง 940,000โดส ที่รัฐบาลสั่งมาตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ แต่จนถึงวันนี้รัฐบาลฉีดให้ประชาชนได้เพียงหนึ่งในสามของจำนวนที่สั่งมาเท่านั้น ถ้าใช้อัตราการฉีดในระดับนี้ ปีหน้าก็ยังฉีดให้คนไทยไม่ได้ครบ 63 ล้านโดส
เราคงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าการแพร่ระบาดรอบใหม่นี้ เป็นวิกฤติที่เราทุกคนต้องฝ่าไปด้วยกัน แต่หน่วยงานที่ควรออกมาแสดงตัวและยอมรับต่อการระบาดครั้งนี้ควรเป็นรัฐบาล ที่ไม่ว่าจะเกิดการแพร่ระบาดกี่ครั้ง ต้นสายปลายเหตุก็มาจากความไร้ความสามารถของรัฐบาลที่ปล่อยปะละเลย จนเกิดการแพ่รระบาดครั้งใหญ่ถึงครั้งที่ 3 ด้วยกัน สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ ชีวิต และทรัพย์สินของภาคประชาชนเป็นอย่างยิ่ง
โควิดรอบนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความไม่เชื่อมั่นในระบบสาธารณสุขไทย รวมไปถึงจริยธรรมของคนของรัฐบางคน รัฐบาลไร้ประสิทธิ์ภาพในการจัดสรรงบประมาณและการดูแลสถานพยาบาลต่างๆ ดังที่เป็นข่าวในก่อนหน้านี้ว่า โรงพยาบาลเอกชน งดรับตรวจผู้ป่วยเนื่องจาก น้ำยาตรวจหมด เงินค่ารักษาจากผู้ป่วยในการแพร่ระบาดรอบก่อนหน้านี้ก็ยังไม่ได้รับ รวมไปถึงเตียงที่ไม่เพียงพอต่อการรักษาของผู้ป่วย
แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของรัฐบาลที่จะนำไปใช้หรือปรับใช้ ให้สถานการณ์คลี่คลายลงอย่างเร็วที่สุด เพราะทุกนาทีที่เราเสียไป ประชาชนก็ยิ่งแบกรับความเสี่ยงเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น