เริ่มแล้ว! ถกงบฯ 67 วาระ2-3วันแรก “ภูมิธรรม” เผยปรับลด 9 พันกว่าล้านบาท “ศิริกัญญา” ตัด 3 หมื่นล้านในงบรวม ชี้รัฐบาลขาดประสิทธิภาพเร่งรัดเบิกจ่ายงบแม้ใช้งบไปพลางก่อน เหน็บ “นายกฯ” เพิ่งให้ปรับลดงบไม่จำเป็นในงบประมาณ 68 ทั้งที่มอบนโยบายไปก่อนแล้ว ด้าน ‘จุลพันธ์’ยันเดินหน้า “ดิจิทัล วอลเล็ต”แน่นอน ลั่นกู้ผ่านพ.ร.บ.หวังระยะยาวทำงบฯสมดุลในเวลาที่เหมาะสม
เมื่อวันที่ 20 มี.ค.67 เวลา 09.30 น.ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาฯที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ทำหน้าที่ประธานในการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณร่ายจ่ายประจำปีงบประมาณปี 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท วาระ 2 โดยเป็นการพิจารณาเรียงตามรายมาตรา ซึ่งคณะกรรมาธิการ(กมธ.)วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 พิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้ว
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกมธ.วิสามัญ กล่าวสรุปรายงานของคณะกมธ. ว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้เริ่มพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค. ถึงวันที่ 13 มี.ค. ซึ่งถือว่าดำเนินการได้รวดเร็วกว่าที่กำหนดไว้ถึง 2 สัปดาห์ เป็นการพิจารณารายละเอียดงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณ รวม 737 หน่วยรับงบประมาณ โดยในการดำเนินงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณารายละเอียดงบประมาณรายจ่ายฯ จำนวน 8 คณะ ได้ปรับลดงบประมาณลง 9,204 ล้านบาท
นายภูมิธรรม กล่าวต่อว่า นอกจากนี้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้พิจารณาอนุมัติให้มีการเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่าย ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงงบประมาณ จากสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข แผนงานบุคลากรภาครัฐ รายการบุคลากรภาครัฐ จำนวน191 ล้านบาท ไปเป็นงบประมาณรายจ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อเป็นเงินอุดหนุน สำหรับสนับสนุนการถ่ายโอนบุคลากรสถานีอนามัยเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษานวมินทราชินี และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลให้แก่องค์การบริหารส่วนจังหวัด 43 แห่ง ซึ่งเป็นไปตามประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตามพ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 ทั้งนี้ ตนและคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ยินดี และพร้อมที่จะชี้แจงข้อซักถามของท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติในแต่ละมาตราต่อไป
จากนั้นเวลา 09.45 น. เป็นการพิจารณาเรียงมาตรา โดยในมาตรา 4 งบรวม น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะกมธ.ขอสงวนความเห็น กล่าวว่า ตนขอปรับลด 3 หมื่นล้านบาท เพราะงบประมาณเบิกจ่ายล่าช้า เนื่องจากงบปี 67มีการอนุมัติงบไปพลางก่อนไปแล้วโดยผอ.สำนักงบประมาณ มูลค่า 1,8 ล้านล้านบาท ส่วนที่เหลือที่สภาฯสามารถพิจารณาได้จริงๆ โดยที่ไม่ต้องไปโอนเปลี่ยนแปลงคืน ไม่ต้องถูกสำนักงบฯทักท้วงในห้องประชุม มีมูลค่าไม่ถึงครึ่งหนึ่งคือ1.68 ล้านล้านบาท ดังนั้นถ้ามีใครบอกว่างบประมาณไม่ออก 2ไตรมาสแรก ไม่ได้เป็นปัญหาจากที่สภาฯ เนื่องจากสำนักงบฯได้มีการอนุมติงบไปพลางก่อนแล้ว แต่ที่เบิกจ่ายล่าช้าเป็นเพราะรัฐบาลขาดประสิทธิภาพในการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ เพราะงบใช้ไปพลาง สำหรับงบประจำเบิกจ่ายไปแล้ว ณ วันที่ 15 มี.ค.เบิกได้แค่ 79 เปอร์เซน แต่ที่กังวลคือรายจ่ายลงทุน มีการอนุมัติไปแค่ 155,000 ล้านบาท ซึ่งปกติเราอนุมัติรายจ่ายลงทุนทั้งปี ประมาณ 6 แสนล้านบาท แต่ปรากฎว่าเบิกจ่ายไปได้เพียง 55 เปอร์เซน ใน6เดือน ดังนั้นตนคิดว่าถ้ารัฐบาลขาดประสิทธิภาพในการเบิกจ่ายงบฯขนาดนี้ ก็สมควรถูกตัดงบลง
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่าประมาณการรายได้อาจผิดพลาด รัฐบาลได้ออกนโยบายที่จะกระทบการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลหลายส่วน เช่น จะไม่เก็บภาษีการขายหุ้น ทำนโยบายลดหย่อนกองทุน ESG ลดการนำส่งรายได้ของ กฟผ. ตอนนี้ลดไปแล้ว 8 พันล้านบาท แต่ไม่รู้ว่านำส่งจริงจำนวนเท่าไหร่ ลดภาษีสรรพสามิตสำหรับลดค่าใช้จ่ายราคาน้ำมันให้กับประชาชน ทั้ง12 เดือน น่าจะใช้ไป 6 หมื่นล้านบาท 4 เดือนแรกก็ต่ำกว่าประมาณการ 2 หมื่นกว่าล้านบาท และยังมีรายได้ที่อาจจะจัดเก็บน้อยลงเนื่องจากเศรษฐกิจโตช้ากว่าตอนทำงบกระมาณ ดังนั้นคำนวณแล้ว มีความเสี่ยงที่จะประมาณการรายได้ประมาณ 110,000 ล้านบาท และจัดเก็บงบประมาณได้จริงไม่ถึง 2.787 ล้านล้านบาท ตามที่ประมาณการไว้
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า ปัญหาที่ตามมาคือ หากรายได้พลาดเป้า รัฐบาลต้องกู้เงินเพิ่มเพื่อชดเชยการขาดดุล 693,000 ล้านบาท เสี่ยงต่อการชนเพดานเงินกู้ซึ่งอยู่ที่ 790,656 ล้านบาท อีกเพียง 97,656 ล้านบาท จะชนเพดาน หากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นจะทำอย่างไร แน่นอนว่าใครของบก่อนได้ก่อน จึงเห็นว่าควรต้องมาจัดสรรลำดับความสำคัญกันใหม่ ด้วยการปรับลดงบประมาณลงเล็กน้อย เพื่อให้สถานะทางการคลังของประเทศไม่สะดุดหยุดลงหรือมีปัญหา และในกมธ.ฯนายกรัฐมนตรี ได้เสนอตัดงบประมาณที่ไม่จำเป็นสำหรับปี 68 ได้แก่ งบประชาสัมพันธ์ ฝึกอบรมและดูงาน ค่าใช้จ่ายเดินทางต่างประเทศ ค่าใช้จ่ายในการเช่ายานพาหนะ ลดการบรรจุอัตรากำลังใหม่ แต่ตอนนี้งบประมาณปี 68 หน่วยรับงบประมาณได้ส่งคำขอไปตั้งแต่วันที่ 2 ก.พ. 67 ตนยังงงอยู่ว่าทำไมนายกฯ เพิ่งทราบจากกมธ.ว่าเราจำเป็นที่จะต้องลดงบที่ไม่จำเป็นเหล่านี้ แล้วมาสั่งวันที่ 3มี.ค.67 ออกหนังสือวันที่ 6 มี.ค.67 ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่เราไม่มีนโยบายแบบนี้ตั้งแต่การมอบนโยบายงบ 68 ตั้งแต่วันที่ 12 ม.ค.67 แต่เราจะติดตามอย่างใกล้ชิดสำหรับงบปี 68 ซึ่งจะเผยโฉมหน้าให้ประชาชนทราบ ที่จะเข้าครม.ในสัปดาห์หน้า
ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะรองประธานกมธ. ชี้แจงว่า ข้อเท็จจริงงบประมาณไปพลางก่อนไม่ใช่อำนาจของสำนักงบฯฝ่ายเดียว แต่มีเรื่องของกลไกลตามข้อกฎหมายและรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีการอนุมติเห็นชอบผ่านนายกฯ รวมกับสำนักงบฯ และเนื่องจากเวลาในการทำงบฯประจำปีไม่ทันจึงมีความจำเป็นต้องใช้ แต่ในการใช้งบไปพลางก่อนจะมาตั้งโครงการใหม่ ซึ่งไม่ได้รับการบรรจุในงบประมาณปีก่อนหน้าทำไม่ได้ งบประมาณไปพลางก่อนข้อดีคือผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาในปีก่อนหน้ามาเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นจึงเป็นโครงการที่ได้รับความเห็นชอบจากตัวแทนประชาชนในระดับหนึ่ง ซึ่งนายกฯและผอ.สำนักงบฯสามารถกำหนดได้เฉพาะหลักเกณฑ์เงื่อนไขเท่านั้น เช่นงบประจำ เงินเดือนข้าราชการ เป็นต้น
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า รัฐบาลนี้เข้ามาเราได้มีการอนุมัติแผนการคลังปี 68-71 โดยให้ความสำคัญของการลดขนาดการขาดดุลงบประมาณลง เพื่อให้สอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยกำหนดวงเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณปี 68 จำนวน 7.13 แสนล้านบาท ลดลงปีละประมาณ 1 หมื่นล้านบาท เฉลี่ยปีละ 0.2 เปอร์เซนของจีดีพี หากระยะต่อไปเราสามาถทำการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้มีการขยายตัวได้เต็มศักยภาพ อย่างที่วางเป้าไว้ที่ 5 เปอร์เซน ภาครัฐก็สามารถเสริมสร้างความเข้มแข็งในเรื่องของการคลังได้ทั้งด้านรายได้และหนี้สาธารณะ ก็สามารถบริหารได้เหมาะสมเพื่อที่จะเดินไปสู่เป้าหมายการคลังในระยะยาวได้ และสามารถเดินหน้าทำงบประมาณสมดุลได้ในเวลาที่เหมาะสม
“ยืนยันว่าโครงการของรัฐบาลทุกโครงการ ไม่ว่าจะเป็นดิจิทัล วอลเลต หรือโครงการใดก็ตามยังจะเดินหน้า แต่ด้วยกรอบการพิจารณาของชั้นคณะกรรมการผู้ดำเนินการนโยบายดิจิทัล วอลเลต เรายังยืนยันว่าอาจจะต้องมีความจำเป็นจะต้องกู้ผ่านพ.ร.บ. แต่หากจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร ก็คงจะมาผ่านการพิจารณาการให้ความเห็นของจากสมาชิกอีกครั้ง ยืนยันว่าเราจะเดินหน้าแน่นอน”นายจุลพันธ์ กล่าว
จากนั้นที่ประชุมลงมติเห็นไม่มีการแก้ไขตามเสียงข้างมากของกมธ.