สภาฯถกงบฯ 67 วันที่สอง เริ่มมาตรา 16 งบก.ดีอี หั่นเหลือ 5.3 พันล้าน “เรืองไกร” เผย สตง.ตรวจพบส่อทุจริตหลายโครงการ ด้าน “ก้าวไกล” กังขากรมอุตุฯของบซื้อเครื่องวัดฝุ่นพิษ 19 ล้าน แนะ หน่วยงานแก้ฝุ่น PM 2.5 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ทำได้ต้นทุนไม่ถึง 1 ล้าน
เมื่อวันที่ 21 มี.ค.67 เวลา 09.00 น.ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯคนที่สอง ทำหน้าที่ประธานในการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท วาระ 2-3 จำนวน 41 มาตรา วาระ 2-3 วันที่สอง โดยก่อนเข้าสู่วาระการประชุมประธานในที่ประชุมได้เปิดให้สมาชิกหารือถึงปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ อาทิ ปัญหาภัยแล้ง การจราจรติดขัด หลังฝนตกน้ำท่วมในพื้นที่ กทม.เพื่อรอให้องค์ประชุมครบ
จากนั้นเข้าสู่การพิจารณามาตรา 16 งบประมาณกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่มีการปรับลดงบประมาณเหลือ 5,347,054,800 บาท จากเดิมที่เสนอมา 5,419,139,300 บาท โดยนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ กมธ. กล่าวว่า ตนขอสงวนความเห็นเพื่อปรับลดหรือตัดทอนรายจ่ายของกระทรวงดิจิทัล จำนวน 5,419,139,300 ล้านบาทเศษลง 596.1 ล้านบาท รวม 13 รายการ เนื่องจากมีข่าวว่า สตง.ตรวจสอบพบการทุจริตในหลายโครงการของกระทรวงนี้ และงบประมาณก็คงออกได้เพียงครึ่งหนึ่ง จึงขอให้ดูผลสอบของ สตง.ด้วย
นายณัฐพล โตวิจักษ์ชัยกุล สส.เชียงใหม่ พรรคก้าวไกล ในฐานะกมธ.เสียงข้างน้อย อภิปรายว่า ตนจะเน้นในส่วนของกรมอุตุนิยมวิทยา ที่ถนัดในเรื่องลมฟ้าอากาศ แต่เรื่องราคาในเอกสารอาจไม่แม่นเท่าไร โดยกระทรวงดิจิทัลได้ถูกปรับลดงบลง 72 ล้านบาท กรมอุตุฯ ถูกปรับลดลง 19 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการเกี่ยวกับฝุ่น PM 2.5 ที่กรมอุตุฯ ตั้งไว้ว่าเป็นโครงการระบบตรวจวัดชั้นบรรยากาศใกล้ผิวโลก และวัดฝุ่นละออง PM 2.5 เป็นงบผูกพันปีงบประมาณ 67-68 รวมมูลค่า 127,223,000 บาท แบ่งเป็นงบ 67 จำนวน 19,083,500 บาท งบ 68 จำนวน 108,139,500 บาท ซึ่งปัญหา PM 2.5 ไม่ได้มีแค่ กทม.และภาคเหนือ แต่แพร่ไปทั่วประเทศแล้ว โดยโครงการนี้จะจัดซื้อเครื่อง LIDAR PDL ซึ่งเป็นเครื่องยิงเลเซอร์ตรวจวัดปริมาณฝุ่นละอองในชั้นบรรยากาศ เพื่อเก็บสถิติและใช้พยากรณ์ปริมาณฝุ่น PM2.5 ในแต่ละวัน
นายณัฐพล กล่าวต่อว่า แต่รายละเอียดเหล่านี้ไม่มีการชี้แจงใดๆ จากกรมอุตุฯ เลย ตนได้ข้อมูลจากเพื่อนที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ ที่กระซิบบอกให้จับตาดูโครงการนี้เพราะราคาดูแปลกๆ ซึ่งการพิจารณาในวาระ 1 ตนได้สอบถามกับกรมอุตุฯ โดยมี 3 บริษัทที่เสนอราคามา ยกตัวอย่าง 1 บริษัท เสนอราคาเครื่อง LIDAR PDL 2 เครื่องในราคาเครื่องละ 18 ล้านบาท แต่กรมอุตุฯ ไม่รู้ว่าประเทศไทยเคยมีเครื่องนี้แล้วในราคาเครื่องละ 5 ล้านบาท และพังไปแล้ว ซึ่งเมื่อมันพังทางบริษัทซัพพลายเออร์เสนอซ่อมเครื่องละ 2 ล้านบาท แต่เครื่องดังกล่าวกลับถูกทิ้งไว้เฉยๆ อีกสิ่งที่กรมอุตุฯไม่รู้คือนักวิทยาศาสตร์ไทยกำลังผลิตเครื่องนี้ใช้เองในราคาไม่ถึง 1 ล้านบาท สุดท้ายไม่รู้อะไรดลใจกรมอุตุฯ ให้ตัดงบในโครงการนี้ 19 ล้านบาท ทิ้งไป ซึ่งตนเห็นด้วย เพราะชี้แจงไม่ชัดเจน ราคาเสนอมาแพงเกินจริง และไม่รู้ว่าคนไทยผลิตใช้เองได้
“ผมอยากฝากไว้ทั้งกรมอุตุฯ และกรมที่ข้องเกี่ยวกับ PM 2.5 หากท่านจะตั้งงบซื้อเครื่อง LIDAR PDL ในอนาคตขอให้ทราบว่าสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ สามารถผลิตใช้ได้เองแล้ว ต้นทุนไม่ถึง 1 ล้านบาท และมาพร้อมกับโมเดลการวิเคราะห์เก็บข้อมูลต่างที่นักวิจัยไทยเขียนไว้ทั้งหมด ซึ่งมีความเหมาะสมที่จะใช้ในประเทศไทย”นายณัฐพล กล่าว
จากนั้นที่ประชุมได้ลงมติเห็นด้วยกับ กมธ.งบฯ เสียงข้างมาก ก่อนพิจารณามาตรา 17 งบประมาณกระทรวงทรัพยากรฯ ต่อไป