นายกฯ ย้ำความจำเป็นเดินหน้าโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เหตุเศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าศักยภาพ ต้องกระตุ้นเพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ให้กระจายตัวไปสู่ท้องถิ่น กำชับดำเนินการด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ระมัดระวัง เพื่อประโยชน์ประชาชน
เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 67 เวลา 11.00 น. ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ครั้งที่ 2/2567 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญสรุป ดังนี้
โอกาสนี้ นายกฯ กล่าวถึงสถานการณ์เศรษฐกิจไทยว่าเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าเศรษฐกิจไทยมีปัญหาเรื่องการเจริญเติบโตต่ำกว่าศักยภาพเป็นเวลายาวนาน รวมถึงต้องเผชิญกับ Headwind ทั้งภายในและภายนอก เช่น ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) การฟื้นตัวของรายได้ของประชาชนที่ไม่เท่ากันตั้งแต่หลังโควิด-19 และภาระดอกเบี้ยที่ยังสูงตลอดมา เป็นต้น ดังนั้น การดำเนินมาตรการเพื่อสร้าง Momentum และกระตุ้นเศรษฐกิจจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เป็นหนึ่งในมาตรการระยะสั้น ที่จะเพิ่มเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ให้กระจายตัวไปสู่ท้องถิ่น ผ่านประชาชนผู้ได้รับสิทธิและผู้ประกอบการร้านค้า ดังนั้น การดำเนินโครงการฯ ที่มีขอบเขตและเงื่อนไขที่เหมาะสมกับบริบทเศรษฐกิจในปัจจุบัน ย่อมส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวม และช่วยดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น
นายกฯ ย้ำว่าจากที่กล่าวมา โครงการ Digital Wallet จึงควรถูกขับเคลื่อน และผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว นอกจากนี้ ยังได้รับทราบว่า คณะทำงานรวบรวมข้อมูล ความเห็น ข้อเท็จจริง และข้อเสนอแนะทุกภาคส่วน ได้จัดตั้งขึ้นแล้ว และอยู่ระหว่างรอหน่วยงานต่าง ๆ ให้ความเห็นกลับมา ซึ่งก็ขอให้การดำเนินโครงการนี้เป็นไปโดยคำนึงถึงความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ อย่างครบถ้วน โดยวันนี้จึงเห็นว่า ที่ประชุมควรมีการพิจารณาทางเลือกแหล่งเงินที่จะใช้ในโครงการฯ และมอบหมายให้หน่วยงานหลักที่รับผิดชอบดำเนินโครงการฯ ไปพิจารณาจัดทำรายละเอียด ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และเป็นไปตามข้อพึงระวัง หรือความเห็นจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่ได้รับมา
พร้อมกันนี้ นายกฯ ได้เน้นย้ำว่า รัฐบาลจะดำเนินโครงการฯ ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 โดยกระบวนการต่าง ๆ ต้องเป็นไปตามกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ และต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และที่สำคัญ การใช้อำนาจต่าง ๆ ในการดำเนินการโครงการ Digital Wallet นี้จะต้องเป็นไปโดยซื่อสัตย์ สุจริต รอบคอบ และระมัดระวัง เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ และประชาชนโดยรวม ตลอดจนรักษาวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ ภายหลังการประชุมนายกฯ ยังได้เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า วันนี้ที่ประชุมฯ ได้รับทราบถึงสถานการณ์เศรษฐกิจมีปัญหาและมีความจำเป็นต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากมีการเติบโตต่ำของ GDP ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา โดยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีการเจริญเติบโตสูงกว่าประเทศไทย ทั้งนี้กระทรวงการคลังได้เสนอความเป็นไปได้ของแหล่งเงินในโครงการ Digital Wallet นอกเหนือจากการออกพระราชบัญญัติเงินกู้ โดยมอบหมายให้กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณไปดำเนินการ พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์สรุปหลักเกณฑ์ร้านค้าและสินค้า และมอบให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และบอร์ดรัฐบาลดิจิทัล (คณะกรรมการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล) สรุปการพัฒนาระบบและการจัดทำในลักษณะเปิด หรือ Open loop เพื่อให้สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจกระเป๋าเงินเข้าร่วมโครงการ อีกทั้งมอบหมายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติวางกรอบการตรวจสอบวินิจฉัย ร้องทุกข์ กล่าวโทษและการเรียกเงินคืน โดยให้ทุกหน่วยงานรายงานที่ประชุมฯ วันที่ 10 เมษายน 2567 ซึ่งในวันที่ 10 เมษายน 2567 จะได้ข้อสรุปทั้งหมดและเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาภายในเดือนเมษายนต่อไป
นอกจากนั้น นายกฯ ยืนยันถึงกรอบเวลาตามที่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้แถลง โดยในไตรมาส 3 จะทำการลงทะเบียนร้านค้าและประชาชน และไตรมาส 4 เงินจะถึงมือประชาชน ซึ่งในที่ประชุมวันนี้ทุกภาคส่วนเห็นด้วย ต่างเห็นด้วยในขั้นตอนทั้งหมด ทั้งนี้ ขอให้ทุกคนรอฟังข่าวดีในวันที่ 10 เมษายนนี้