LGBTQ เฮ สภาฯฉลุยผ่าน “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” มติ 399 ต่อ 10 เสียง ลุ้น สว.พิจารณาด่านสุดท้าย
เมื่อวันที่ 27 มี.ค.2567 มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯคนที่สอง ทำหน้าที่ประธานในการประชุม ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. หรือ กมธ.สมรสเท่าเทียม ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว
โดยนายดนุพร ปุณณกันต์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานกมธ.ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า ตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ในมาตรา 4 ได้กล่าวถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง” ยืนยันว่าการแก้ไขไฉบับนี้ เราทำเพื่อคนไทยทุกคน
ทั้งนี้กมธ.ที่ได้ตั้งขึ้นมาจากสส.จากหลายพรรคการเมือง มีการพิจารณาภายใต้ความหวังจากภาคประชาชนที่รอคอยว่าจะต้องผลักดันกฎหมายให้เร็วที่สุด ร่างฉบับนี้มีจำนวน 68 มาตรา โดยมี 3 ประเด็นสำคัญ
1.กมธ.เห็นว่า บทบัญญัติบางมาตราของพ.ร.บ. มีการใช้ถ้อยคำไม่สอดคล้องกับบริบทของสังคมในปัจจุบัน จึงมีการปรับถ้อยคำให้เกิดความเหมาะสม เกิดความเท่าเทียมทางเพศ
2.กมธ.เห็นว่า เกณฑ์อายุขั้นต่ำในการหมั้น และการสมรส ของบุคคล ควรกำหนดไว้ที่ 18 ปีบริบูรณ์ เพื่อให้ผู้ที่จะทำการหมั้นสมรส มีอายุพ้นจากการเป็นเด็ก เพื่อสอดคล้องกฎหมายในประเทศและการคุ้มครองสิทธิเด็กฯ และเป็นไปตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กที่ประเทศไทยเป็นภาคี
3.กมธ.ได้เพิ่มบทบัญญัติใหม่ 1 มาตรา เพื่อกำหนดให้คู่สมรสมีสิทธิ หน้าที่ ตามกฎหมายอื่นในฐานะสามี ภรรยา
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่กฎหมายฉบับใดกำหนดสิทธิ หน้าที่ สถานะทางกฎหมายหรือเรื่องอื่นใดแตกต่างกัน หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ยังคงต้องทบทวนกฎหมายให้แล้วเสร็จ ภายในระยะเวลาที่กำหนดในร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ต่อไป
“วันนี้เราทราบดีว่า ไม่ได้มีแค่เพศชาย-เพศหญิงอีกต่อไป มีคนกลุ่มหนึ่งที่อาจเกิดเป็นเพศชายหรือเพศหญิง เขาเลือกเกิดไม่ได้ แต่เลือกที่จะเป็นตามสิ่งที่เขาต้องการ เพราะฉะนั้นกฎหมายฉบับนี้ เราต้องการคืนสิทธิให้คนกลุ่มนี้ ไม่ใช่การให้สิทธิ แต่เป็นการคืนสิทธิที่เสียไป”นายดนุพร กล่าว
หลังจากมีการอภิปรายรายมาตราเสร็จสิ้น ที่ประชุมลงมติให้ความเห็นชอบในวาระ 3 ผลปรากฎว่า ที่ประชุม 399 ต่อ 10 เสียง งดออกเสียง 2 คน ไม่ลงคะแนน 3 คน จากนั้นจะส่งให้วุฒิสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป