สภาฯฉลุยรวดวาระแรก5ฉบับร่างกม.คุมเหล้า! ตั้งกมธ.วิสามัญ 42 คน ‘รมว.สาธารณสุข’ เผยรัฐบาลตั้งคกก.ศึกษาผลกระทบมิติศก.-สุขภาพ แนะเอาผลการศึกษารัฐบาลมาปรับใช้ ด้าน ‘ไอซ์ รักชนก’ วอนเลิกโลกสวย กระมิดเมี้ยนมองเหล้า-เบียร์เป็นของต้อง ‘ยี้’ แนะช่วยกันระเบิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ – ดันผู้ประกอบการตัวเล็กได้ส่วนแบ่งเท่าเทียม อัด ‘ร่างครม.’ กว้างครอบจักรวาล เน้นสกัดรายใหม่ไม่ให้เกิด ขณะที่ ‘ประชาชาติ’ ย้ำจุดยืนค้านหัวชนฝา ชี้ขัด ‘อัลกุรอาน’ ติงเสรีเกินขอบเขต จนลืมปัญหาสังคม
วันที่ 27 มี.ค.2567 เวลา 14.10 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุม เข้าสู่การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์(ฉบับที่.)พ.ศ. ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ ส่วนร่างของนายธีรภัทร์ คหะวงศ์ กับประชาชนผู้มีสืทธิ์เลือกตั้งจำนวน 92,978 คน เป็นผู้เสนอ ร่างของนายเจริญ เจริญชัย กับประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจำนวน 10,942 คนเป็นผู้เสนอ และร่างของนายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร สส.กทม. พรรคก้าวไกล กับคณะเป็นผู้เสนอ ซึ่งร่างที่ครม.รับไปพิจารณาก่อนรับหลักการ และส่งคืนมายังสภาฯ เพื่อพิจารณา และร่างของนายชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กับคณะ เป็นผู้เสนอ เนื่องจากเนื้อหาหลักการคล้ายกันจึงให้พิจารณาไปในคราวเดียวกันรวม 5 ฉบับ
โดยนพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ชี้แจงเหตุผลร่างพ.ร.บ.ฯของครม.ว่า หลักการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 และยกเลิกประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 253 วันที่ 16 พ.ย.2515 คือ 1.แก้ไขเพิ่มเติมนิยามคำว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการสื่อสารการตลาด และเพิ่มบทนิยามคำว่าผู้มีปัญหาจาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2.แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบและหน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัด และคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กรุงเทพฯ 3.ปรับปรุงหน้าที่และอำนาจของสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 4.แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเพื่อให้อำนาจรัฐมนตรี ประกาศกำหนดข้อยกเว้นบริเวณในสถานที่ราชการ ที่ให้ขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้
นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า 5.แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเพื่อกำหนดเวลาห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่หรือบริเวณที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือสถานที่หรือบริเวณที่จัดบริหารเพื่อให้มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อประโยชน์ในทางการค้า 6.เพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการโฆษณา 7.แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับการบำบัดรักษาหรือฟื้นฟูสภาพผู้ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้รวมถึงผู้มีปัญหาจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 8.แก้ไขเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ 9.ยกเลิกบทบัญญัติเรื่องการให้บุคคลที่เกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ 10.ปรับปรุงบทกำหนดโทษ โดยเพิ่มมาตรการปรับเป็นพินัย และแก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษให้สอดคล้องกับการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย และ11.ยกเลิกประกาศคณะปฏิติฉบับที่ 253
“พ.ร.บ.ฯปี 2551 ใช้บังคับมาเป็นเวลานานถึงปัจจุบันเป็นเวลาถึง 16 ปี ซึ่งมาตรา77 ของรัฐธรรมนูญ บัญญัติให้รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็นและยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้อง เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้า เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน และดำเนินการให้ประชาชนเข้าถึงกฎหมายได้โดยสะดวก เข้าใจกฎหมายได้ง่าย เพื่อปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง และให้รัฐมนตรีผู้รักษาการพิจารณาทบทวนความเหมาะสมของกฎหมายทุก 5 ปีที่กฎหมายใช้บังคับหรือเห็นว่าจำเป็นต้องมีการปรับปรุงแก้ไข จึงเห็นสมควรที่จะปรับปรุงพ.ร.บ.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปี 2551 ดังนั้นจึงอยากให้สมาชิกรับหลักการทุกฉบับ เพื่อส่งต่อไปสู่วาระที่2 มีคณะกรรมาธิการพิจารณารายละเอียดถึงความเหมาะสม และมิติสุขภาพกับมิติเศรษฐกิจจะต้องมีความสมดุลกัน” รมว.สาธารณสุข กล่าว
ด้านน.ส.รักชนก ศรีนอก สส.กทม. พรรคก้าวไกล อภิปรายสนับสนุน ร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ของนายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล โดยกล่าวว่า อันดับแรกตนว่าสภาต้องเลิกกระมิดกระเมี้ยน กันก่อน
”เราต้องมีมาตรการควบคุมผลกระทบที่เกิดขึ้นจากผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ แต่ต้องเลิกมองว่าเหล้าเบียร์เป็นสิ่งไม่ดีที่ เป็นสิ่งที่ต้องต่อต้านเลิกทำราวกับว่าสิ่งนี้เป็นตัวร้ายตัวเดียวที่สังคมต้องยี๊กัน ดิฉันอยากให้มองในแง่ การเพิ่มมูลค่าทาง เศรษฐกิจ และขจัดทุนผูกขาดไปด้วย หากอยากแก้ไขปัญหาพืชผลการเกษตรอย่างยั่งยืน ลองเอาลำไย มะม่วง มังคุด ลิ้นจี่ ที่มีวันหมดอายุมาบรรจุใส่ขวดเป็นเหล้า หรือ เบียร์ขาย สามารถยืดได้ทั้งอายุและเพิ่มมูลค่าของพืชผลการเกษตรได้ด้วย” น.ส.รักชนก กล่าว
น.ส.รัชนก กล่าวต่อว่า เราสามารถช่วยกันระเบิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ เอา5 แสนล้านบาทต่อปีที่อยู่ในธุรกิจเหล้าเบียร์เหล่านี้ มากระจายให้เกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อย ให้ทุกคนหารส่วนแบ่งทางเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียมกัน เวลาแก้ปัญหาพืชผลการเกษตร นักการเมืองที่มีทุนทรัพย์ก็หน้าใหญ่ใจบุญควักเงินไปช่วยเป็นครั้งคราว ถ่ายรูปว่าได้ช่วยแล้วสะบัดตูดหนี หรือมาตรการประกันราคาที่มีกันมาตลอด แต่สิ่งที่ยั่งยืนคือเอามันมาเพิ่มมูลค่า จะมานั่งพูดว่ามันไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ ทำเป็นอี๋ ดิฉันว่ามันย้อนแย้ง ยิ่งมาจากพรรคการเมืองที่ส่งเสริมกัญชาเสรี ดิฉันงงว่ากัญชาส่งผลร้ายแรงกว่าสุราอีก ท่านยังไม่ด่าขนาดนี้เลย”
น.ส.รักชนก กล่าวว่า ส่วนร่างของครม. มีการควบคุมโฆษณาเพิ่มมากขึ้นไปอีก โดยมาตรา 32 เขียนไว้กว้างครอบจักรวาล เช่นห้ามโฆษณา ห้ามแสดงชื่อ ห้ามแสดงเครื่องหมายโอ้อวดสรรพคุณ ห้ามจูงใจให้ผู้อื่นดื่มโดยตรงหรือโดยอ้อม หากตีความอย่างนี้ตียังไงก็เข้า ทำเดือดร้อนกันไปหมด ห้ามผู้ใดสนับสนุนงานแอลกอฮอล์แล้วงานสุราพื้นบ้าน งานเบียร์คาร์ฟของผู้ประกอบการรายย่อยไม่เสียหายตายไปหมดหรือห้าม ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจะทำให้ผู้ประกอบการ หน้าใหม่ในวงการสุราเวลาจะเขียนรีวิวอะไรให้สนับสนุนให้เขาได้ลืมตาอ้าปากก็ทำไม่ได้เลย มันเป็นการปิดกั้นโอกาสของผู้จะเติบโตเป็นรายใหม่ในตลาด ที่ผ่านมาผู้ค้ารายใหม่แทบจะไม่มีโอกาสอยู่แล้วมาเจอร่างนี้ต้องเอามือก่ายหน้าผาก
น.ส.รักชนก กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ร่างของครม.ยังกำหนดอัตราโทษจำคุกไม่เกิน1 ปีปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หากเป็นผู้ผลิตหรือนำเข้าจำคุกไม่เกิน1 ปีปรับไม่เกิน1ล้าน หนักกว่าของเก่าที่ปรับ5 หมื่น นอกจากนี้ตนยังงงที่ร่างของรัฐบาลกำหนด วันเวลา แล้วยังห้ามบริโภคในสถานที่ขายสุราด้วย อีกทั้งยังเพิ่มอำนาจให้เจ้าพนักงานสามารถเข้าตรวจค้นร้านเหล้าหลังเวลาทำการได้ ทุกวันนี้เรารู้อยู่แล้วว่ามีการเรียกเก็บส่วนกันกระหึ่ม ออกระเบียบแบบนี้มาเปิดช่องให้เรียกเก็บส่วยเพิ่มขึ้นได้อีกหรือไม่ถือเป็น ช่องโหว่อันใหญ่มาก
ขณะที่นายซูการ์โน มะทา สส.ยะลา พรรคประชาชาติ อภิปรายคัดค้านร่างพ.ร.บ.ทั้ง5 ฉบับ โดยยืนหยัดในอุดมการณ์และจุดยืนของพรรคประชาชาติว่าวันนี้เป็นวันที่ 16 ของเดือนรอมฏอน ซึ่งถือเป็นเดือนของการทำคุณงามความดีของชาวมุสลิมทั่วโลก แต่ในสภากลับมีการรับร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม ที่พรรคประชาชาติยืนหยัดว่าเราไม่เห็นด้วย และยังมีการเสนอร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามา5 ฉบับ เราพยายามมองในมิติรายได้ของประเทศ แต่ไม่ได้มองผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนคนไทยทั้งประเทศ โดยเฉพาะเยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติ ว่ามีอะไรบ้าง
“ผมพยายามติดตามการทำงานในฐานะสส. การออกกฏหมายต่างๆวันนี้เรายึดโยงอยู่กับความเสรี ทุกอย่างต้องเสรี สุราต้องเสรี กัญชาต้องเสรี การพนันต้องเสรี จนกระทั่งสภาพสังคมของประเทศกำลังสู่วิกฤตมีปัญหา” นายซูการ์โน กล่าว
นายซูการ์โน กล่าวด้วยว่า สาเหตุที่ตนไม่สามารถรับหลักการได้เนื่องจากตามหลักศรัทธา และหลักการของชาวมุสลิมแล้ว ร่างทั้ง5 ฉบับขัดกับหลักคัมภีร์อันกุระอาน ซึ่งเป็นธรรมนูญชีวิตที่คนมุสลิมยึดถือเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด และตนได้รับหนังสือคัดค้านจากกลุ่มตัวแทนเครือข่ายป้องกันและลดผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ภาคใต้ตอนล่าง ที่ได้ไปเยี่ยมพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าเขาไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.เหล่านี้ และต่างมีข้อกังวลห่วงใยที่สภาจะรับหลักการไป
“เยาวชนมีอายุแค่ 8 ขวบ และส่วนใหญ่เป็นสตรีที่มีความเสี่ยงเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากขึ้น ยิ่งเราไปทำการค้าเสรีสุราเสรีต่างๆตนเกรงว่าข้อห่วงใย ว่าทำอย่างไรที่จะป้องกันไม่ให้แอลกอฮอล์เข้าสู่ครอบครัวเพราะถ้าดื่มก็จะขาดสติ และเกิดปัญหาตามมามากมาย เช่นเมาแล้วขับ ทุกปีเรารณรงค์ถึงผู้เสียชีวิตเท่าไหร่ ประเทศไทย สูญเสียทางเศรษฐกิจจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปี 64 ถึงแสนกว่าล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่มาจากโรคของผู้ดื่มสุรา ทั้งเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ขาดงาน สูญเสียประสิทธิภาพจากการทำงาน ดังนั้นตนในฐานะที่เป็นตัวแทนของชาวอิสลามจึงไม่สามารถรับหลัการร่างพ.ร.บ.ทั้ง5ฉบับนี้ได้” นายซูการ์โน กล่าว
รมว.สาธารณสุข กล่าวสรุปว่า รัฐบาลมีมติตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหนึ่งชุด ศึกษาผลกระทบของมิติสุขภาพและมิติเศรษฐกิจ เพื่อเป็นคำตอบว่าอะไรเหมาะสมที่สุด ถ้ากมธ.วิสามัญฯจะเอาความคิดเห็นหรือผลการศึกษามาประกอบการพิจารณา ก็จะเป็นประโยชน์ เพราะกรรมการชุดนี้จะเร่งรัดศึกษาให้เสร็จสิ้นภายใน 3 เดือน คาดว่าหลังจากปิดสมัยสภาฯกมธ.วิสามัญฯ ก็ทำหน้าที่ไป ก่อนที่จะสรุปร่างในเดือน ก.ค. จึงขอขอบคุณสมาชิกที่จะรับหลักการกฎหมายฉบับนี้
จากนั้นที่ประชุมลงมติรับหลักการทั้ง 5 ฉบับ ด้วยคะแนน 389 ต่อ9 งดออกเสียง 2 ไม่ลงคะแนน 1 คะแนน พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 42 คน