สวนดุสิตโพลเผยผลสำรวจ : “ดัชนีการเมืองไทย”มี.ค.67 นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลที่มีความโดดเด่นยังเป็น “เศรษฐา”ฝ่ายค้าน “พิธา”ขณะที่ประชาชนโฟกัสไปที่การแก้ปัญหาปากท้อง และให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหายาเสพติด
เมื่อวันที่ 1 เม.ย.67 สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ดำเนินการสำรวจดัชนีการเมืองไทยประจำเดือนมีนาคม 2567 โดยสำรวจความคิดเห็นจากประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 2,254 คน (สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม) พบว่า
กลุ่มตัวอย่างให้คะแนนภาพรวมดัชนีการเมืองไทยประจำเดือนมีนาคม 2567 เฉลี่ย 5.10 คะแนน ลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ได้ 5.16 คะแนน ตัวชี้วัดที่ได้คะแนนสูงสุด คือ ผลงานของฝ่ายค้าน เฉลี่ย 5.56 คะแนน (เพิ่มขึ้นจากเดือน ก.พ.) ตัวชี้วัดที่ได้คะแนนต่ำสุด คือ การแก้ปัญหาความยากจน เฉลี่ย 4.80 คะแนน (เพิ่มขึ้นจากเดือน ก.พ.) นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลที่มีบทบาทโดดเด่นประจำเดือน คือ เศรษฐา ทวีสิน ร้อยละ 53.22 ด้านนักการเมืองฝ่ายค้านที่มีบทบาทโดดเด่นประจำเดือน คือ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ร้อยละ 59.32
ผลงานฝ่ายรัฐบาลที่ชื่นชอบประจำเดือน คือ สงกรานต์ 21 วัน ดัน Soft Power ร้อยละ 47.51 ผลงานฝ่ายค้านที่ชื่นชอบ คือ อภิปรายงบประมาณ ปี 2567 ร้อยละ 48.36 จากผลการสำรวจสะท้อนให้เห็นว่าดัชนีการเมืองไทยเดือนนี้ยังคงอยู่ในระดับปานกลาง คะแนนลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อน สาเหตุหลักอาจมาจากปัญหาปากท้องและเศรษฐกิจที่ประชาชนกังวล ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่ได้คะแนนไม่ดีนัก นอกจากนี้ผลสำรวจชี้ว่าฝ่ายค้านยังคงครองใจประชาชน อาจเป็นเพราะการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพของฝ่ายค้านในการทำงาน แต่ฝ่ายรัฐบาลเองก็เริ่มมีผลงานที่โดนใจประชาชนมากขึ้น ทั้งการผลักดัน Soft Power การจับบ่อน และแก้ปัญหาวงการตำรวจ
สำหรับการเมืองไทยในช่วงเดือนมีนาคมนี้ แม้จะมีประเด็นทางการเมืองเกิดขึ้นหลาย ๆ เหตุการณ์ อาทิ การทัศนาจรของอดีตนายกรัฐมนตรีไปยังที่ต่าง ๆ หรือประเด็นการอภิปรายของ ส.ว.เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลเศรษฐา แต่ผลการสำรวจมีคะแนนลดลงเล็กน้อยในภาพรวมเดือนมีนาคม 5.10 คะแนน ลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ที่ได้ 5.16 คะแนน นั่นแสดงให้เห็นว่า ประชาชนส่วนใหญ่โฟกัสไปที่การแก้ไขปัญหาปากท้องว่ารัฐบาลจะทำได้จริงหรือไม่ ซึ่งคะแนนเดือนนี้อยู่ที่ 4.80
เพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมา คือ 4.78 คะแนน ซึ่งแทบไม่ต่างจากเดือนที่ผ่านมา นอกจากนี้สภาพเศรษฐกิจโดยรวมยังมีคะแนนลดลงจากเดิม 5.14 โดยในเดือนนี้ ได้เพียง 5.00 คะแนน ยิ่งชี้ชัดว่าการแก้ไขปัญหาในส่วนนี้ยังไม่เห็นผล ในทางตรงกันข้าม ผลงานของฝ่ายค้านกลับได้คะแนนเพิ่มขึ้นจาก 5.52 เป็น 5.56 คะแนน ซึ่งอาจมาจากความเห็นใจของประชาชนกรณีการยุบพรรค
ดังนั้นหากรัฐบาลต้องการที่จะให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นจะต้องแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ประชาชนอยากให้เร่งแก้ไขปัญหายาเสพติดมีคะแนนถึง ร้อยละ 50.62 อาจเป็นเพราะประเด็นข่าวหรือสถานการณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดเกิดขึ้นบ่อยครั้งในรอบเดือนที่ผ่านมาคงต้องจับตาดูกันว่าปัญหาในประเด็นนี้จะเป็นอย่างไรต่อไปสำหรับเดือนหน้า