วันพุธ, ธันวาคม 4, 2024
spot_img
หน้าแรกNEWS“กมธ.ไอซีที” วุฒิฯ ชง 3 หน่วยงานสอบกระบวนการตั้งเลขา กสทช.ผิดปกติล่าช้าเกือบ 4 ปียังไม่ได้ตัว
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“กมธ.ไอซีที” วุฒิฯ ชง 3 หน่วยงานสอบกระบวนการตั้งเลขา กสทช.ผิดปกติล่าช้าเกือบ 4 ปียังไม่ได้ตัว

“กมธ.ไอซีที” วุฒิฯ ชง “สำนักนายกฯ -ป.ป.ช.-ผู้ตรวจการแผ่นดิน” ตรวจสอบ หลังพบกระบวนการตั้งเลขา กสทช.ผิดปกติล่าช้าเกือบ 4 ปียังไม่ได้ตัว ยันไม่ได้ก้าวก่ายแทรกแซง ชี้เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ กระทบการทำงานทำผลประโยชน์ชาติเสียหาย

วันที่ 2 เม.ย.2567 เวลา 10.00 น.ที่รัฐสภา พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา พร้อมด้วยพล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สว.ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษา ตรวจสอบการปฏิบัติงานของ กสทช. และนายประพันธ์ คุณมี สว.ในฐานะรองประธานคณะอนุกรรมาธิการฯ ร่วมกันแถลงถึงกรณีที่ได้ศึกษาเรื่อง “หลักเกณฑ์ ระเบียบ และคำสั่งที่เกี่ยวข้องกับ กระบวนการแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช. ตามพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2533 เสร็จเรียบร้อยแล้ว และนำเสนอรายงานการเลือกเลขาธิการ กสทช. เพื่อให้วุฒิสภา ดำเนินการพิจารณาเมื่อวันที่ 1 เม.ย. โดยพล.อ.อนันตพร กล่าวยืนยัน ว่า การตั้งอนุกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณาศึกษาไม่ได้เป็นการตรวจสอบ และยืนยันไม่ได้ก้าวก่าย กสทช.โดยได้ปรึกษาฝ่ายกฎหมายแล้ว พบว่า ตามมาตรา129 และ 185 ของรัฐธรรมนูญ กำหนดให้กรรมาธิการศึกษาเรื่องนี้

พล.อ.สมเจตน์ กล่าวว่าผลการศึกษาพบว่ามี 2 ความเห็นเกี่ยวกับการตั้งเลขา กสทช. คือ ประธาน กสทช. เห็นว่าเป็นอำนาจในการแต่งตั้งโดยประธาน และมีผู้เห็นด้วย 3 เสียง ส่วนความเห็นว่าเป็นหน้าที่ขององค์กรกลุ่ม มี 4 เสียงเห็นด้วย ซึ่งสอดคล้องกับการเลือกในสอดีต ส่วนกระบวนการตั้ง เลขา กสทช. ที่ล่าช้ามา กว่า 3 ปี นั้นเห็นว่า ตำแหน่งดังกล่าวมีความสำคัญ การที่ไม่เร่งพิจารณา ถือเป็นการทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. เสียหาย เพราะเป็นองค์กรดูแลคลื่นความถี่ได้ผลประโยชน์จากคลื่นความถี่จึงกระทบต่อการทำงาน

เมื่อถามว่าถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ พล.อ.สมเจตน์ กล่าวว่า เป็นสิ่งที่น่าคิกว่าการตั้งล่าช้าจะเป็นการปฏิบัติโดยมิชอบหรือไม่หลังอนุกรรมาธิการศึกษาแล้วยังตรวจพบความล้าช้า นอกจากความขัดแย้ง ความเห็นไม่ตรงกัน ยังมีเหตุการณ์แทรกซ่อน กรณีถ่ายทอดฟุตบอลโลกที่มีการกล่าวหา นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ทำการมิชอบด้วยกฎหมาย และมีมติ เปลี่ยนแปลง เพื่อให้เลขาคนใหม่มาทำหน้าที่สอบสวน แต่ประธาน กสทช. ไม่ลงนามจึงเป็นเหตุการณ์บานปลายสร้างความเสียหายให้ กสทช. จึงจะเสนอรายงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

ด้านนายประพันธุ์ กล่าวว่า นับแต่ 1 ก.ค.2563 ที่นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ ลาออก และตั้งรักษาการมาจนปัจจุบัน เกือบ4 ปี ดังนั้นนายไตรรัตน์ ทำหน้าที่รักษาการเกือบครบวาระแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติ วุฒิสภาเห็นว่า จะเกิดความเสียหายต่อประเทศและประชาชน หลายโครงการเดินหน้าไม่ได้ ซึ่งศึกษาพบสาเหตุความล่าช้า เพราะมีการตีความตามกฎหมายต่างกัน พร้อมตั้งข้อสังเกตว่าประธานออกประกาศ ของประธานเพื่อคัดเลือกเลขา กสทช.เอง ซึ่งมาเคยมีมาก่อนตามกฎหมาย เพราะไม่ใช่เลขานุการของประธาน แต่เป็นเลขาองค์กร ต้องทำงานรับใช้องค์กร เมื่อประธานประกาศและคัดเลือกเองเฉพาะตัวประธานก็ใช้เวลา 1 ปี 9 เดือนกว่าจะมาเสนอกรรมาการในที่ประชุม แต่ไม่ได้ให้ความเห็นชอบเพราะกรรมการไม่กล้ารับรอง จึงเกิดความล่าช้า

เมื่อถามว่าพฤติกรรมแบบนี้ส่อไปในการปฏิบัติหน้าที่มิชอบหรือไม่นั้น นายประพันธ์ กล่าวว่า ใน พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ กำหนดกรอบเวลาในการสรรหาเลขาต้องทำให้ได้ในกรอบ 90 วัน แต่ 3 ปีกว่าไม่สามารถตั้งได้ สะท้อนถึงการปฏิบัติหน้าที่ของผู้นำและคณะกรรมการองค์กรนั้น ดังนั้นในทางกฎหมายถือว่า เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ให้เสียหาย ล่าช้าเกินสมควร

เมื่อถามย้ำว่า กสทช. เป็นเหมือนแดนสนธยาหรือไม่ นายประพันธ์ กล่าวว่า เรื่องตั้งเลขา กสทช.เป็นคนละกรณีและไม่เกี่ยวข้องกับกรณีฟ้องร้องคดีฟุตบอลโลก ข้อสรุปที่ได้ศึกษามา พบว่าอะไรส่อไปในทางมิชอบด้วยกฎหมายจะเสนอรายงานไปถึงหน่วนงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ทั้งสำนักนายกรัฐมนตรี กรรมการป.ป.ช.และสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ดำเนินการร้องศาลตามขั้นตอนต่อไปได้ รวมถึงไปยัง กสทช. ด้วย หากพบว่าใครทำผิดก็ขอให้ดำเนินการ

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img