วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
spot_img
หน้าแรกHighlight‘จุลพันธ์’โวไม่นานจะเห็นสึนามิการลงทุน ต่างชาติมาลงทุน-สร้างงาน-สร้างอาชีพ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

‘จุลพันธ์’โวไม่นานจะเห็นสึนามิการลงทุน ต่างชาติมาลงทุน-สร้างงาน-สร้างอาชีพ

2 รมต.นั่งไม่ติด! “จุลพันธ์” โดดป้องนายกฯ โวลั่นอีกไม่นานจะเห็น “สึนามิการลงทุน” เกิดแน่ เจรจาลงทุนแสนล้านไม่มีใครตัดสินใจทันที ยัน “เศรษฐา” คือหัวหน้าคนเดียว ขณะที่ “ทวี” แจงยันไม่มีอำนาจ ย้อนร่วมอนุมัติพ.ร.บ.ราชทัณฑ์ในรัฐบาลที่แล้ว ด้าน “จุรินทร์” สวนกลับคิดแบบนี้ตรรกะวิบัติ ชี้ความรับผิดชอบของรัฐบาลนี้เต็มร้อย

เมื่อวันที่ 3 เม.ย.67 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม เพื่อพิจารณาญัตติขออภิปรายทั่วไปรัฐบาลแบบไม่ลงมติ ตามมาตรา 152 บรรยากาศเป็นไปด้วยการถกเถียงระหว่างฝ่ายค้านและรัฐบาล โดยในช่วงเช้าวันนี้ ฝ่ายค้านมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายได้เพียงคนแรก แต่มีรัฐมนตรีถึง 2 คนได้ขอใช้สิทธิ์ชี้แจงทันที

โดยนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ชี้แจงแทนนายกฯภาพรวมของรัฐบาล ยอมรับว่ามีส่วนที่รัฐบาลได้ใช้เงินไปแล้ว แต่เป็นส่วนของเงินเดือนรายจ่ายประจำ เงินผูกพันที่มีมาก่อนหน้า ไม่มีการลงทุนใหม่ ไม่มีโครงการที่รัฐบาลจะสามารถอนุมัติโครงการที่จะลงทุนใหม่ใหม่ได้ เป็นข้อจำกัดที่เราเผชิญมา จนถึงขณะนี้เมืองงบประมาณ ปี 67 ผ่าน หากประกาศใช้ก็จะมีงบประมาณสำหรับการขับเคลื่อนให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและของแต่ละกระทรวงที่กำกับดูแล ตนเป็นห่วงการอภิปรายพอสมควร เนื่องจากใช้คำพูดค่อนข้างแรงเช่น เศรษฐีไหนจะมาร่วมลงทุน ต้องเรียนว่า แม้นายกรัฐมนตรีจะเดินทางไปต่างประเทศ ไปแสวงหาเม็ดเงินลงทุนแสวงหาพันธมิตร แต่ต้องยอมรับว่ากระบวนการลงทุนลักษณะนี้ เงินแสนล้าน ไม่มีใครตัดสินใจได้ในวันเดียว ต้องมีกระบวนการพูดคุยเจรจาให้เกิดความต่อเนื่อง ซึ่งสิ่งที่นายกรัฐมนตรีได้เปิดการเจรจาและเปิดการหารือไว้และได้รับสัญญาณเชิงบวกเช่นเดียวกัน

“ผมเชื่อว่าอีกไม่นาน ตอนนี้สัญญาณเริ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยศักยภาพของประเทศไทยในเรื่องของโลเคชั่น ที่ตั้งของประเทศ เรื่องทรัพยากรธรรมชาติ เรื่องแรงงาน เรามีแรงจูงใจ มีศักยภาพที่จะไปขาย เพื่อเกิดเม็ดเงินเพิ่มขึ้นมากในอนาคตผมเชื่อว่าเราจะได้เห็นสึนามิการลงทุนเกิดขึ้นในประเทศไทย จากการลงทุนของต่างชาติที่จะไหลเข้ามามีการสร้างงานสร้างอาชีพ มีการถ่ายโอนความรู้ เทคโนโลยี เพื่อที่จะให้คนไทยมีความพร้อมรองรับกับตลาดโลก” นายจุลพันธ์ กล่าว

ประเด็นต่อมาเรื่องที่สมาชิกห่วงยังมีการสั่งการผ่านท่านใดอีกหรือไม่ นอกเหนือจากนายกรัฐมนตรี ตนในฐานะที่เป็นหนึ่งในคณะรัฐมนตรี สามารถพูดแทนรัฐมนตรีทุกคนได้ว่า “สิ่งนี้เป็นจินตนาการของท่านเอง ไม่ได้มีข้อเท็จจริงใดๆ” (พร้อมหัวเราะ)

นายจุลพันธ์ กล่าวย้ำว่า ประเทศไทยมีนายเศรษฐาเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของคณะรัฐมนตรี และในการดำเนินการของพวกเรา เป็นไปตามกลไกของคณะรัฐมนตรีและกฎหมายทุกประการ และเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต 10 เม.ย.นี้ มีข่าวดีให้กับประชาชนคนไทยทุกคนแน่นอน

ต่อมาพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม ชี้แจงว่า ตนขอชี้แจงด่วน ถ้าไม่ชี้แจงตอนนี้ อาจทำให้สังคมมีความสับสน เพราะนายจุรินทร์ ได้พูดถึงกระบวนการกระบวนการยุติธรรม เชื่อมโยงไปถึงกรมราชทัณฑ์ ตนอยากจะให้รับทราบว่า พ.ร.บ. ราชทัณฑ์ปี 2560 เป็น พ.ร.บ.ที่ออกในยุค สนช. ไม่ใช่รัฐบาลเศรษฐา ยืนยันว่าตนไม่มีอำนาจอะไรอยู่ใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ เนื่องจากในการร่างกฎหมายมีการเขียนบัญญัติโทษไว้ชัดเจน ไม่มีการอนุญาตให้ใช้ดุลยพินิจ

“ท่านจุรินทร์คงจะหมายถึงท่านอดีตนายกฯทักษิณ ท่านได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมก่อนรัฐบาลนี้จะเข้ามาบริหารประเทศ ก่อนรัฐบาลนี้คือรัฐบาลของท่านจุรินทร์ เป็นผู้บริหารประเทศร่วมกับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ท่านได้เข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรม รัฐบาลของท่านนั้น ในวันเดียวก็อนุญาตให้อดีตนายกฯทักษิณไปเอารักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ และอยู่ในชั้นที่ 14 ถ้าเป็นการกระทำอยู่ในยุคของท่าน ท่านใช้คำพูดอีกแบบอีกแบบหนึ่ง แต่พอมาเหตุการณ์ต่อเนื่องมาในยุคปัจจุบัน ท่านกล่าวว่าเป็นการทำลายกระบวนการยุติธรรม” พันตำรวจเอกทวี กล่าว

พ.ต.อ.ทวี กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาหลักนิติธรรมไม่เคยมีนิยามไว้ในพจนานุกรม ตั้งแต่ 2550 แต่หลังจากนั้นมาก็มีการบัญญัติไว้ว่าต้องใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน แสดงให้เห็นว่ากฎหมายเป็นใหญ่ ที่ท่านบอกว่าติดคุกทิพย์ ถือว่าเร็วร้ายมาก เวลาผู้ป่วยต้องให้ส่งรักษา ลองไปดูในเจตนารมย์ของกฎหมาย จะเห็นได้ว่าไม่ให้รัฐมนตรีมีดุลยพินิจเลย ให้ใช้ความเห็นของแพทย์ เมื่อแพทย์ส่งไปรักษาแล้ว เขาบอกว่าให้โรงพยาบาลสถานที่รักษาคือเรือนจำ ใช้สถานที่จำคุกก็คือโรงพยาบาล ในเมื่อกฎหมายบัญญัติไว้ลักษณะนั้น ตนไม่ได้อะไรกับนายทักษิณ ตนไม่อยากให้สังคมเกิดความสับสน เราต้องมองผลกระทบต่อสังคมด้วย ที่ตนลุกมาตอนนี้ เพื่อไม่อยากให้สังคมสับสน อยากให้ทราบว่าการที่ออกกฏหมายในครั้งดังกล่าว ตนอยากให้เราฟังความให้รอบด้าน ไม่อยากให้ใช้อคติในการอภิปราย

ทำให้นายจุรินทร์ ใช้สิทธิ์พาดพิง ลุกขึ้นตอบโต้ว่า พ.ต.อ.ทวีพูดมาหลายวิธีก็พูดแบบนี้ ว่ากฎหมายเกิดสมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์

“ตรรกะของท่านก็คือถ้ากฎหมายเกิดสมัยรัฐบาลประยุทธ์ มาถึงรัฐบาลนี้ ท่านจะทำถูกทำผิดอย่างไรไม่ได้เหรอครับ ถ้าตรรกะแบบนี้มันตรรกะวิบัติ ผมอภิปรายเรื่องที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของรัฐบาลนี้เต็มร้อย คือระเบียบที่คนที่ติดคุกที่บ้าน จะรวมคดีคอร์รัปชันหรือไม่ มันอยู่ที่ท่านแล้ว ถ้าท่านมองมุมกลับจะมองว่าเป็นการส่งเสริมให้คอร์รัปชัน รวมถึงเรื่องนิรโทษกรรมจะเกิดหรือไม่เกิดขึ้นในรัฐบาลนี้ ผมจึงต้องถามว่าจะรวมคดีทุจริตและละเลยการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 หรือไม่” นายจุรินทร์ กล่าว

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img