‘นิกร”เผยอนุกมธ.ฯชงล้าง 25 ความผิดแรงจูงใจทางการเมือง เคลียร์ผิดให้ทุกสี-กลุ่มเยาวชน แนะสั่งไม่ฟ้องล้านคดีความผิดเล็กน้อย
เมื่อเวลา 15.00น. ที่รัฐสภา นายนิกร จำนง ประธานอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาข้อมูลและสถิติคดีความผิดอันเนื่องจากแรงจูงใจทางการเมือง ในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรม แถลงความคืบหน้าการตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรมว่า อนุกมธ.ได้ประชุมครั้งสุดท้ายเพื่อสรุปแนวทางการตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรม เสร็จเรียบร้อยแล้ว จะเสนอให้คณะกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่มีนายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย พิจารณาในวันที่ 18เม.ย.เวลา 13.00น. สาระสำคัญที่อนุกมธ.ได้ข้อสรุปคือ นิยามแรงจูงใจทางการเมืองให้หมายถึง การกระทำที่มีพื้นฐานมาจากความคิดที่เกี่ยวพันกับเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมือง หรือต้องการบรรลุเป้าหมายทางการเมืองในช่วงเวลาที่มีความขัดแย้งหรือความไม่สงบทางการเมือง
โดยอนุกมธ.ได้รวบรวมข้อมูลและสถิติคดีความผิดอันเนื่องมาจากแรงจูงใจทางการเมือง จากสำนักงานศาลยุติธรรมที่มีการรวบรวมสถิติไว้อย่างเป็นระบบเป็นข้อมูลสถิติในการนำเสนอ เบื้องต้นฐานความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นนิรโทษกรรม มีทั้งหมด 25ฐานความผิด นำมาจากบัญชีท้ายร่างพ.ร.บ.การอำนวยความยุติธรรมทางอาญา ร่างพ.ร.บ.สร้างเสริมสันติสุข ของพรรครวมไทยสร้างชาติ ฐานคดีความผิดทางการเมือง ปี2557-2567 ของฐานะศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และกฎหมายที่มีความเกี่ยวเนื่องกับแรงจูงใจทางการเมือง จะใช้ครอบคลุมการกระทำความผิดอันเนื่องจากแรงจูงใจทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 1ม.ค.2548-2567
นายนิกรกล่าวว่า ส่วนฐานความผิดอันเนื่องมาจากแรงจูงใจทางการเมือง จะประกอบด้วย 1.การชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กลุ่มพันธมิตรฯ) ปี2548-2551 2.การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ปี2550-2553 3.การชุมนุมกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.)ปี2556-2557 4.การชุมนุมกลุ่มนักเรียน นักศึกษา เยาวชน และประชาชน ปี2563 ถึงปัจจุบัน ส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา110 และมาตรา112นั้น อนุกมธ.ไม่มีการชี้ชัดว่าจะอยู่ในพ.ร.บ.นิรโทษกรรมหรือไม่ เพราะที่ผ่านมามีการตั้งคณะกรรมการศึกษาเกี่ยวกับการปรองดอง สมานฉันท์และนิรโทษกรรมในหลายคณะ แต่คณะกรรมการเหล่านั้นไม่ได้พิจารณาเกี่ยวกับความผิดมาตรา 110 และ112 เนื่องจากเป็นประเด็นอ่อนไหว และเป็นเรื่องความมั่นคงแห่งรัฐ ดังนั้นความผิดทั้ง 2มาตรา ยังเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวอยู่ อนุกมธ.ยังไม่มีความเห็นในประเด็นดังกล่าว
นายนิกรกล่าวว่า อนุกมธ.มีความเห็นเพิ่มเติมว่าควรพิจารณาสั่งไม่ฟ้องในคดีอาญาที่ไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ โดยอาศัยมาตรา21 พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.2553 ที่ให้อำนาจพิจารณาสามารถส่งเรี่องให้อัยการสูงสุดพิจารณายุติคดีหรือถอนฟ้องคดีเหล่านี้ได้ เพื่อกรองคดีออกไปก่อนที่จะมีการนิรโทษกรรม อาทิ คดีความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินปี 2548 ที่มีอยู่73,009 คดี ในช่วงสถานการณ์โควิด หรือคดีความผิดเกี่ยวกับพ.ร.บ.จราจรทางบก ปี2522 ที่มี 2.6ล้านคดี ทั้งนี้อนุกมธ.จะเสนอรายงานเหล่านี้ต่อคณะ กรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ให้พิจารณาวันที่ 18เม.ย.2567 พิจารณาจะดำเนินการอย่างไรต่อไปเกี่ยวกับการตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรม พร้อมส่งรายงานให้คณะอนุกรรมาธิการจำแนกการกระทำ พื่อประกอบการพิจารณาแนวทางตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่มีนายยุทธพร อิสรชัย นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ในฐานะประธานอนุกมธ. ไปพิจารณาแนวทางจำแนกฐานความผิดต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางการตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรมต่อไป คาดว่า จะเสนอรายงานต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาได้ในช่วงเปิดประชุมสภาฯสมัยหน้า
ผู้สื่อข่าวถามว่า การนิรโทษกรรมน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะอยู่ในเกณฑ์ได้รับการนิรโทษกรรมหรือไม่ นายนิกรตอบว่า อนุกมธ.ไม่ได้พิจารณาประเด็นนี้ เพราะไม่สามารถพิจารณาเป็นรายบุคคลได้ ประเด็นที่อนุกมธ.พิจารณาคือ 1.อยู่ในระยะเวลาปี 2548ถึงปัจจุบันหรือไม่ 2.ฐานความผิด 25 ฐาน กรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้อยู่ใน 25 ฐานความผิดนี้ 3.เป็นความผิดที่มีแรงจูงใจทางการเมืองหรือไม่ ทั้งหมดนี้จะอยู่ในการพิจารณาของคณะอนุกมธ.ที่มีนายยุทธพรจะพิจารณากำหนดรายละเอียด จำแนกความผิดในการนิรโทษกรรมอีกครั้ง เมื่อถามย้ำว่า คดีจำนำข้าวนี้ไม่ได้อยู่ในฐานความผิดที่จะพิจารณาได้ใช่หรือไม่ นายนิกรตอบว่า ไม่ได้พิจารณาเป็นรายบุคคล หรือรายเคส แต่พิจารณาเป็นฐานความผิด ทุกเคสทุกคดีพิจารณาจาก 3 ประเด็นที่ว่ามา ส่วนตัวไม่มีความเห็นคดีน.ส.ยิ่งลักษณ์อยู่ในเงื่อนไขของอนุกมธ.หรือไม่ ยังไปไม่ถึงจุดนั้น แต่ยืนยันไม่มีใครส่งสัญญาณอะไรมา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ 25ฐานความผิดที่อนุกมธ.พิจารณาศึกษาข้อมูลและสถิติคดีความผิดอันเนื่องจากแรงจูงใจทางการเมือง อาทิ ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท มาตรา107-112 ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ มาตรา113-129 ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย ความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ซ่องโจร มาตรา211-214 ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง มาตรา215-216 ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดเพลิงไหม้ มาตรา217-220 ความผิดต่อร่างกาย มาตรา295-300 ความผิดต่อเสรีภาพ มาตรา309-321 ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ มาตรา358-361 ความผิดฐานบุกรุก มาตรา362-366 ความผิดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ปี2548 ความผิดตามพ.ร.บ.จราจรทางบกปี2522 ความผิดพ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ปี2558 ความผิดพ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง ปี2535