ครม.อนุมัติร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) คาดมีผลบังคับใช้ 11 พ.ค ประกาศกำหนดวันเลือกและวันรับสมัคร 13 พ.ค.ประกาศผลการเลือก สว. 2 ก.ค 67 พร้อมไฟเขียวงบ 227,105,500 บาท
นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. …. ซึ่งมีสาระสำคัญเป็นการให้ดำเนินการเลือกสมาชิกวุฒิสภาตามมาตรา 107 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เนื่องจากอายุของวุฒิสภาสิ้นสุดลง
นายคารม กล่าวว่า รัฐธรรมนูฐแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 269 (4) บัญญัติให้อายุของวุฒิสภาตามมาตรานี้ มีกำหนด 5 ปี นับแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งและได้มีพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2562 อายุของวุฒิสภาจึงครบกำหนด 5 ปี และจะสิ้นสุดลงในวันที่ 10 พฤษภาคม 2567 แต่ยังอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีสมาชิกวุฒิสภาขึ้นใหม่ ดังนั้น เมื่ออายุของวุฒิสภาสิ้นสุดลง ให้ดำเนินการเลือกสมาชิกวุฒิสภาโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 107 วรรคห้า ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งบัญญัติให้การเลือกสมาชิกวุฒิสภาให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา และภายใน 5 วัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดวันเริ่มดำเนินการเพื่อเลือกไม่ช้ากว่า 30 วัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีผลใช้บังคับ
“เพื่อให้การเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 107 วรรคห้า และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 21 จึงได้จัดทำร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. …. ขึ้น โดยมีสาระสำคัญเป็นการให้ดำเนินการเลือกสมาชิกวุฒิสภา โดยมีสาระสำคัญเป็นการให้ดำเนินการเลือก สว. และจัดทำร่างแผนการจัดการเลือก สว. ทั้งนี้ ภายใน 5 วันนับตั้งแต่ที่มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือก สว. ใช้บังคับ กกต.จะกำหนดวันเริ่มดำเนินการเพื่อเลือกไม่ช้ากว่า 30 วัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีผลใช้บังคับ ซึ่ง กกต.คาดว่า พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือก สว. จะมีผลใช้บังคับในวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 ประกาศกำหนดวันเลือกและวันรับสมัครในวันที่ 13 พฤษภาคม 2567 กำหนดวันเลือก สว.ระดับอำเภอในวันที่ 9 มิถุนายน 2567 กำหนดวันเลือก สว.ระดับจังหวัดในวันที่ 16 มิถุนายน 2567 กำหนดวันเลือก สว. ระดับประเทศในวันที่ 26 มิถุนายน 2567 และกำหนดวันที่จะประกาศผลการเลือกสมาชิกวุฒิสภาในวันที่ 2 กรกฎาคม 2567” นายคารม กล่าว
นอกจากนั้นครม.ยังให้ความเห็นชอบการขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการให้ได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา รวมทั้งสิ้น 227,105,500 บาท โดยเป็นค่าใช้จ่ายที่สำนักงาน กกต. ดำเนินการเอง จำนวน 100,949,700 บาท และเป็นค่าใช้จ่ายของหน่วยงานสนับสนุน 5 หน่วยงานจำนวน 126,155,800 บาท
นายคารม กล่าวว่า สำนักงาน กกต.ได้รับจัดสรรงบประมาณในส่วนของค่าใช้จ่ายในการดำเนินการให้ได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาตามร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 เป็นจำนวนเงิน 1,198,866,800 บาท แต่เนื่องจากสำนักงาน กกต.มีค่าใช้จ่ายในภารกิจที่จำเป็นต้องดำเนินการก่อนมีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา เช่น การเผยแพร่ความรู้ รณรงค์ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้สมัคร การเตรียมความพร้อมในเรื่องต่าง ๆ ที่จำเป็นเกี่ยวกับการเลือกสมาชิกวุฒิสภาอีกจำนวน 317,551,300 บาท รวมค่าใช้จ่ายในการดำเนินการให้ได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา จำนวนเงินทั้งสิ้น 1,516,418,100 บาท แต่สำนักงาน กกต.มีเงินนอกงบประมาณคงเหลือเพียง 90,445,800 บาท ซึ่งเมื่อนำมาสมทบกับงบประมาณที่ได้รับจัดสรรในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ยังคงไม่เพียงพอต่อการดำเนินการดังกล่าว โดยยังขาดอยู่อีกจำนวน 227,105,500 บาท ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินการให้ได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาเป็นไปด้วยคามเรียบรอบและมีประสิทธิภาพ คณะกรรมการการเลือกตั้ง จึงขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายการจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 227,105,500 บาท