วันจันทร์, พฤศจิกายน 25, 2024
spot_img
หน้าแรกNEWS“ปริญญา”แนะ“รัฐบาล-ฝ่ายค้าน”ถกทางออกแก้รธน. ชี้ทำประชามติ 2 ครั้งพอ
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“ปริญญา”แนะ“รัฐบาล-ฝ่ายค้าน”ถกทางออกแก้รธน. ชี้ทำประชามติ 2 ครั้งพอ

“ปริญญา” แนะ “รัฐบาล-ฝ่ายค้าน” ถกทางออกแก้รธน. สอนเดินคนละทางสำเร็จยาก ชี้ทำประชามติ 2 ครั้งพอ เชื่อสว.ชุดใหม่เสียงหนุนเพียงพอ ครอบงำไม่ได้เหมือนยุค คสช. หวังเป็นรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายของประชาชน

เมื่อวันที่ 24 เม.ย.67 เวลา 14.30 น.ที่รัฐสภา นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ต้องทำประชามติถึง 3 ครั้ง ว่า เราทราบว่ารัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นฉบับที่มีปัญหามากมาย เพราะร่างขึ้นมาโดยกระบวนการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ตัวผู้ร่างก็มาจากคณะรัฐประหาร และวางกลไกในการสืบทอดอำนาจทำให้ต้องมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง ตนขอเปรียบเทียบกับฉบับปี 2534 ก็ร่างโดยคณะรัฐประหารที่มีชื่อคล้ายกันนั่นคือ รสช. แต่ตอนนี้คือ คสช. ซึ่งตอนนั้นมีการแก้ไขหลายครั้ง ปี 2535 แก้ไขไป 4 มาตรา ปี 2538 แก้เกือบทั้งฉบับ แต่สุดท้ายก็ต้องมาร่างใหม่ เพราะมีที่มาซึ่งไม่เป็นประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญคือเครื่องมือในการอยู่ร่วมกันของประชาชนทั้งประเทศ เห็นต่างหรือเห็นแย้งก็ว่ากันไปตามรัฐธรรมนูญ และทุกคนเสมอภาคกัน แต่รัฐธรรมนูญปี 60 มีที่มาจากการรัฐประหาร แม้ สว.ที่จะหมดวาระก็เป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจ แต่กลไกต่างๆ ที่วางไว้ที่ไม่เป็นประชาธิปไตยยังต้องแก้อีกมาก

นายปริญญา กล่าวต่อว่า ปัญหาของการแก้รัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ผ่านมาแก้ได้ยาก ซึ่งเป็นบทเรียนจากการแก้รัฐธรรมนูญปี 2534 ซึ่งคนร่างคนเดียวกัน คือนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ที่คงไม่อยากให้การแก้รัฐธรรมนูญง่ายเกินไป จึงวางกลไกไว้ว่าถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญต้องใช้เสียง สว. 1 ใน 3 ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ ดังนั้นเมื่อ สว.ชุดปัจจุบันจะหมดวาระลงในวันที่ 10 พ.ค. โอกาสที่จะได้ สว.ชุดใหม่ให้มาเห็นชอบกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย หนทางก็จะเปิดมากขึ้น แต่ข้อที่เป็นอุปสรรคใหญ่เป็นเรื่องของกติกาของศาลรัฐธรรมนูญ ข้อถกเถียงที่ว่าต้องทำประชามติ 2 หรือ 3 ครั้ง เป็นเรื่องที่ศาลไม่รับวินิจฉัยแล้วให้ทำไปเลย ซึ่งรัฐบาลก็แถลงแล้วว่าให้ทำประชามติ 3 ครั้ง ซึ่งความเห็นของตน การทำประชามติครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ไม่จำเป็นต้องถาม 2 ครั้ง เพราะการที่ถามครั้งที่ 1 ครั้งที่ 2 เป็นเรื่องเดียวกัน คือถามครั้งแรกจะให้แก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ เมื่อประชาชนเห็นชอบก็มาเสนอร่าง พอร่างเสร็จก็ต้องถามประชามติอีกเป็นครั้งที่ 2 ว่าจะเอาหรือไม่ โดยที่ยังไม่ได้เริ่มต้นร่างเลย แต่เมื่อรัฐบาลมีแนวทางแบบนี้เราก็ต้องติดตามดูต่อไป

นายปริญญา กล่าวต่ออีกว่า ส่วนที่จะเป็นข้อเห็นต่างกันมากระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกล คือเรื่องของคำถาม เพราะในคำถามมีการถามว่าจะเห็นชอบด้วยหรือไม่กับการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 หมวด 2 ซึ่งเป็นข้อที่ดูแล้วจะมีความเห็นไม่ลงรอยกัน ดังนั้นตนเห็นว่าควรเอาตามกติกาก่อน ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 255 บัญญัติไว้ว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ หรือมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขจะแก้ไขไม่ได้ ซึ่งถือว่ามีขอบเขตอยู่แล้ว ที่ผ่านมาการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เช่น ฉบับ 2540 ก็อยู่ภายใต้หลักการนี้อยู่แล้ว ดังนั้นหากรัฐบาลอยากเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญได้ ควรจะหาหนทางในการพูดคุยกับฝ่ายค้านให้พอจะไปกันได้ เพราะถ้าหากเดินหน้าไปโดยเห็นต่างกันแบบนี้ เดี๋ยวการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไม่ผ่าน จะไม่เริ่มต้นแม้กระทั่งการทำประชามติครั้งแรกด้วยซ้ำไป

“ยกตัวอย่างร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งตอนทำประชามติคือตอนปี 2559 เขายังแยกเป็น 2 คำถามเลย คือเห็นชอบหรือไม่กับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กับเห็นชอบหรือไม่ที่ให้ สว.โหวตเลือกนายกฯ หากจะหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง ก็ควรจะคุยกันให้ออกมาเป็น 2 คำถามได้หรือไม่ ดังนั้นผมขอเสนอว่าพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ซึ่งเคยเป็นฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกันและมีสัญญาประชาคมกับประชาชนไว้ด้วยกันมาว่าจะมาแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ให้เป็นประชาธิปไตย เพราะหากยังเดินหน้าไปโดยยังเห็นต่างกันอยู่ ผมเกรงว่าประชามติจะไม่ผ่าน สุดท้ายการแก้รัฐธรรมนูญก็แก้ไม่เสร็จ และเรื่องนี้ไม่ควรจะเป็นเรื่องของรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน แต่ควรเป็นเรื่องที่ทั้ง 2 ฝ่ายร่วมมือกัน นี่คือสิ่งที่ประชาชนคาดหวังอยากจะเห็น และประชาชนอยากเห็นทั้ง 2 พรรคคุยกัน ซึ่งตอนนี้ดูเหมือนว่าจะเดินหน้าไปข้างเดียว ” นายปริญญา กล่าว

เมื่อถามว่า การตั้งคำถามหากรัฐบาลยืนยันไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 จะทำให้ประชามติมีความเสี่ยงไม่ผ่านได้หรือไม่ นายปริญญา กล่าวว่า เรื่องนี้ควรต้องคุยกันด้วยเหตุและผล อย่าเพิ่งไปตายตัวขนาดนั้น และคิดว่าจะเป็นคำถามแบบไหนก็ต้องคุยกัน

เมื่อถามว่า ใน พ.ร.บ.ประชามติ กำหนดไว้ว่าการทำประชามติจะผ่านต้องมีเสียงเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ์ มองว่าจะเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายปริญญา กล่าวว่า การใช้สิทธิ์เลือกตั้งของประชาชน ล่าสุดคือ 74% ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ซึ่งโอกาสที่จะใช้สิทธิ์ในการทำประชามติก็มีถึงอยู่แล้ว ถ้าทำให้เกิดความเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องมาร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ แต่ถ้ารัฐบาลกับฝ่ายค้านเห็นต่างกัน 50% ก็ถึงยาก อย่าว่าแต่จะได้เสียงกินครึ่งหรือไม่ อย่างไรก็ตามการออกแบบในเรื่องของประชามติโดยหลักแล้ว จะต้องได้เสียงเกินครึ่งของประชาชนที่มาออกเสียง ส่วนจำนวนขั้นต่ำเป็นเท่าไร ตนคิดว่าเป็นเรื่องที่พูดคุยกันได้

“คำถามคือเขาจะคุยกันได้หรือไม่ ซึ่งเราก็หวังว่าจะเกิดการเดินหน้าไปได้ และถ้าจะมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ก็ควรจะเป็นครั้งสุดท้ายเสียที และรัฐธรรมนูญที่จะเป็นครั้งสุดท้ายได้ ต้องเป็นของประชาชนไม่ใช่ของรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ดังนั้นจุดเริ่มต้นสู่ความสำเร็จคือรัฐบาลกับฝ่ายค้านต้องมาคุยและหาทางออกร่วมกันหากเดินหน้าไปอย่างนี้จะสำเร็จได้ยาก” นายปริญญากล่าว

นายปริญญา กล่าวต่อไปว่า แต่ถ้าหากเงื่อนไขค่อนข้างจะสูง ทำให้เกิดปัญหาได้ ซึ่งไม่ใช่ปัญหาที่ตัวคำถาม แต่ปัญหาคือความเห็นต่างระหว่างฝ่ายค้านกับรัฐบาล และจะทำให้การเดินหน้าไปสู่การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ซึ่งนับถึงขณะนี้ก็จะครบ 10 ปีแล้ว ตั้งแต่มีการยึดอำนาจล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ไป แต่ผลพวงของการรัฐประหารยังอยู่กับเรา ดังนั้นการนำพาประเทศกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยปกติอีกครั้ง เป็นเรื่องที่ประชาชนย่อมคาดหวัง ซึ่งความคาดหวังนี้จะไม่สำเร็จหากต่างคนต่างทำ แม้โอกาสที่จะได้เสียงของ สว. สนับสนุน 1 ใน 3 มีโอกาสเปิดกว้าง เพราะมี สว.ชุดใหม่ แต่ระบบของ สว. ก็ไม่ใช่ระบบที่ดี เนื่องจากมีความซับซ้อนมาก และเป็นระบบที่เรียกว่าคนธรรมดา ไม่มีเงินยากที่จะได้เป็น สว. แต่จะไม่มีใครครอบงำเป็นกลุ่มก้อน ได้เหมือน สว.ชุดปัจจุบัน ที่เลือกมาโดย คสช.

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img