“ชัยธวัช”เหน็บแรงนายกฯไม่มีความกล้าหาญทางการเมือง ปฏิเสธคำสั่งแต่งตั้ง “พิชิต”จากผู้มีอำนาจเหนือ ชี้หากศาลรธน.รับคำร้องทั้ง “เศรษฐา-พิชิต”ต้องยุติการทำหน้าที่ทันที
เมื่อวันที่ 19 พ.ค.67นายชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณี 40 สว. ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ถอดถอน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายพิชิต ชื่นบาน รมต.ประจำสำนักนายกฯ ออกจากตำแหน่ง หลังเข้าข่ายขาดคุณสมบัติเป็นรัฐมนตรี ว่า ต้องรอดูว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีการรับพิจารณาหรือไม่ ซึ่งเรื่องคุณสมบัติของรัฐมนตรีมองว่าศาลรัฐธรรมนูญอาจจะรับไว้พิจารณาได้ แต่เรื่องจริยธรรม มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันว่าไม่น่าจะอยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตามไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีอำนาจวินิจฉัย หรือจะรับวินิจฉัยหรือไม่นั้น ความจริงเรื่องคุณสมบัติรัฐมนตรี ในทางการเมืองถือเป็นความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลโดยตรง ซึ่งไม่จำเป็นต้องให้องค์กรอิสระเข้ามาแทรกแซง ควรจะเป็นบรรทัดฐานทางการเมืองที่ควรต้องมี อย่างไรก็ตามการมีรัฐมนตรีที่เคยมีพฤติการณ์ว่า หรือถูกเข้าใจว่า มีพฤติการณ์ติดสินบนผู้พิพากษา ถือว่าเป็นความไม่เหมาะสมอยู่แล้ว ซึ่งตนมองว่าเรื่องนี้ความเป็นจริงไม่ควรต้องถึงมือศาลรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ
“เรื่องนี้สะท้อนว่านายกรัฐมนตรี ไม่มีความกล้าหาญทางจริยธรรมเพียงพอ ไม่มีความกล้าหาญทางการเมือง ผมมองว่านายกรัฐมนตรีทราบว่า รัฐมนตรีที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มีปัญหาในแง่พฤติกรรมที่ผ่านมาอย่างไรและถูกมองว่าไม่เหมาะสมอย่างไร เพียงแต่นายกรัฐมนตรี น่าจะไม่มีความกล้าหาญพอที่จะปฏิเสธคำสั่งให้แต่งตั้งรัฐมนตรีท่านนี้จากผู้มีอำนาจเหนือนายกรัฐมนตรี”นายชัยธวัช กล่าว
หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวต่อว่า หลังจากนี้หากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องทั้ง 2 คนต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่โดยอัตโนมัติ แตกต่างจากกรณีของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ( ป.ป.ช. )ร้องผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในเรื่องการทุจริตต่อศาลฎีกา ซึ่งกรณีของศาลรัฐธรรมนูญสามารถ สามารถใช้ดุลยพินิจออกคำสั่งให้ยุติการปฎิบัติหน้าที่ไปก่อนชั่วคราวจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยได้ อย่างเช่นกรณีของนาย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่อยู่ระหว่างการเสนอที่ประชุมรัฐสภาในการโหวตเลือกให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของรัฐประเทศไทย ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้มีการสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวดังนั้นสังคมต้องพิจารณาว่ากรณีกรณีดังกล่าวนี้คนที่เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ควรจะยุติการปฎิบัติหน้าที่หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นดุลยพินิจของศาลและให้สังคมได้พิจารณาว่ามีมาตรฐานหรือไม่