“ครป.-คุ้มครองผู้บริโภค” บุกยื่นกมธ.เทคโนโลยี วุฒิฯ ชี้ “นพ.สรณ” ขาดคุณสมบัติต้องห้ามเป็นกก.กสทช.ตามพรบ.คลื่นความถี่ ม.8 หลังพบเป็นพนักงานลูกจ้างหน่วยงานภาครัฐ ยังคงเป็นหมอรับจ้างรายชั่วโมง “รพ.รามาฯ” ยันต้องพ้นตำแหน่งสรรหาใหม่ทันที ด้าน “สารี”หวั่นเกิดผลกระทบภาคธุรกิจ-ผู้ประกอบการ ด้าน “อนันตพร” ยันกมธ.ไม่เคยมีมติ เผยรุปส่งรายงาน “พรเพชร”วันนี้
วันที่ 28 พ.ค.2567 เวลา 10.30 น.ที่รัฐสภา เครือข่ายคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และสภาผู้บริโภค นำโดยนางลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ ประธานครป. และน.ส.สารี อ๋องสมหวัง : เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค และคณะได้ร่วมกันยื่นหนังสือต่อพล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ สว.ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.)การเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา เพื่อขอให้เปิดเผยรายกงานผลการตรวจสอบคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของนพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ รักษาการประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือกสทช.
โดยนางลัดดาวัลย์ กล่าวว่า ต้องการให้ทางกมธ.พิจารณาว่านพ.สรณ มีความเหมาะสม มีลักษณะต้องห้ามตามที่ปรากฎเป็นข่าวอย่างไร ตามที่กมธ.ได้มีมติตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม นพ.สรณ เพราะพบว่านพ.สรณ มีสถานะเป็นพนักงานและลูกจ้างทำหน้าที่ตรวจสอบและรักษาคนไข้ของคณะแพทย์ศาสตร์รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีสถานะเป็นหน่วยงานของรัฐ ถือว่ามีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 8 แห่งพรบ.จัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ปี 2553 และแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งเมื่อนพ.สรณได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2564 แล้ว นพ.สรณ ยังมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 8 พรบ.จัดสรรคลื่นความถี่ ดังนั้นต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 18 พรบ.จัดสรรคลื่นความถี่ฯ ซึ่งต้องกำหนดหลักฐานว่าได้ลาออก หรือเลิกประกอบอาชีพ และวิชาชีพดังกล่าวต่อประธานวุฒิสภา ภายในวันที่ 10 ม.ค.2565 ก่อนที่นายกฯจะนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นกรรมการกสทช. หรือไม่
นางลัดดาวัลย์ กล่าวต่อว่า โดยพบว่ามีสถานะเป็นพนักงานลูกจ้าง ยังได้รักษาและตรวจคนไข้ของโรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับค่าตอบแทนในฐานะแพทย์เป็นรายชั่วโมง ตั้งแต่วันที่ 8-12 เม.ย.2565 โดยไม่พบหลักฐานว่าพ้นจากการเป็นพนักงานลูกจ้างแล้ว แม้นพ.สรณ ได้ยื่นใบลาออกจากรองอธิการบดีแล้ว แต่ยังคงปฏิบัติงานในฐานะลูกจ้างรายชั่วโมง ที่ได้รับค่าตอบแทนจากมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งจากหลักฐานที่ปรากฏจำเป็นที่จะต้องตรวจสอบว่านพ.สรณ ได้มีการแสดงหลักฐานการลาออกจากการเป็นลูกจ้างดังกล่าวต่อประธานวุฒิสภาหรือไม่ หากไม่มีการแสดงหลักฐานถือว่านพ.สรณได้สละสิทธิ์การเป็นกสทช.ไปแล้ว และการที่นพ.สรณ ยังดำรงตำแหน่งเป็นประธานกสทช.จนถึงปัจจุบันถือว่าฝ่าฝืนมาตรา 8 และต้องพ้นจากตำแหน่งกรรมการกสทช.และหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที เพื่อความสง่างาม
ด้านน.ส.สารี กล่าวว่า กรณีนี้เป็นเรื่องที่อาจส่งผลต่อการพิจารณาที่ผ่านมา หากเกิดเหตุว่าประธาน กสทช. ขาดคุณสมบัติจริง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ และผู้ประกอบการ หากไม่มีความชัดเจน จึงต้องการเห็นข้อสรุปของกรรมาธิการฯที่จะส่งผลต่อกสทช. ซึ่งข้อเท็จจริงทางกสทช.สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากเคยเกิดขึ้นในอดีต โดยกสทช.ขอให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ในกรณีที่พบว่าขาดคุณสมบัติจริง จึงคิดว่าการตรวจสอบตรงนี้และข้อมูลที่ทางกมธ.มีก็จะทำให้มติต่างๆของกสทช.ที่มีการประชุมทุกสัปดาห์อยู่แล้วที่ต้องไปเกี่ยวข้องกับการพิจารณาในเรื่องต่าง ๆทั้งการคุ้มครองผู้บริโภค ใบอนุญาตและการกำกับติดตาม อาจเกิดผลกระทบได้ หากนพ.สรณ ขาดคุณสมบัติและอาจทำให้เป็นปัญหาในทางปฏิบัติได้ จึงอยากให้มีการดำเนินการเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา
ขณะที่พล.อ.อนันตพร กล่าวว่า วันนี้จะเป็นวันสุดท้ายที่กมธ.พิจารณาเสร็จสิ้นก่อนที่จะนำเสนอให้ประธานวุฒิสภาพิจารณาต่อไป ว่าจะเห็นชอบหรือไม่ หรือจะดำเนินการอย่างไร ส่วนจะมีการเปิดเผยรายงานของกมธ
ในตรวจสอบหรือไม่ก็เป็นไปตามกฏหมาย และสิ่งใดที่เป็นไปตามกฎหมายกมธ.ยินดีปฏิบัติตามในจังหวะเวลาที่เหมาะสม ซึ่งที่ผ่านมามีคนเข้าใจผิดกันเยอะว่ากมธ.มีมติออกมาแล้ว ยืนยันว่าไม่เคยมีมติว่าประธาน กสทช. มีความผิดอันใดอันหนึ่งตามที่เป็นข่าว ทั้งนี้คิดว่ากสทช.เป็นองค์กรหนึ่งที่มีความสำคัญและเป็นองค์กรหนึ่งของประเทศไทย มีความเป็นอิสระในการบริหารงานภายใต้กฎหมาย แต่กสทช.ได้คนดีมาเป็นกรรมการก็จะทำให้องค์กรมีความโปร่งใส ดังนั้นทางกมธ.ยินดีที่จะรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณา