“เลขา กกต.” ลั่นผู้สมัคร สว. อย่าโทษ กกต. หลังถูกตัดสิทธิเพราะขาดคุณสมบัติ อ้างไม่รู้เป็นสมาชิกพรรคการเมืองไม่ได้ แนะร้องศาลฎีกาภายใน 3 วัน แจงปรับรูปแบบบัตรเลือก สว.กันพลาดเลือกคนไม่มีสิทธิ อาจทำบัตรเสียทั้งฉบับ ยืนยันสกัดฮั้วได้ ซัดคนตั้งข้อสงสัยอย่าพูดลอยๆ
เมื่อวันที่ 30 พ.ค.67 ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง แถลงหลังมีผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา (สว.) มีลักษณะต้องห้ามในการสมัครเป็น สว. 2,020 คน และพบว่าส่วนใหญ่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองว่าขณะนี้มีผู้สมัคร สว.ที่มีลักษณะดังกล่าวมายื่นร้องต่อ กกต.ซึ่งในข้อเท็จจริงจะต้องไปร้องต่อศาลฎีกาภายใน 3 วัน เรื่องลักษณะต้องห้ามการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง กกต.ได้ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องก่อนการสมัคร ว่าผู้ที่เป็นผู้บริหารพรรคการเมืองต้องพ้นจากตำแหน่งไม่น้อยกว่า 5 ปี ส่วนคนที่เป็นสมาชิกพรรค หากมีหลักฐานว่าได้ยื่นลาออกแล้ว กระทั่งในวันลงสมัครผู้อำนวยการเลือก สว.ก็จะรับสมัครให้อยู่แล้ว
“การพ้นจากการเป็นสมาชิก หากมายื่นลาออกต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองที่สำนักงาน กกต.ก็จะมีผลทันที ที่ผ่านมา เราอนุโลมให้ยื่นลาออกที่สำนักงาน กกต.จังหวัดด้วย แต่ถ้าไปยื่นลาออกกับนายทะเบียนสมาชิกพรรค คือการยื่นที่พรรค ทางพรรคจะต้องกรอกข้อมูลเข้าระบบฐานข้อมูล ซึ่งจะมีการแจ้งให้ กกต.ทราบภายใน 15 วัน การส่งข้อมูลนั้นอาจจะล่าช้า แต่ กกต.ก็ยึดหลักฐานใบลาออก ถ้าผู้สมัครมีหลักฐานดังกล่าวก็จะมีการรับสมัครทุกราย ดังนั้นจะมาโทษกกต.ไม่ได้ เพราะการเป็นสมาชิกพรรค พรรคเป็นผู้กรอกข้อมูลเข้าไปในระบบ และสามารถตรวจสอบได้ ตอนนี้ก็ต้องไปสู้ในชั้นศาลฎีกา” นายแสวง กล่าว
นายแสวง กล่าวว่า ในส่วนของ 2,020 คน ที่ถูกตัดสิทธิจะกระทบกับจำนวนกลุ่มภายในอำเภอ และจะกระทบกับการเลือกไขว้หรือไม่ ตรงนี้ยังต้องตรวจสอบเพิ่มเติม
นายแสวง ยังกล่าวถึงกกต.ออกระเบียบว่าด้วยการเลือก สว.ฉบับที่ 2 พ.ศ.2567 ที่มีการแก้ไขเกี่ยวกับบัตรเลือก สว. ว่าส่วนหนึ่งเกิดจากสำนักงาน ซึ่งทุกการเลือกตั้ง สิ่งที่สำนักงานตระหนักคือทำอย่างไรให้ทุกคะแนนเสียงมีค่าได้อย่างไร และรักษาเจตจำนงค์ของผู้ลงคะแนน การเลือก สว.ครั้งนี้มีลักษณะเฉพาะ ทุกคนเป็นผู้มีสิทธิเลือกและเป็นผู้มีสิทธิได้รับเลือก และในการเลือกไขว้ระดับประเทศ ผู้เลือกจะมีคะแนนเสียงถึง 10 คะแนน และในมาตรา 56 (6) ของ พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง สว.ได้กำหนดรูปแบบบัตรเสียไว้ ว่าถ้าไปเขียนหมายเลขประจำตัวของผู้ไม่มีสิทธิได้รับเลือก จะกลายเป็นบัตรเสียทั้งฉบับ ทั้งๆ ที่ช่องอื่นๆ ในบัตรเดียวกันนี้อาจจะเป็นบัตรดี หลายเลขคนอื่นถูกทั้งหมด
“สมมุติว่าในวันเลือก มีผู้ไม่มารายงานตัว หรือตกรอบในช่วงเช้า ช่วงบ่ายหากมีผู้สมัครไปเขียนหมายเลขผู้ตกรอบลงในบัตร บัตรนั้นจะเสียทั้งฉบับ ที่กฎหมายออกแบบมาเช่นนี้เพื่อป้องกันการฮั้ว สำนักงาน กกต.ก็เห็นว่าทำให้ผู้สมัครเสียประโยชน์ ดังนั้น ถ้ายังคงรูปแบบการออกเสียงในบัตรใบเดียวอาจจะทำให้ผู้สมัครเสียประโยชน์ จึงได้ออกแบบบัตรใหม่โดยคิดว่า ทำอย่างไรให้เสียหายน้อยที่สุด เพื่อให้ทุกคะแนนมีความหมาย และไม่ต้องมีใครเสียคะแนนจากปัญหาที่ไม่ใช่ความผิดเขา และเกิดประโยชน์ต่อผู้ที่มาสังเกตการณ์” นายแสวงกล่าว
เมื่อถามว่า มีผู้กังวลว่า การออกแบบบัตรเลือก สว.ใหม่นี้ จะเป็นการเปิดช่องให้เกิดการฮั้วกันง่ายขึ้น นายแสวง ถามกลับว่า จะทำให้เกิดการฮั้วตรงไหน ไม่ใช่พูดลอยๆ ต้องยกตัวอย่าง ว่าจะทำให้เกิดการฮั้วอย่างไร แต่สำหรับบัตรใหม่นี้ขอยืนยันว่าจะยิ่งทำให้เกิดการฮั้วยาก ส่วนโอกาสที่จะสลับบัตรกัน แล้วหย่อนลงผิดหีบนั้น ก็ไม่มี เพราะเราตั้งแถวแยกเป็นกลุ่มๆ ดังนั้นจะไม่มีโอกาสสลับ การแสดงตัวครั้งแรก คือการตรวจสอบว่า บัตรกับคนตรงกันหรือไม่ จำนวนเท่ากันหรือไม่แล้วค่อยนับ นั่นแสดงถึงความโปร่งใสมากขึ้น ประชาชนหรือผู้สมัครที่อยู่ในนั้น สามารถสังเกตการณ์ได้อย่างละเอียด
เมื่อถามถึงการดูแลความสงบ เรียบร้อยในวันเลือก สว. นายแสวง กล่าวว่า ทางกกต.จะมีเจ้าหน้าที่ 2 ชุดในการดูแล คือ มีชุดรักษาความสงบ และชุดรักษาความปลอดภัย หลายร้อยคน กรณีมีผู้กังวลเรื่องการพกอาวุธเข้าไปในพื้นที่คิดว่า ไม่น่าจะมี โดยเฉพาะผู้สมัคร สว.โทรศัพท์ยังพกเข้าไปไม่ได้ สิ่งที่นำเข้าไปได้มีเพียงใบแนะนำตัวเอง (สว.3) และคู่มือที่ใช้ในการลงคะแนน นอกนั้นเอาอะไรเข้าไปไม่ได้ อาวุธยิ่งไม่ต้องพูดถึง เพราะ สว. กำลังจะเข้าไปรับผิดชอบประเทศ ไม่ควรจะทำอะไรแบบนี้
เมื่อถามถึงกรณีกรรมาธิการการเมือง หรือ ไอลอว์ ที่ขอเข้าไปสังเกตการณ์ ทาง กกต.อนุญาตหรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า ในที่เลือกไม่มีคนเข้าไปได้ ส่วนนอกพื้นที่เลือก สว.ประชาชนทุกคนสามารถสังเกตการณ์ได้ กรรมาธิการฯ และไอลอว์ก็สิทธิ์เท่ากัน
เมื่อถามถึงกรณีมีการโพสต์เฟสบุ๊ค ตั้งข้อสังเหตุผู้สูงอายุไปสมัคร สว.จำนวนมาก เสี่ยงเกิดการฮั้ว มีการตรวจสอบตรงนี้หรือไม่ นายแสวง กล่าวว่า ทางพื้นที่มีการเข้าไปดูและสอบถามเบื้องต้นหลัง จากเห็นว่าผิดสังเกต ซึ่งก็ทำให้ผู้สมัครเกิดความน้อยใจ ตกใจว่า ตัวเขาตั้งใจมาสมัคร แต่กลับถูกสอบแล้วอย่างนั้นหรือ ดังนั้นในส่วนของพื้นที่มีการหาข้อมูลอยู่ แต่อีกมุมหนึ่งก็ถือว่าเขาอยากมีส่วนร่วม อยากเข้ามาเป็นสว. เมื่อผิดสังเกตพนักงานของเราก็ไปบันทึกเหตุการณ์ และสอบถามข้อมูลไว้ก่อน ทั้งนี้พบในหลายพื้นที่