“องครักษ์พิทักษ์ลุงตู่” ดาหน้าแจง โอนอำนาจรมต. 31 พ.ร.บ.ฯ มาให้นายกฯ ไม่ได้รวบอำนาจ-ยึดอำนาจจาก “รมต.” แค่เสริมอำนาจในการสั่งการแก้ปัญหาวิกฤตโควิด-19 ให้รวดเร็วเพื่อช่วยเหลือปชช. ถือเป็นการลดขั้นตอน บริหารสั่งการ อ้าง “รมต.แต่ละคน” ยังมีอำนาจอยู่
เมื่อวันที่ 28 เม.ย.64 นายเสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการบริหารสถานการณ์โควิด-19 และการบริหารจัดการวัคซีนของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่า ขณะนี้นายกฯ และรัฐบาล ได้ทำงานแก้ไขปัญหาได้เป็นอย่างดี แต่เพื่อให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นอีก นายกฯ และครม.จึงได้โอนอำนาจให้นายกฯคุม 31 พ.ร.บ. ในการแก้ไขสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งนายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกรัฐบาล ยืนยันแล้วว่า เป็นการโอนเพียงชั่วคราวเท่านั้น เป็นการเสริมอำนาจ ไม่ใช่เป็นการรวบอำนาจ ขณะที่รัฐมนตรีก็ยังมีอำนาจอยู่ เป็นบางเรื่องที่นายกฯสั่งการได้
นายเสกสกล กล่าวต่อว่า ส่วนการบริหารจัดการวัคซีน ครม.ยังได้อนุมัติงบประมาณ 321 ล้านบาท ในการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมแล้ว ทั้งนี้นายกฯยังมีเป้าหมายให้จัดหาวัคซีนให้ได้ 10-15 ล้านโดสต่อเดือน และนำมาฉีดให้กับประชาชนให้ได้มากที่สุดอย่างน้อยวันละ 3 แสนโดส ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนสบายใจและมั่นใจได้ว่านายกฯจะทำทุกอย่างเพื่อแก้ไขกับสถานการณ์โควิด และจะให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนให้เร็วและครบทุกคน ขณะเดียวกันขอฝ่ายค้านเปิดใจ รับฟัง ถึงการทำงานของนายกฯ บ้าง และพิจารณาก่อนว่านายกฯได้ทำอะไรบ้างแล้ว ไม่ใช่ว่านำทุกประเด็นมาโจมตีกล่าวหานายกฯ และรัฐบาลตลอดเวลา
“ต้องขอขอบคุณพรรคการเมืองและหน่วยงานทุกภาคส่วน รวมถึงภาคเอกชนที่เสียสละร่วมมือร่วมใจช่วยกันแก้ไขปัญหาวิกฤตในครั้งนี้ไปด้วยกัน พร้อมกับรัฐบาล ถ้าทุกฝ่ายมีความตั้งใจจริง ช่วยกันลงมือกระทำ หยุดพูดทำลายกัน หยุดโจมตีตำหนิด่าทอกัน เป็นขวัญกำลังใจให้กันและกันในยามบ้านเมืองต้องการความรักความสามัคคี ความเป็นนำ้หนึ่งใจเดียวกันเช่นนี้ นายกฯและรัฐบาล มั่นใจว่าประเทศไทยต้องชนะและก้าวผ่านวิกฤตไวรัสร้ายนี้ไปได้อย่างแน่นอน”นายเสกสกลกล่าว
ด้านน.ส.ทิพานัน ศิริชนะ อดีตรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กล่าวถึงกรณีที่ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศ เรื่อง การกำหนดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีตามกฎหมายให้เป็นอำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราว ว่า เจตนารมณ์เพื่อให้การแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยโอนอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีมาเป็นของนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราว เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการอนุญาต อนุมัติ สั่งการ บังคับบัญชาหรือช่วยในการป้องกัน แก้ไข ปราบปราม ระงับยับยั้งในสถานการณ์ฉุกเฉินหรือฟื้นฟู ช่วยเหลือประชาชนตามกฎหมาย 31 ฉบับ เช่น พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 พ.ร.บ.ยา 2510 และ พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ 2561 เป็นต้น ซึ่งต้องขอบคุณรัฐมนตรีทุกกระทรวงให้ความร่วมมือมอบความไว้วางใจให้นายกรัฐมนตรี ในยามวิกฤติเช่นนี้ เนื่องจากเล็งเห็นว่าจะเกิดประโยชน์ต่อสถานการณ์มากกว่า
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ประกาศดังกล่าวไม่ใช่เป็นการไปยึดอำนาจจากรัฐมนตรีมา แต่เป็นการเสริมอำนาจให้นายกรัฐมนตรี ให้สามารถสั่งการเฉพาะบางเรื่องได้โดยตรง โดยไม่ต้องผ่านรัฐมนตรีที่เป็นผู้รับผิดชอบกฎหมายแต่ละฉบับ ไม่ได้เป็นการตัดอำนาจรัฐมนตรี แต่เป็นการเสริมให้อำนาจนายกฯสั่งการได้ด้วย ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าว เป็นความมุ่งมั่นรับผิดชอบต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และตั้งใจเกาะติดการแก้ไขปัญหาด้วยลงรายละเอียดให้มีการบูรณาการแบบองค์รวม แทนที่จะสั่งการและบังคับบัญชารัฐมนตรีไปตามที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งอาจทำให้เสียเวลา ไม่ทันการณ์ การโอนอำนาจในครั้งนี้ทำให้นายกฯ สั่งการไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบได้โดยตรง จะทำให้การแก้ไขปัญหามีเอกภาพ เกิดผลเป็นรูปธรรม ใช้เวลารวดเร็วทันเหตุการณ์
“เป็นการทำงานเชิงรุก และมีเป้าหมายที่ชัดเจน ในการเร่งรัดสกัดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ให้ได้อย่างทันการณ์ สะท้อนภาวะผู้นำของพล.อ.ประยุทธ์ที่ลงมือทำมากกว่าพูด แตกต่างจากนักการเมืองบางคนที่เป็นนายกฯโซเชียล ถนัดพูดขายฝันสวยหรูแต่ไม่ยอมลงมือทำ ดีแต่อ้างว่าไม่มีอำนาจรัฐ”น.ส.ทิพานันกล่าว