“ปธ.กมธ.พัฒนาการเมือง” เชื่อมีกระบวนการจ้องล้มกระดานเลือกสว. หลังเกิดประเด็นโพยก๊วนฮั้ว เหน็บคนปล่อยข่าวอย่าพูดลอยๆ ต้องมีหลักฐาน แนะ “กกต.” ทำตามกฎหมาย พบใครใช้เงินจ้าง-จัดตั้งให้ดำเนินคดีเป็นรายบุคคล
เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.67 นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา กล่าวถึงการติดตามกระบวนการเลือกสว. ที่มีประเด็นโพยก๊วนฮั้วเลือก สว. ว่า กรณีดังกล่าวเชื่อว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ฐานะผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงต่อการเลือกสว. จะติดตามผ่านกระบวนการติดตามตรวจสอบ ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ซึ่งตนมองว่าการกล่าวหาไม่ควรกล่าวอ้างแบบลอยๆ แต่ควรมีหลักฐานมาแสดง หรือบุคคลที่อยู่ในการเลือกสว.นั้น ออกมายอมรับเอง อย่างไรก็ดีตนมองว่าประเด็นที่เกิดขึ้นเป็นการพูดโดยไม่มีหลักฐานอาจมีเจตนาที่ทำให้เกิดกระบวนการล้มกระดานการเลือกสว. ซึ่งอาจจะสร้างความเสียหายให้กับประเทศได้ เพราะถึงเวลาต้องเปลี่ยนสว.แล้ว แต่เปลี่ยนไม่ได้ อีกทั้ง รัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติจำกัดวาระของวุฒิสมาชิกไว้ แต่หากประกาศ สว.ใหม่ไม่ได้ คนเก่าอยู่ต่อบ้านเมืองอาจจะวุ่นวายได้
นายเสรี กล่าวด้วยว่า สำหรับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้มีสว. ผ่านการเลือกกันเองและมีการจ่ายเงินค่าสมัคร ดังนั้นใครที่สมัครเข้าไปสู่กระบวนการเพื่อไปเลือก หรือสมัครไปโหวตนั้นตนมองว่าสามารถทำได้โดยไม่ผิดกับรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ยกเว้นพบการกระทำที่มีการใช้เงินว่าจ้าง หรือ ใช้เงินซื้อคะแนนโหวต ซึ่ง กกต.ต้องจัดการกับผู้ที่ทำผิด
“ผมมองว่าที่เปิดประเด็นการฮั้วเลือกสว. หากมีหลักฐานต้องเอาผิด และ กกต.ต้องทำให้เรียบร้อย ส่วนไทม์ไลน์ที่ กกต. วางไว้ว่าจะประกาศสว.ใหม่ ใน 2 ก.ค. นั้น ผมสนับสนุนให้ประกาศไปก่อน หากมีประเด็นต้องตรวจสอบหรือเอาผิด สามารถย้อนหลังได้ เพราะเข้าใจว่ากระบวนการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวต้องใช้เวลาและมีขั้นตอนตามกระบวนการยุติธรรมกว่าจะได้ข้อเท็จจริงปรากฎเป็นข้อยุติ” นายเสรี กล่าว
เมื่อถามว่า มีการผู้ระบุว่า หากการเลือกสว.ส่อทุจริตให้กกต.ระงับการรับรองผลเลือกสว.ไปก่อน และมองว่าหาก กกต.เร่งประกาศไปก่อนอาจจะเป็นการกระทำที่ส่อผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 นายเสรี กล่าวว่า เป็นเจตนาที่ต้องการข่มขู่กกต.แบบรายวัน เพราะตามกฎหมายแล้ว กกต.มีดุลยพินิจ และรัฐธรรมนูญให้สิทธิกกต.ตัดสินใจ ซึ่งตนมองว่าไม่ว่าใครต้องยอมรับในหลักการและกระบวนการที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้
เมื่อถามว่า กมธ.การเมืองฯ จะตรวจสอบเรื่องดังกล่าวหรือไม่ นายเสรี กล่าวว่า กมธ.การเมืองประชุมเท่าที่จำเป็น แต่ไม่ได้ติดตามการเลือกสว. เพราะเขาห้ามให้สว.เข้าไปยุ่งเรื่องดังกล่าว เพราะหากไปยุ่งอาจจะมีประเด็นประโยชน์ทับซ้อนได้
นายเสรี กล่าวด้วยว่า สำหรับกระบวนการเลือกสว.ที่เกิดขึ้นก่อนการลงคะแนนเลือกระดับอำเภอ ส่วนตัวมองว่ามีความโกลาหลพอสมควร โดยเฉพาะกระบวนการตรวจสอบคุณสมบัติ เช่น การเสียสิทธิของผู้สมัครเพราะคุณสมบัติไม่ครบถ้วน บางอำเภอมีผู้สมัครเพียงรายเดียวทำให้เลือกไขว้ไม่ได้ ส่วนประเด็นที่ว่ามีการฮั้วหรือจัดตั้งนั้นหากมีหลักฐานการใช้เงินว่าจ้างสมัครต้องดำเนินคดีเป็นรายบุคคล แต่ไม่ควรล้มกระดานการเลือกสว.ทั้งหมด ซึ่งในกระบวนการล้มกระดานนั้น อาจทำให้บ้านเมืองปั่นป่วนได้ เพราะอาจมีคนที่ชอบและไม่ชอบให้อยู่ยาว