ส่อเลื่อนเลือกสว. จับตากกต.ถกพรุ่งนี้ทางออกปมศาลรธน.รับวินิจฉัย 4 มาตราก.ม.ชี้ดึงดันเดินหน้าได้ไม่คุ้มเสีย เสี่ยงถูกฟ้องโมฆะ-ชดใช้ค่าเสียหาย หากวินิจฉัยขัดรธน.
เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.67 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีกกต.จะมีการประชุมพรุ่งนี้ (7 มิ.ย.) เพื่อหารือในประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัย 4 มาตราของพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.2561 ซึ่งเกี่ยวข้องกับวิธีการเลือกส.ว.ทั้งระดับอำเภอ ระดับจังหวัดและระดับประเทศ ว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา107 หรือไม่ มีรายงานว่ามีความเป็นไปได้ที่สำนักงานกกต.จะเสนอให้กกต.ใช้อำนาจตามมาตรา35 พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว. 2561 ประกาศเลื่อนการเลือกส.ว.ที่ระดับอำเภอกำหนดไว้ในวันที่ 9 มิ.ย.นี้ออกไปก่อน เพื่อรอความชัดเจนการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายจากศาลรัฐธรรมนูญก่อน
ทั้งนี้มีการวิเคราะห์ว่า ประเด็นดังกล่าวมีผู้สมัครส.ว.ร้องทั้งต่อกกต. ผู้ตรวจการแผ่นดิน และฟ้องคดีต่อศาลปกครอง หากกกต.ยังคงยืนยันเดินหน้าจัดการเลือกส.ว.ตามแผนงานเดิมที่วางไว้ ย่อมเสี่ยงต่อความเสียหายที่จะเกิดขึ้นทั้งกับตัวผู้สมัคร และกกต.และอาจนำไปสู่การร้องให้การเลือกส.ว.เป็นโมฆะได้ถ้าศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าการที่ทั้ง4มาตราของกฎหมายดังกล่าวกำหนดวิธีการเลือกว่าผู้สมัครส.ว.จะลงคะแนนเลือกตนเองก็ได้แต่จะลงคะแนนให้บุคคลใดเกิน 1 คะแนนมิได้ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 107 ซึ่งก็จะทำให้กกต.หนีไม่พ้นถูกฟ้องให้ชดใช้ค่าเสียหายเหมือนการเลือกตั้งในอดีต
“ที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยให้การเลือกตั้งส.ส.เป็นโมฆะ สิ่งที่ตามมาคือการฟ้องร้องหาผู้รับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหาย ทั้ง กกต. สำนักงาน หรือเจ้าหน้าที่ต้องสู้คดีกันหลายปี ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นอีก เมื่อขณะนี้ขั้นตอนของการเลือกส.ว.ยังไม่เกิดขึ้น กระบวนการจัดการเลือกก็ยังอยู่ ผู้สมัครก็ยังถือว่าไม่เสียหาย ดังนั้นถ้ากกต.จะมีมติเลื่อนการเลือกส.ว.รอศาลฯวินิจฉัยให้ชัดเจนเสียก่อนก็น่าจะเป็นผลดีกว่า เพราะก็คาดว่าไม่น่าเกิน 2 สัปดาห์นับจากนี้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยเนื่องจากสำนักงานฯได้รับหนังสือแจ้งจากศาลฯตั้งแต่วานนี้แล้ว (5 มิ.ย )และกำลังเร่งทำคำชี้แจงส่งกลับไปอยู่ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุมกกต.ว่าจะเห็นอย่างไร” แหล่งข่าวระบุ
อย่างไรก็ตามสำนักงานฯ ยังจะเสนอต่อกกต.ถึงแนวทางการเลือกส.ว.ต่อไปหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยทั้ง4มาตราไม่ขัดรัฐธรรมนูญว่าในทางปฎิบัติสำนักงานฯสามารถเริ่มกระบวนการเลือกส.ว.ได้ภายใน 7 วันนับแต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย แต่ถ้าศาลฯมีคำวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญก็จะต้องมีการไปแก้ไขพ.ร.ป.ว่าด้วยกันได้มาซึ่งวุฒิสภา 2561 เสียก่อน ซึ่งก็จะใช้เวลานานพอสมควร โดยส.ว.ชุดปัจจุบันจะยังคงรักษาการต่อไป
สำหรับมาตรา 35 พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว.2561 กำหนดว่า กรณีที่มีเหตุจำเป็นอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ เป็นเหตุให้ไม่สามารถจัดการเลือก ระดับอำเภอ ระดับจังหวัดหรือระดับประเทศพร้อมกันทั่วราชอาณาจักรตามวันที่คณะกรรมการประกาศกำหนดตามมาตรา 12 (1) อันมิใช่เป็นกรณีตามมาตรา 34 และคณะกรรมการมีมติด้วยคะแนน
ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของกรรมการทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ (5 เสียง)ว่าการดำเนินการเลือกต่อไปตามกำหนดวันเดิม จะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมหรือเรียบร้อย คณะกรรมการจะประกาศกำหนดวันเลือกใหม่ก็ได้ ในกรณีที่มีเหตุตามวรรคหนึ่งเกิดขึ้นในระหว่างเวลาเปิดการลงคะแนน คณะกรรมการจะสั่งยกเลิก การเลือก และประกาศกำหนดวันเลือกใหม่ก็ได้
ขณะเดียวกันผู้สื่อข่าวรายงานว่าในวันพรุ่งนี้ (7 มิ.ย) ทางสำนักงานกกต.จะจัดงานเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานกกต.ครบรอบ 26 ปีด้วย โดยทางสำนักงานได้มีการแจ้งนัดหมายสื่อมวลชนว่าในเวลา 13.30 น.นายแสวง บุญมี เลขาธิการกกต.จะแถลงผลงาน กกต. ในโอกาสครบรอบ 26 ปีซึ่งคาดว่าก็จะได้มีการชี้แจงถึงผลการประชุมในกรณีดังกล่าวด้วย