เปิด 9 ข้อสู้คดีศาลยุบก้าวไกล “พิธา” ลั่นหนักแน่นช่วยพรรครอดพ้นคดี ชี้กกต.ร้องโดยมิชอบ-ศาลไม่มีอำนาจพิจารณา’ เผย เดาไม่ถูกจะเกิดอะไรกับการเมืองไทยหากถูกยุบ ‘แต่ไม่อยากให้ลงถนน’ เหมือนครั้งยุบอนาคตใหม่ ลั่น ! แก้ ม.112 ไม่ได้มีแค่ก้าวไกลที่พูด
วันที่ 9 มิ.ย. 2567 ที่ทำการพรรคก้าวไกล นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาพรรค แถลงข่าวการต่อสู้คดีที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งร้องให้ยุบพรรคก้าวไกล ต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยเปิดขอต่อสู้ 9 ข้อ ที่เน้นหนักไปในเรื่องที่ กกต. ยื่นร้องศาลฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดระเบียบของ กกต. โดยระบุว่า หากนายทะเบียนพบว่าพรรคการเมืองกระทำผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 ซึ่ง นายทะเบียนพรรคการเมืองจะต้องทำตามระเบียบ กกต. ว่าด้วยการรวบรวม ข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของนายทะเบียนพรรคการเมือง 2566 ข้อที่ 6 ต้องให้โอกาสผู้ถูกร้องทราบถึงข้อกล่าวหาและมีการเปิดเผยพยานหลักฐานในการชี้แจงก่อน ซึ่งพรรคก้าวไกลไม่ได้รับการปฏิบัติในกระบวนการนี้ รวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญเองก็ไม่มีขอบเขตอำนาจในการพิจารณาคดีดังกล่าว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 แต่ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ วิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ
นายพิธา กล่าวต่อว่า คำพิพากษาในคดีเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 ที่กกต. ใช้เป็นเพียงหลักฐานเดียวในการยื่นยุบพรรคครั้งนี้ ไม่มีความผูกพันกับการร้องในคดีล่าสุด เพราะตามทฤษฎีกฎหมายแล้วหากคดีจะมีความผูกพัน จะต้องเป็นข้อหาในเดียวกัน เพราะต่างข้อหาก็ต่างวัตถุประสงค์ของกฎหมาย / อีกทั้งระดับโทษต้องใกล้เคียงกัน ซึ่งยกตัวอย่างโทษของคดีเมื่อเดือนมกราคม คือการให้หยุดการกระทำหาเสียงด้วยการยกเลิก มาตรา 112 แต่ในคดีนี้มีโทษมากสุดถึงการยุบพรรค จึงมีความแตกต่างกันอย่างมหาศาล การยุบพรรค เป็นกระบวนการที่มีได้ แต่ต้อง ใช้อย่างระมัดระวัง มีความอดกลั้น และเป็น เป็นมาตรการสุดท้ายที่จำเป็น เร่งด่วน และไม่มีวิธีอื่นในการแก้ไข ซึ่งไม่ใช่ในคดีดังกล่าวนี้ เพราะ กกต.เอง ก็ยกคำร้องขอยุบพรรคก้าวไกลมาโดยตลอด ทั้งในเรื่องนโยบายหาเสียงเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา การแสดงความคิดเห็นในที่สาธารณะ การเป็นนายประกันของผู้ต้องหาในคดีมาตรา 112 หรือมีผู้ต้องหาในคดีดังกล่าวเป็นสมาชิกพรรคการเมือง / อีกทั้งเห็นว่า หากมีการแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ก็จะยังมีกระบวนการของฝ่ายนิติบัญญัติ ที่สามารถยับยั้งการกระทำดังกล่าวได้
“มั่นใจภายหลังการแถลงข่าวครั้งนี้ ว่าทุกข้อจะมีส่วนช่วยในการสู้คดีที่ กกต. เป็นคนร้อง จะเปรียบเสมือนขั้นบันไดช่วยเหลือ สส 44 คน ที่ยืนยันว่าจะไม่ใช่การล้มล้างการปกครอง ซึ่งกรรมการบริหารพรรคที่อาจถูกตัดสิทธิ์ หากมีคำพิพากษาให้ยุบพรรค มีสามชุด คือ ชุดแรก สมัยที่นายพิธาเป็นหัวหน้าพรรค ชุดที่สองหลังจากที่นายพิธาลาออกจากหัวหน้าพรรค และชุดที่สามที่มีสัดส่วนของกรรมการบริหารพรรคภาคเหนือเพิ่มเข้ามา ซึ่งรับตำแหน่งในเวลาเพียงไม่ถึงหกเดือน ส่วนนี้ผมจึงมองว่าควรมีสัดส่วนในการลงโทษที่เหมาะสม ไม่ควรลากยาวมาถึงกรรมการบริหารพรรคชุดนี้” นายพิธา กล่าว
นายพิธา กล่าวว่า การพิจารณาคดีขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล ตนเคารพในดุลพินิจของศาล ไม่ขอก้าวล่วง หากศาลเห็นด้วยว่าสองคดีต่างกัน ก็ควรเปิดโอกาสให้มีการไต่สวน ซึ่งพรรคก้าวไกล เตรียมผู้เชี่ยวชาญไว้ไต่สวน มากกว่า 10 คน หากถูกยุบ ก็มีการตรียมตัวไว้ทุกสถานการณ์ แต่การเมืองจะเป็นอย่างไร จะคล้ายกับแฟลชม๊อบ ตามที่ผู้สื่อข่าวถามหรือไม่นั้น ตนไม่กล้าคาดเดาเหตุการณ์ที่จะเกิด แต่จากสถานการณ์ทางการเมืองที่เปราะบางเช่นนี้ก็ไม่ทราบว่าจะเกิดผลอะไรทางการเมืองบ้าง แต่ตนไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงถึงขั้นนั้น พร้อมยืนยันว่าสมาชิกพรรคยังเหนียวแน่น เป็นเอกภาพ ปึกแผ่น และเชื่อว่าเป็นงูเห่าคือการฆ่าตัวตายทางการเมือง 100% หลังมีกระแสข่าวว่าจะดึง สส.ง ไปเป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมือง ซึ่งตนก็ไม่ได้ไร้เดียงสาถึงขั้นที่จะไม่รู้ แต่ก็ไม่ได้หูเบาที่จะเชื่อทุกอย่างไปหมด
นายพิธา กล่าวด้วยว่า เรื่องการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ผ่านมาไม่ได้มีเพียงพรรคก้าวไกลที่พูดเรื่องนี้เท่านั้น ในหลายหลายเวทีดีเบตก่อนการเลือกตั้ง ผู้สื่อข่าวหลายคนก็ได้ถามถึงแนวทางเรื่องนโยบายดังกล่าวนี้กับหลากหลายพรรคการเมือง ไม่เว้นแม้กระทั่งผู้ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม หรือนักการเมืองคนอื่นๆที่ได้เสนอแนวทางในการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว
ผู้สื่จอข่าวรายงานว่า ขณะที่ 9 ข้อต่อสู้ที่เปิดออกมา ได้แก่
- ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีขอบเขตอำนาจในการพิจารณาคดีนี้
- กระบวนการยื่นคำร้องของ กกต. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
- คำวินิจฉัยเมื่อ 31 มกราคม 2567 ไม่ผูกพันกับการวินิจฉัยคดีนี้
- การกระทำที่ถูกกล่าวหา ไม่ล้มล้าง ไม่อาจเป็นปฏิปักษ์
- การกระทำตามคำวินิจฉัย เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 ไม่ได้เป็นมติพรรค
- โทษยุบพรรคต้องเป็นมาตรการสุดท้าย เมื่อจำเป็น ฉุกเฉิน ฉับพลัน และไม่มีวิธีแก้ไขอื่น
- ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจตัดสิทธิ์ กก.บห.
- จำนวนปีในการตัดสิทธิทางการเมืองต้องได้สัดส่วนกับความผิด
- การพิจารณาโทษต้องสอดคล้องกับ กก.บห.ในช่วงที่ถูกกล่าวหา