วันพุธ, มิถุนายน 26, 2024
หน้าแรกNEWS"แสวง" แถลงผลเลือกสว.อำเภอทั่วไทย พบพิรุธฝากมือถือแต่หิ้วหูฟัง คาดรู้ผล 10 มิ.ย.
- Advertisment -spot_imgspot_img
spot_imgspot_img

“แสวง” แถลงผลเลือกสว.อำเภอทั่วไทย พบพิรุธฝากมือถือแต่หิ้วหูฟัง คาดรู้ผล 10 มิ.ย.

“แสวง” แถลงเลือกสว.อำเภอทั่วไทย พบพิรุธฝากมือถือแต่หิ้วหูฟัง Bluetooth เข้าพื้นที่ไม่รอดเจ้าหน้าที่ดักจับ เผย รู้ตัวเลขผ่านเข้ารอบจังหวัด 10 มิ.ย. ชี้มีกลุ่มก้อนเลือกที่ปทุมวันยังไม่ผิด ขอสอบก่อนใครจ้าง

วันที่ 9 มิ.ย.2567 เวลา 16.00 น. นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง แถลงข่าวภายหลังจัดเลือก สมาชิกวุฒิสภาระดับอำเภอ ว่า ขณะนี้การเลือกทยอยปิดการเลือกประมาณ 15:00 น. สถานการณ์ในการเลือกสว.ภาพรวม เป็นไปด้วยความเรียบร้อย เพราะได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายด้วยดี จะมีปัญหาอยู่บ้างเช่น 1. ผู้สมัคร มารายงานตัวไม่ทันตามกำหนดเวลา 9:00 น. มีจำนวนหนึ่งซึ่งไม่มากนัก 2.กรณีที่ไม่อนุญาตให้นำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โทรศัพท์ เข้าไปในพื้นที่เลือกสว. ได้ แต่กลับพบว่ามีการนำหูฟังชนิด Bluetooth ซึ่งสามารถเชื่อมต่อกับโทรศัพท์มือถือได้ จึงมีการร้องทุกข์กล่าวโทษ โดยพบ 1 กรณีในเขตพื้นที่จังหวัดนนทบุรี 3. กรณีมีผู้เจ็บป่วยกะทันหันที่อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี ระหว่างการลงคะแนนรอบที่ 2 ต้องออกนั่งพักนอกพื้นที่เลือก ซึ่งเมื่อแจ้งว่า กรณีออกจากพื้นที่ก็จะเสียสิทธิ์ในการรับเลือก และลงคะแนน ผู้สมัครรายดังกล่าวก็เข้าใจ และ 4. ในพื้นที่กทม.และรับแจ้งว่าไม่มีพื้นที่สังเกตการณ์หรือไม่มีกล้องวงจรปิดหน้าสถานที่เลือก อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบางพื้นที่สถานที่ต่างกันจึงจัดให้สังเกตการณ์ในอีกห้องหนึ่ง และถ่ายทอด ผ่านกล้องวงจรปิดซึ่งทุกพื้นที่มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดให้อยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ว่าสามารถทำได้ในลักษณะใด

นายแสวง กล่าวต่อว่า เมื่อสถานที่เลือกแห่งใดดำเนินการเลือกสวเสร็จสิ้นแล้วผลระดับอำเภอ จะประกาศผลการนับคะแนน หน้าสถานที่เลือกโดยผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุด 3 อันดับแรกของ กลุ่มจะเป็นผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอของกลุ่มนั้น เพื่อเข้าไปรับการเลือกในระดับจังหวัดต่อไป ในวันที่ 10 มิ.ย. ผู้อำนวยการเลือกระดับอำเภอจะส่งบัญชีรายชื่อผู้ได้รับเลือกในวันนี้ให้กับผู้อำนวยการเลือกระดับจังหวัด และปิดประกาศ ณ ที่ว่าการอำเภอและเผยแพร่ในเว็บไซต์สำนักงาน และเว็บไซต์ของสำนักงานกกตตลอดจนแอพพลิเคชั่น Smart Vote และภายใน 3 วันผอ.การเลือกระดับจังหวัดจะจัดทำเอกสารแนะนำข้อมูลผู้สมัครส่งให้แต่ละกลุ่มเพื่อพิจารณาเลือก ซึ่งเป็นลักษณะเดียวกับการเลือกระดับอำเภอ ส่วนกรณีผู้สมัครเห็นว่า การดำเนินการเลือกไม่ชอบด้วยกฎหมาย ของผู้ดำเนินการเลือก ก็ให้ร้อง คัดค้านที่ศาลฎีกาภายใน 3 วัน

“ผมขอขอบคุณผู้สมัครสว.กว่า 40,000 คน ที่ให้ความร่วมมือในการเลือกครั้งนี้ ทั้ง 928 หน่วยเลือกตั้งด้วยดี และขอขอบคุณคณะกรรมการระดับอำเภอ และ ผอ.การเลือกระดับอำเภอ ทั้งสิ้น 6,496 คน 2. คณะกรรมการประจำสถานที่เลือก “กปล.” เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และเจ้าหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย ทั้งสิ้น 67,744 คน 3. ผู้ช่วยเหลือการปฏิบัติงานของผอ.การเลือกระดับอำเภอ 18,560 คน ซึ่งรวมผู้ปฏิบัติงานในการเลือกระดับอำเภอ รวมทั้งสิ้น 92,773 คน ที่ร่วมกันจัดการเลือกสว.ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย”นายแสวง กล่าว และว่ากฎหมายออกแบบให้ได้สมาชิกสว.200 คน ตามกำหนดเวลา โดยไม่มีเหตุจะไปชะงัก โดยขั้นตอนการร้องเรียน หรือการร้องคัดค้าน สองชั้นแรก เป็นเรื่องศาลฎีกาชั้นที่สาม เป็นเรื่องของ กกต.

เมื่อถามถึงผลนับคะแนนพื้นที่ของปทุมวัน มีกลุ่มลักษณะ เหมือนเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน และไม่ได้ใส่คะแนนให้ตัวเอง เข้าข่ายเป็นการฮั้ว หรือไม่ จะตรวจสอบอย่างไร นายแสวง กล่าวว่า เป็นสมมติฐานหนึ่ง เป็นข้อสังเกตนำไปใช้ประโยชน์ ว่า มีการฮั้ว หรือดำเนินการไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือไม่ แต่อยู่ที่ข้อเท็จจริง เหมือนคนสมัครร่วมกันมาใส่เสื้อชุดเดียวกัน ตอนนี้ยังไม่ผิดหรอก แต่มันเหมือนเป็นข้อสมมติฐาน สันนิษฐาน ในการหาข้อเท็จจริงได้ เป็นต้น

เมื่อถามถึงกรณี สว.โพสต์ตั้งข้อสังเกตการเลือกวันนี้ คนตั้งใจไปสมัครเพื่อเลือก ตกรอบกันระนาวเพราะกลุ่มฮั้ว นายแสวง กล่าวว่า ทุกอย่างเป็นข้อสันนิษฐาน เป็นเรื่องความเห็น ระบบกฎหมายในโลกมันใช้ความเห็นลงโทษคนไม่ได้ ต้องข้อเท็จจริงนั้นเข้าองค์ประกอบความผิดตามกฎหมายหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ตอนนี้มีคำร้องประมาณ 22 คำร้อง และสิ่งที่ปรากฏในสื่อด้วย การจะตรวจสอบได้ เรื่องหนึ่งคือศักยภาพในการตรวจสอบ สองคือมีข้อเท็จจริงอย่างที่ว่าหรือไม่ การทำงานของสำนักงานเป็นเรื่องของการสืบสวนสอบสวนไม่ใช่เรื่องของการประชาสัมพันธ์ ในเรื่องลักษณะนี้ มีคนได้คนเสีย มีผลกระทบ เราต้องรอบคอบ คงไม่สามารถนำสำนวนมาพูดหรือเปิดเผยได้

เมื่อถามถึงกรณี จ.นครศรีธรรมราช ที่มีผู้เข้าไปสมัครแล้วยอมรับว่าได้รับการว่าจ้างมาจริง ตรงนี้ดำเนินการถึงขั้นไหนแล้ว นายแสวง กล่าวว่า ตนไม่แน่ใจเขามีคณะกรรมการสืบสวนระดับจังหวัด เขาต้องรวบรวมข้อมูล ว่า ใครจ้างเขา ไม่ใช่ตัวเขารับ แล้วเขาผิดคนเดียว ดังนั้น ต้องสืบให้ได้ก่อนว่าใครคนจ้าง

นายแสวง กล่าวถึงเรื่องรางวัลนำจับสำหรับผู้แจ้งเบาะแสทุจริตเรื่องเลือกสว. ว่า ใช้คำว่าไม่เกิน 1ล้านบาท จะได้เงิน เมื่อคดีไปถึงศาล และศาลตัดสินว่ากระทำผิด ตอนนี้ยังไม่มีใครได้รับเงิน และยังไม่มีใครแจ้ง มีแต่มีคำร้อง โดยถ้าคำร้องมีหลักฐานและเป็นสาระสำคัญในการลงโทษได้ จึงจะได้ค่าเงินรางวัล โดยเงินรางวัลอยู่ในกฎหมาย ไม่ใช่ กกต.ตั้งเอง ซึ่งใช้มาตั้งแต่เลือกตั้งท้องถิ่น และเลือกตั้งสส.

นายแสวง กล่าวถึงความตื่นตัวของประชาชนในการเข้าสังเกตการณ์อยู่ในระดับไหน ว่า คนที่น่าจะตื่นตัวที่สุดคือกลุ่มที่เคลื่อนไหวเพื่อให้การเมืองเราดี เช่น ไอลอว์ เป็นต้น แต่ประชาชนทั่วไปอาจจะสนใจน้อยเพราะไม่มีสิทธิเลือกตั้งแต่ต้น ซึ่งตนประเมิณไม่ถูกว่า ตื่นตัวแค่ไหนอย่างไร คือตัวกฎหมายออกแบบมาอย่างนี้ ก็ต้องตอบว่า เราอยากให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ไม่ว่ารูปแบบไหน แต่กติกาออกแบบมาแบบนี้ มันเลยทำให้ตรงนี้มันขาดหายไป ประชาชนไม่สนใจเท่าที่ควร

“ผมเข้าใจผู้ร่างกฎหมายต้องมีเจตนาดี แต่เมื่อใช้แล้วประชาชนมีส่วนร่วมแค่ไหนอย่างไร ผมว่า ต้องทบทวนภาพใหญ่ มากกว่าที่จะต้องดูเทคนิคทางการปฏิบัติของเรา ที่ไม่มีปัญหาอยู่แล้ว ทั้งนี้ ในวันพรุ่งนี้จะทราบตัวเลขผู้สมัครที่ทะลุเข้าไปในระดับจังหวัด ซึ่งตัวเลขตามตัวกฎหมาย คือ 55,000 คน ถ้าทุกอำเภอมีคนครบทุกกลุ่ม และทุกกลุ่มสมัครเกิน 5 หรือ10 คน จะมีผู้สมัครไปที่จังหวัด 55,000 คน และไปที่ระดับประเทศ 3,080 คน แต่ตอนนี้คนไม่ถึง55,000 คน แล้ว เพราะมันหายระหว่างทาง ต้องดูตัวเลขพรุ่งนี้(10 มิ.ย.) วันนี้ยังประมวลกันอยู่”นายแสวง กล่าว

- Advertisment -spot_img
- Advertisment -spot_imgspot_img

Featured

- Advertisment -spot_img
Advertismentspot_imgspot_img
spot_imgspot_img